มก. ต้อนรับ ดร.ประหยัด นันทศีล นักธรณีวิทยาหนึ่งเดียวของไทย ร่วมสำรวจขั้วโลกใต้กับทีมนักวิจัยประเทศญี่ปุ่น

มก. ต้อนรับ ดร.ประหยัด นันทศีล นักธรณีวิทยาหนึ่งเดียวของไทย ร่วมสำรวจขั้วโลกใต้กับทีมนักวิจัยประเทศญี่ปุ่น อย่างอบอุ่น เผย พบตัวอย่างหินแร่ หินแปร กว่า 200 ตัวอย่าง บ่งชี้ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงานแถลงข่าวต้อนรับและเปิดเผยข้อค้นพบจากการสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของ ดร.ประหยัด นันทศีล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักธรณีวิทยาผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหินแปรที่มีอายุเก่าแก่กว่า 650 ล้านปีในยุคพรีแคมเบรียน หนึ่งเดียวของไทย ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปร่วมทีมสำรวจทวีปแอนตาร์กติก ของประเทศญี่ปุ่นในปี 2559-2560 เพื่อสำรวจธรณีวิทยาทางด้านตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติก โดยมี ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดงานแถลงข่าวและแสดงความยินดีในการปฏิบัติภารกิจบรรลุผลสำเร็จ นับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและคนไทยอย่างยิ่ง ด้าน ศ.ดร.สุภา หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของนักธรณีวิทยาไทย ซึ่งเป็นบุคลากรคนแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เข้าร่วมทีมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกเป็นครั้งแรก พร้อมกับมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีและต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น ท่ามกลางบรรยากาศการต้อนรับของคณาจารย์ บุคลากร นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ และผู้สนใจที่เข้ารับฟังการแถลงข่าวครั้งนี้จนเต็มห้องประชุม 341 ชั้น 3 อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 ดร.ประหยัด นันทศีล เป็นหนึ่งในคณะทำงานโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยไปร่วมวิจัยที่ขั้วโลกใต้กับคณะสำรวจแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเป็นประจำทุกปี โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมสานต่อการเข้าร่วมทีมสำรวจวิจัยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการวิจัย   ขั้วโลกตามพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “หากสามารถสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้เดินทางไปทำงานวิจัยที่ขั้วโลกใต้อย่างสม่ำเสมอก็จะยังประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ” นอกจากนี้ยังวางแผนให้นิสิตระดับปริญญาโท – เอก ด้านธรณีวิทยา ร่วมศึกษาวิจัยตัวอย่างหินที่ค้นพบในครั้งนี้กับทีมสำรวจแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่รองรับนวัตกรรมวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ในอีก 5 ปี ข้างหน้าคาดว่าจะมีงานวิจัยทางด้านธรณีวิทยาของขั้วโลกเกิดขึ้นในประเทศไทยจากตัวอย่างหินที่เก็บมาจากขั้วโลกใต้ครั้งนี้ด้วย

ผลการร่วมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของ ดร.ประหยัด นันทศีล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มก. ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่นรุ่นที่ 58 หรือ 58th Japanese Antarctic Research Expedition (JARE 58) ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 – 22 มีนาคม 2560 ซึ่งการเข้าร่วมสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านการวิจัยขั้วโลกระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย (Asian Forum for Polar Science, AFoPS) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและใน JARE 58 นี้สถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Institute of Polar Research, Japan) หรือ NIPR ได้จัดโปรแกรม AFoPS ทางสาขาธรณีวิทยาภายใต้การนำทีมของ Professor Dr. Yoichi Motoyoshi โดยคัดเลือกนักธรณีวิทยาจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียที่ยังไม่มีสถานีวิจัยขั้วโลกให้เข้าร่วมโปรแกรม AFoPS อันได้แก่ มองโกเลีย อินโดนิเซียและไทย โดยมีเป้าหมายคือการสำรวจหินแปรขั้นสูงที่ปรากฏให้เห็นในหลายๆ พื้นที่ตั้งแต่ Lützow-Holm Bay ถึง Ammundsen Bay ได้แก่ Akebono Rock, Akarui Point, Tenmondai Rock, Skallevikhalsen, Runvågshetta, Langhovde, West Ongul Island และ Mount Riiser-Larsen

ดร.ประหยัด นันทศีล ได้เก็บตัวอย่างหินจำนวนทั้งสิ้น 216 ตัวอย่าง ซึ่งมีน้ำหนักรวมกัน 281 กิโลกรัม สำหรับการวิเคราะห์ตัวอย่างเหล่านี้จะดำเนินการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายวิจัยในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปต่อไป โดย ดร.ประหยัด นันทศีล มีเป้าหมายที่จะสร้างนิสิตระดับปริญญาเอกและปริญญาโทจากการร่วมวิจัยตัวอย่างเหล่านี้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ ตัวอย่างหินทั้งหมดที่ ดร.ประหยัด นันทศีล เก็บมามีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ มีทั้งตัวอย่างที่น่าสนใจในแง่ของธรณีประวัติและเศรษฐธรณี ซึ่งในแง่ของธรณีประวัตินั้นตัวอย่างหินที่ให้ข้อมูลได้ดีต้องเป็นหินที่มีแร่ที่สามารถบันทึกเวลาได้ดีอยู่ร่วมกับแร่ที่สามารถบันทึกสภาวะของการแปรสภาพได้อย่างดี เช่น แร่เซอร์คอน แร่ไบโอไทต์และแร่โมนาไซต์เป็นแร่ที่มีธาตุกัมมันตรังสีในปริมาณที่พอเหมาะต่อการใช้หาอายุของเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาในอดีต ขณะที่แร่อีกหลายชนิดเป็นตัวบันทึกสภาวะอุณหภูมิและความดันขณะเกิดการชนกัน หรือขณะที่หินถูกยกตัวขึ้นมาจากใต้เปลือกโลกถึงผิวโลก เช่น แร่การ์เน็ต แร่ไพรอกซีน แร่แอมฟิโบล แร่ไบโอไทต์ แร่แซฟฟิรีน (sapphirine) และแร่แพลจิโอเคลสเฟลด์สปาร์ เป็นต้น โดยสรุปแล้วเป้าหมายของการวิจัยครั้งนี้คือ การทำความเข้าใจเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตหลายร้อยล้านปีถึงหลายพันล้านปี ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นกี่ครั้งและแต่ละครั้งรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากบูรณาการร่วมกับข้อมูลของสภาพธรณีวิทยาในปัจจุบันแล้วจะทำให้เข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของโลกนี้ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราทุกคนได้ ทั้งนี้การวิจัยทางธรณีวิทยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยหลากหลายสาขาที่ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการศึกษาความเป็นมาในอดีตและสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของแอนตาร์กติกาเพื่อที่จะทำนายแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตในโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และมนุษย์

สำหรับตัวอย่างหินที่มีความน่าสนใจทางเศรษฐกิจคือ ตัวอย่างหินแปรที่เป็นแหล่งกำเนิดของพลอยไพลินและทับทิม จากการสำรวจครั้งนี้พบว่าพลอยเกิดในหินแปรหลากหลายชนิด สันนิษฐานว่าพลอยในหินแปรแต่ละชนิดน่าจะมีรูปแบบและวิวัฒนาการของการเกิดที่แตกต่างกันจึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อให้เข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยตัวอย่างเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางเศรษฐกิจได้ เช่น ช่วยทำให้เข้าใจการเกิดและประเมินศักยภาพของแหล่งพลอยในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักที่ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศไทยได้ เนื่องจากทวีปแอฟริกาและแอนตาร์กติกเคยอยู่ร่วมกันเป็นทวีปเดียวกันมาก่อน ดังนั้น ดร.ประหยัด นันทศีล เชื่อว่าความรู้จากการวิจัยครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการเท่านั้นแต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการให้ความรู้แก่คนไทยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้อันจะก่อให้เกิดความตระหนักและความร่วมมือในการใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตและพัฒนาคุณภาพอัญมณีโลกในอนาคตอีกเช่นกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านการวิจัยขั้วโลกมายาวนาน มีนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 3 ท่าน ได้เข้าร่วมคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่นได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์  และรองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วม JARE 46 และ JARE 51 ตามลำดับ และ ดร. ประหยัด นันทศีล ในครั้งนี้ โดยทั้งสามท่านล้วนเป็นคณะทำงานในโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยไปร่วมวิจัยที่ขั้วโลกใต้กับคณะสำรวจแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเป็นประจำทุกปี และในปี 2559-2560 นี้นอกจาก ดร.ประหยัด นันทศีลที่ไปกับทีม JARE58 แล้วยังมี นักธรณีวิทยาอีก 2 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ฐาสิณีย์ เจริญทิติรัตน์ และรองศาสตราจารย์ ดร.พิษณุพงศ์ กาญจนพยนต์ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ไปร่วมสำรวจกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนตามที่ได้เสนอข่าวก่อนหน้านี้