“พินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี มอบพันธุ์ไม้ให้เครือมติชนนำไปแจกจ่ายให้คนไทยปลูกเพื่อลดโลกร้อน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.63 นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ มอบพันธุ์ไม้ให้เครือมติชนจำนวน 1,950 ต้น ประกอบด้วย ไม้พะยูง 1,000 ต้น ไม้มะเกลือ 200 ต้น ไม้ชิงชัน 150 ต้น ไม้ยางนา 100 ต้น ไม้แดง 100 ต้น ไม้ประดู่แดง 100 ต้น ไม้มะขามป้อม 100 ต้น ไม้ตะเคียนทอง 100 ต้น ไม้ประดู่ลาย 50 ต้น และไม้สะเดา 50 ต้น  

ทีมผู้บริหารมติชน ได้แก่ นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน, นายสุรพล พิทยาสกุล ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน, นายพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และนายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน เป็นตัวแทนรับมอบพันธุ์ไม้ในครั้งนี้

นายพินิจ กล่าวว่า  ปัญหาวิกฤตโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายอย่างหยุดชะงัก หรือปิดตัวไป แต่ภาคเกษตรยังเติบโตไปได้ และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง ปีนี้เรามีวิกฤตหลายเรื่อง ทำให้คนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดี ผมจึงนำกล้าไม้มามอบให้กับเครือมติชนนำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ใช้ปลูกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมต่อไป

“พะยูง”เป็นพันธุ์ไม้ “พระเอก” ที่ตลาดต้องการสูงในขณะนี้เพราะไม้พะยูง มีราคาแพงกว่าไม้สัก ต้นพะยูง 1 ต้น ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 0.95 กิโลกรัม/ปี  ไม้แต่ละชนิดดูซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เท่ากัน หากปีหนึ่งคนไทยเกือบ 70 ล้านคน ปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้นลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 70 ล้านกิโลกรัม ลดอุณหภูมิความร้อนให้กับประเทศไทย เพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ เพราะตลาดโลกยังต้องการเนื้อไม้อีกมาก

ไม้ป่าหลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว หรือใกล้สูญพันธุ์ เช่น ประดู่ลาย ทุกวันนี้ ในประเทศไทยหาต้นพันธุ์ประดู่ลายเกือบไม่ได้ ผมติดต่อกับหน่วยงานกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ให้ช่วยเก็บเมล็ดพันธุ์ และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความดูแลของนายวราวุธ ศิลปอาชา ร่วมกับปลัดกระทรวง อธิบดี และหน่วยงานใน จังหวัดต่างๆเช่น  หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยน้ำพุง จังหวัดสกลนคร  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี ) รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดหนองคาย  และจังหวัดบึงกาฬ  เพาะขยายพันธุ์ประดู่ลายจนประสบความสำเร็จ หลายปีที่ผ่านมา ผมแจกกล้าประดู่ลายให้แก่วัดต่างๆ ทั่วประเทศไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นต้น 

นายพินิจ กล่าวว่า ผมและผู้บริหารมติชนมีแนวคิดตรงกันเรื่องปลูกต้นไม้คืนสู่ธรรมชาติ ผมจึงนำพันธุ์ไม้ป่าที่มีคุณค่าเหล่านี้มอบให้เครือมติชนแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนนำไปปลูก และให้นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านช่วยเผยแพร่ความรู้เรื่องคุณค่าและประโยชน์ของพันธุ์ไม้ป่าเหล่านี้ พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนหันมาปลูกต้นไม้ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาโลกร้อน ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

นายพินิจกล่าวว่า นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นหนังสือที่มีคุณค่า นำพาเกษตรกร รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่มีความสนใจด้านเกษตรได้รับความรู้เรื่องการทำเกษตรอย่างครบวงจร หลายปีก่อนสื่อฉบับนี้พูดถึงอินทผลัม ซึ่งคนยังมองไม่เห็นว่าจะออกมาประสบความสำเร็จหรือไม่ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านแนะนำว่านี่เป็นพืชเกษตรตัวใหม่ จนกระทั่งทุกวันนี้ อินทผลัมกลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมปลูกอย่างแพร่หลาย เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มมุสลิมตะวันออกกลางและจีน นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นับเป็นคลังความรู้ด้านเกษตร ช่วยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพด้านเกษตรได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร หรือผู้ที่มีอาชีพอื่นได้มีความรู้ความเข้าใจด้านเกษตรได้เป็นอย่างดี