หนุ่มอุบลราชธานี ทำฟาร์มไก่ต๊อก ไก่งวง สร้างรายได้เดือนละ 5 หมื่น

ไก่ต๊อก เป็นสัตว์ปีกจำพวกไก่ชนิดหนึ่ง หากินตามพื้นดิน อาศัยอยู่ตามป่าโปร่งและทุ่งหญ้า เดิมทีแพร่กระจายพันธุ์ทั่วไปในทวีปแอฟริกา มีลักษณะจะงอยปากสั้นและหนา มีเหนียงสีเทาอมดำห้อยอยู่ที่จะงอยปากล่างแผ่ไปทั้ง 2 ข้างของคาง และมีเหนียงสีขาวประแดงบริเวณใต้ขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ลำตัวป้อม ขนหางสั้น ปลายชี้ลง ขาแข็งแรง อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อเจอศัตรูจะบินขึ้นต้นไม้ คนเรานิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามและเลี้ยงกินเนื้อกินไข่

ไก่งวง เป็นนกประเภทหนึ่งที่บินไม่ได้ พบในสหรัฐอเมริกา จัดอยู่ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา มีปากสั้นเรียวบาง บริเวณหัวบางส่วนและลำคอไม่มีขน มีหนังย่นๆ และตุ่มคล้ายหูด แพนหางชี้ตั้งขึ้น ขายาว ขนตามลำตัวเป็นเงา ในการประกอบอาหาร นิยมยัดไส้หลากหลายชนิด แล้วนำไปปรุงแต่งเป็นอาหาร

ในปัจจุบัน พบว่า ผู้คนนิยมกินเนื้อไก่งวงกันมากขึ้น ทั้งทางยุโรปและแถบเอเชียบ้านเรา ทั้งลาว เวียดนาม รวมทั้งในประเทศไทยของเรา ไก่งวงจึงเป็นสัตว์ปีกเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงอย่างงดงาม เหมือนกับสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ เช่นเดียวกับไก่ต๊อก ที่เมื่อก่อนคนเราจะเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความสวยงาม แต่ต่อมามีผู้นิยมบริโภคเนื้อและไข่ของไก่ต๊อกเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการเลี้ยงไก่ต๊อกเอาไว้เพื่อขายเนื้อและไข่ จนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจไปแล้วเช่นกัน

คุณสงวน ทวีกาฬ หรือ ต้อม กับพ่อพันธุ์ไก่งวง

คุณสงวน ทวีกาฬ หรือ ต้อม หนุ่มโสด วัย 30 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 วทบ. คณะเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อดีตผู้จัดการฟาร์มสุกร บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ตอนนี้ลาออกจากงานประจำ หันมาทำฟาร์มเลี้ยงไก่ต๊อกและไก่งวง ขายสร้างรายได้อย่างงดงาม อยู่ที่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 2 บ้านหนองถาวร ตำบลนาเกษม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี บ้านเกิด โดยตั้งชื่อฟาร์มว่า “ฟาร์มไก่ต๊อก ไก่งวง อุบลราชธานี”

โดยเริ่มเลี้ยงไก่ต๊อกและไก่งวง ในปี 2556 ซึ่งในระยะเริ่มแรก ได้เลี้ยงไก่ต๊อกเพียง 1 คู่ เป็นสายพันธุ์ไก่ต๊อกสีพื้นเมือง ลายจุดขาว นอกจากเลี้ยงไก่ต๊อกและไก่งวง ก็เลี้ยงสัตว์ปีกอื่นๆ ด้วย แต่มีไม่มาก เน้นเลี้ยงพอประมาณ เช่น ห่าน ไก่บ้าน เป็ด ไก่ดำ เป็นต้น และเลี้ยงกระบือด้วย โดยมีคุณพ่อและคุณแม่ช่วยดูแลในช่วงแรกๆ เพราะตอนนั้นตนเองมีงานประจำทำอยู่

คุณต้อม ได้กล่าวถึงการเลี้ยงไก่ต๊อกว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาเลี้ยงไก่ต๊อกอย่างจริงจังคือ ผมสามารถทำตลาดไก่สวยงาม (ไก่ต๊อก) ได้ในปีที่ 2 จากเลี้ยงเพียง 1 คู่ ลองผิดลองถูก จนได้ไก่พ่อแม่พันธุ์เพิ่มขึ้นเป็น 5 คู่ และให้ผลผลิต และจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก ตอนนั้นลูกไก่อายุ 2 เดือน ตัวละ 150 บาท ได้เป็นเงินกว่า 6,000 บาท ซึ่งเทียบกับที่คุณพ่อและคุณแม่เลี้ยงไก่บ้าน แต่ไม่ได้ขายได้ราคาดีแบบนี้ จึงคิดว่าถ้าเลี้ยงเยอะขึ้นคงทำเงินให้ไม่น้อย จึงเริ่มศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง ในปี 2559

พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไก่ดำ

สำหรับการจัดการด้านการเลี้ยง ตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์ จนถึงลูกไก่ที่แข็งแรง เปอร์เซ็นต์สูญเสียน้อย การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์และการพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรง เป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่ออัตราการเพิ่มผลผลิต พ่อแม่พันธุ์สามารถใช้ได้ 2-3 ปี ต้องระวังไม่นำลูกไก่ที่เพาะเก็บไว้เข้าฝูง เพราะจะทำให้เลือดชิด ลูกไก่จะสุขภาพไม่ดี อ่อนแอ ป่วยง่าย จากการผสมของรุ่นพ่อแม่ลูก

ไก่ต๊อกมีหลายสีสัน ในวงการไก่ต๊อกจะเรียกสีต่างๆ เช่น ลายจุดธรรมดา ด่าง ขาว เทาลาเวนเดอร์ ม่วงเข้ม ดำเข้ม ทางฟาร์ม มี 4 สี คือ สีขาว เทาลาเวนเดอร์ ด่าง ลายจุด จะปล่อยให้ผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ลูกไก่แข็งแรง โตไว หลากหลายสีสัน

เลี้ยงปล่อย ภายในบริเวณที่จำกัดพื้นที่ ด้วยการล้อมตาข่าย
อีกมุมหนึ่ง ภายในเล้าไก่ต๊อก

การให้ไข่ของไก่ต๊อก จะให้ไข่ช่วงฤดูกาลแล้ง-ปลายฝน (มีนาคม-ตุลาคม) แล้วแต่สภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ ไก่ต๊อกชอบพื้นที่ป่า ความเขียวชอุ่ม จะไข่ดกมาก สามารถไข่ได้ภายในช่วงฤดูกาลละ 6-8 เดือน ไข่มากกว่า 120-160 ฟอง ต่อแม่ ต่อปี ส่วนระยะการฟักของไข่ไก่ต๊อกคือ 28 วัน (4 สัปดาห์)

ไข่ไก่ต๊อก
อีกส่วนหนึ่ง ของลูกไก่ดำ

การอนุบาลลูกไก่ต๊อก ช่วง 1-3 เดือน เลี้ยงในกรงยกสูง หรืออนุบาลในบ่อปูน กกไฟให้ความอบอุ่น 1-4 สัปดาห์แรก ให้อาหารไก่แรกเกิด โปรตีน 21 เปอร์เซ็นต์ เสริมด้วยหญ้า/ผักใบเขียวสับละเอียด ทำความสะอาดกระปุกน้ำและเปลี่ยนน้ำทุกวัน ช่วง 2-3 เดือน ไม่ต้องกกไปก็ได้ อาหารโปรตีน 14 เปอร์เซ็นต์

ส่วนไก่งวงก็เช่นกัน ทางฟาร์มจะมีทั้งหมด 4 สี ประกอบด้วย พันธุ์อเมริกันบรอนซ์ (American Bronze) จัดเป็นไก่งวงพันธุ์หนัก ขนสีบรอนซ์ปนน้ำตาลดำ ปลายขนสีขาวเล็กน้อย แข้งและนิ้วเท้าสีเทาอ่อนปนชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน น้ำหนักมาตรฐาน ไก่งวงเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 7-13 กิโลกรัม ไก่งวงเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม

ไก่งวง พันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ (Beltsvill Small White) มีขนาดลำตัวปานกลาง และขนาดเล็ก ขนสีขาว หนังสีขาว แข้งและนิ้วเท้าสีชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทา ปริมาณการไข่ ให้ผลผลิตไข่ประมาณ 80 ฟอง ต่อตัว ต่อปี น้ำหนักมาตรฐาน ไก่งวงเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 7-10 กิโลกรัม ไก่งวงเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม

ไก่งวง กำลังกินอาหาร
พ่อแม่พันธุ์ไก่งวง

ไก่งวงพันธุ์ Bourbon Red Turkeys บอร์บอนเรด จะมีลักษณะขนที่เข้ม เงางามซึ่งถูกพัฒนาสายพันธุ์จาก ไก่งวงพันธุ์ Buff ของตุรกี โดยเลือกผสมกับไก่งวงของอเมริกา จนได้พันธุ์ที่มีสีน้ำตาลแดง กลายเป็น Bourbon Red ในที่สุด โดยได้รับการรับรองสายพันธุ์ จาก APA (American Poultry Association) ในปี ค.ศ. 1909 น้ำหนักของไก่ตัวผู้ 8-12 กิโลกรัม ไก่ตัวเมีย 3-4 กิโลกรัม ไก่งวงสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมาก

ไก่งวงพันธุ์ Royal Palm Turkeys รอยัลปาล์ม ไก่งวงพันธุ์นี้เป็นไก่งวงขนาดกลาง ไก่ตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 9-12 กิโลกรัม ไก่ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ขนมีสีดำสลับขาว หนังสีขาว แข้งและเท้าสีชมพู ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ที่หลากหลาย จึงเป็นลักษณะเฉพาะของ Royal Palm
การให้ไข่ของไก่งวง จะให้ไข่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กรกฎาคม สามารถไข่ได้ภายในช่วงฤดูกาลละ 80-120 ฟอง ต่อแม่ ต่อปี แล้วแต่สายพันธุ์ ระยะการฟักของไข่ไก่งวงคือ 28 วัน (4 สัปดาห์) เหมือนไก่ต๊อก

ไข่ไก่งวง
อนุบาลลูกไก่งวง

การอนุบาลลูกไก่งวง เลี้ยงในกรงยกสูง/หรืออนุบาลในบ่อปูน กกไฟให้ความอบอุ่น 1-4 สัปดาห์แรก ให้อาหารไก่แรกเกิด โปรตีน 21 เปอร์เซ็นต์ เสริมด้วยหญ้า/ผักใบเขียวสับละเอียด ทำความสะอาดกระปุกน้ำและเปลี่ยนน้ำทุกวัน ช่วง 2-3 เดือน ไม่ต้องกกไฟก็ได้ อาหารโปรตีน 14 เปอร์เซ็นต์ และขอบอกว่า ไก่งวงจะแพ้ยุงและเป็นโรคฝีดาษได้ง่าย ซึ่งจะมีตุ่มพองขึ้นตามหน้าตา ริมฝีปาก และกินอาหารลำบาก และมีโอกาสติดเชื้อและตายได้ง่าย จะต้องดูแลดีกว่าลูกไก่ต๊อก การป้องกันและรักษาโรคฝีดาษไก่งวงป้องกันด้วยการเลี้ยงคลุมในมุ้งกันยุง เลี้ยงอนุบาลในที่โล่งแจ้ง ไม่มืด การรักษาเมื่อไก่เป็นฝีดาษ คือทาด้วยยาม่วงผสมทิงเจอร์ เช้าเย็น ติดต่อกันจนหายดี แล้วไก่จะสร้างภูมิต้านทานและไม่เป็นโรคนี้อีกเลย

คุณต้อม ได้กล่าวถึงด้านการตลาดว่า “ผมขายทั้งที่หน้าฟาร์มและขายส่งให้ลูกค้าในระบบออนไลน์ ผมเห็นว่า ในโลกปัจจุบันนี้ กระแสของโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์มาแรงมาก ทั้งด้านข่าวสาร ด้านการค้าขาย และอื่นๆ จะกระหึ่มโซเชียล ผมจึงเน้นขายทางออนไลน์ด้วย ซึ่งก็จะมีลูกค้า ทั้งใกล้และไกลจากทุกภาค สั่งซื้อเข้ามา ผมก็จะอาศัยหรือยึดความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า สั่งมาก็ส่งไป โดยต้องส่งมอบสินค้าได้ทันเวลา สเปกสินค้าก็ให้ตรงตามที่ลูกค้าสั่ง ทำให้ลูกค้ามีการบอกต่อ สินค้าหรือว่าไก่ของผมก็ได้ขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้หมดปัญหาด้านการตลาด”

ไก่งวง

เมื่อถามถึงรายได้จากการเลี้ยงไก่ต๊อกและไก่งวง คุณต้อม บอกว่า ตนเองขายไก่ทั้งขายสดที่ฟาร์ม และขายออนไลน์ ไก่ต๊อกอายุ 7 เดือน – 1 ปี สีขาว ตัวผู้ 500 บาท ตัวเมีย 1,000 บาท สีลายจุด/อกขาว ตัวผู้ 350 บาท ตัวเมีย 650 บาท ส่วนไก่งวงรุ่น พร้อมผสม สีดำ/ขาว ตัวผู้ขายตัวละ 800-1,000 บาท ตัวเมีย 600 บาท ไม่รวมส่ง และยังมีลูกไก่ต๊อกอายุ 1 เดือน ขายตัวละ 120 บาท ลูกไก่งวง คละสีตัวละ 120 บาท ก็มีครับ

ส่วนรายได้ ที่ผ่านมา ผมจะมียอดขายจากการขายไก่ ประมาณ 40,000-50,000 บาท ต่อเดือน เมื่อหักต้นทุนแล้ว เหลือรับประมาณ 15,000-20,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งถือว่าก็พออยู่ได้ เลี้ยงครอบครัวได้แบบสบายๆ บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ เพราะตนเองอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกับพ่อแม่ ซึ่งอยู่กันเพียง 3 คน ส่วนเป้าหมายในวันข้างหน้า ก็อยากมียอดขายเพิ่มขึ้น ต้องพยายามทำให้ได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของครอบครัว

หากท่านใดต้องการซื้อไก่ต๊อก ไก่งวง จากฟาร์มไก่ต๊อก ไก่งวง อุบลราชธานี ของคุณต้อม ก็สามารถโทรศัพท์สั่งจอง สั่งซื้อได้ที่โทร. (064) 452-9666 หรือจะสั่งซื้อออนไลน์ก็ยินดีให้บริการ หรือจะไปเยี่ยมชมและศึกษาวิธีการเลี้ยงที่ฟาร์มของเขา ก็ยินดีต้อนรับด้วยความเต็มใจ

………………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2563