กรมส่งเสริมสหกรณ์ดันนิคมสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ 10 จังหวัด ผลิตพืชผักปลอดภัยป้อนตลาด สร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มครัวเรือนละ 150,000 บาทต่อปี

กรมส่งเสริมสหกรณ์ยกระดับการผลิตเกษตรอินทรีย์ในนิคมสหกรณ์ทั่วประเทศ เริ่มปีนี้ในสหกรณ์นิคม 15 แห่ง ใน 10 จังหวัด จัดเงินอุดหนุนสร้างโรงเรือนพร้อมระบบน้ำรายละ 35,000 บาท พร้อมจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกษตรอินทรีย์เข้มข้นเพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐาน ตั้งเป้าสร้างเครือข่ายนิคมผักปลอดภัยป้อนในตลาดพื้นที่ สถานที่ราชการ โรงพยาบาลและตลาดโมเดิร์นเทรด หลังทดลองสมาชิกรายได้เพิ่ม 150,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน เสริมสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการสร้างโอกาสทางการตลาดให้มีช่องทางจำหน่าย และสามารถนำความรู้ไปขยายผลต่อได้ จึงได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ในสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ ปี 2563 เพื่อให้นิคมสหกรณ์ส่งเสริมการสร้างอาชีพหารายได้เพิ่มให้กับสมาชิก เหตุที่เลือกพื้นที่นิคมสหกรณ์เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการนี้ เนื่องจากมีเขตดำเนินการชัดเจน สมาชิกส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความร่วมมือ การประสานงาน ถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและมีเจ้าหน้าที่ของนิคมสหกรณ์เข้าไปดูแลคอยให้คำแนะนำได้อย่างสะดวกและใกล้ชิด เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ในอนาคตคือ สร้างเครือข่ายนิคมสหกรณ์ผู้ผลิตผักปลอดภัยและยกระดับเป็นผักอินทรีย์ เพื่อส่งขายตลาดสำคัญในพื้นที่ คือ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ และตลาดโมเดิร์นเทรดที่ต้องการอาหารปลอดภัย

นายอัชฌา สุวรรณนิตย์

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นได้เริ่มส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับสมาชิกสหกรณ์นิคม 15 แห่งในพื้นที่นิคมสหกรณ์ 13 แห่ง 10 จังหวัด โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนเงินอุดหนุนและให้สมาชิกสมทบ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ ในการจัดหาโรงเรือน ขนาด 6×30 เมตร พร้อมระบบน้ำให้แก่เกษตรกรที่เข้าโครงการจำนวน 98 โรง ราคาโรงเรือนละ 50,000 บาท โดยกรมให้เงินอุดหนุนโรงเรือนละ 35,000 บาท และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสมทบอีก 15,000 บาท พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้กระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานและการตลาด โดยได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้ความรู้ศึกษาดูงานแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ตลอดระยะเวลาในการดำเนินการ

“ก่อนหน้านี้ กรมได้เริ่มทำทดลองจุดประกายให้สมาชิกในนิคมสหกรณ์นำร่อง และทดสอบการทำผักปลอดภัย เพื่อดูว่าจะมีตลาดรองรับมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี ไม่เพียงพอจำหน่ายในชุมชน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มประมาณปีละ 150,000 บาท ต่อครัวเรือน ในปีนี้สมาชิกมีความประสงค์อยากจะต่อยอดโครงการดังกล่าว จึงเริ่มโครงการนี้ขึ้น เป็นปีแรก โดยสนับสนุนให้สมาชิกผลิตผักตามความชำนาญของแต่ละราย แต่ให้เริ่มปลูกแบบผักปลอดภัยและพัฒนายกระดับเป็นเกษตรอินทรีย์ จึงได้อุดหนุนเงินสำหรับสร้างโรงเรือนให้ เนื่องจากการปลูกพืชผักในโรงเรือนจะสามารถควบคุมการผลิตและปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งตลาดมีความต้องการ จากนั้นก็คาดหวังว่าในปีต่อไป นิคมสหกรณ์ที่ผลิตพืชผักอินทรีย์จะขยายไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และวางแผนการผลิตให้ตอบสนองความต้องการของตลาดในแง่ของชนิดพืชผัก ปริมาณและคุณภาพ และที่สุดนำไปสู่การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระหว่างนิคมสหกรณ์ร่วมกันเพื่อส่งผลผลิตในพื้นที่ให้กับตลาดในพื้นที่โรงพยาบาล สถานที่ราชการและห้างโมเดิร์นเทรดต่อไปในอนาคต” นายอัชฌา กล่าว