กรมหมอดินเดินหน้าขับเคลื่อนภาคเกษตรตามนโยบาย 4.0

จากนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่าด้วยเรื่อง “การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพื่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน คนไทยมีความอยู่ดีกินดี มีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้” และกำหนดทิศทางการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 12 โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นทางการดำเนินงานระยะ 20 ปี

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model) ในทุกมิติ ทั้งภาคธุรกิจ เกษตร การศึกษา ไปสู่โมเดลใหม่ Thailand 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต เพื่อให้เกิดมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเพื่อพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ สามารถสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งดำเนินการ มีการพิจารณาทบทวนกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่มีการต่อยอด ต้องทบทวนกฎหมายตลอดจนระเบียบปฏิบัติต่างๆ ให้มีความทันสมัย ปรับปรุงการทำงานให้มีความรวดเร็ว เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย จะช่วยเกษตรกรให้ผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรมาเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Smart Farmer มีการบริการจัดการที่ดีมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพื่อขายสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศไทย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากนโยบายการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเน้นการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชน ทำการขับเคลื่อนตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ กรมพัฒนาที่ดินพร้อมดำเนินงานขับเคลื่อนภาคการเกษตรเข้าสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ตามแผน “ยุทธศาสตร์ A4” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรในการที่จะลดต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเกษตร โดยเกษตรกรต้องปรับตัวให้พร้อมกับเกษตร 4.0 จากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ ทำน้อยแต่ได้มาก เนื่องจากกรมมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ ในพื้นที่ทุกจังหวัด สามารถนำองค์ความรู้ที่เป็นผลงานวิจัยวิชาการด้านการพัฒนาที่ดิน ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่มีการทดลอง ทดสอบ วิจัย จนประสบผลสำเร็จ สามารถขยายผลปฏิบัตินำไปใช้ได้จริงในพื้นที่ของเกษตรกร โดยสิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการขับเคลื่อนภาคเกษตร 4.0 คือ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ที่เป็นโครงการการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ให้แก่เกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังมีการใช้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ มาใช้ช่วยเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพดีและช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีหมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดินที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในชุมชนให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.ชนิดต่างๆ ในการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การใช้พืชปุ๋ยสดเพิ่มสะสมปริมาณอินทรียวัตถุในพื้นที่การเกษตร การป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งด้วยการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การดูแลรักษาแหล่งน้ำในไร่นา การปลูกหญ้าแฝกพืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และจะทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรสู่การเป็น Smart Officer การพัฒนาเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer รวมทั้งสร้างต้นแบบเกษตรกรซึ่งเป็นหมอดินอาสาในชุมชนที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรมมีความรู้ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำเกษตรและสามารถนำความรู้มาเผยแพร่ต่อเกษตรกรในพื้นที่

“ได้สั่งการให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดเน้นการทำงานเชิงรุก” โดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยเข้าไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรให้เห็นประโยชน์ของการทำการเกษตรกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ ให้คำแนะนำและแจกจ่ายนวัตกรรมชนิดต่างๆ ของกรม ที่ช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองใช้เองได้จริง เลือกปรับใช้ให้เหมาะสมในการพัฒนาที่ดินในแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรทำการรวมกลุ่มเพื่อให้มีความเข้มแข็ง สามารถทำการผลิตแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้หลักการตลาดนำหน้าการผลิต ต้องผลิตในสิ่งที่ตลาดต้องการและมีปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่เกษตรกรควรยึดไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต คือการน้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักปรัชาเศรษฐกิจพอเพียง มีความขยัน อดทน ในการทำงานในพื้นที่เกษตรกรรม ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยวิชาการจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั่วประเทศ (ศพก. 882 ศูนย์) ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่การเกษตรของตนเองและชุมชน นำมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบาย Thailand 4.0 นั่นเอง

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน