สมาคมวิทยาศาสตร์ จับมือ ม.รามคำแหง เจ้าภาพร่วม จัดประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านวิทยาศาสตร์ 2563

สมาคมวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดประชุม วิชาการนานาชาติทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 46 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2563 ที่หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ที่อาคารวิทยบริการและบริหาร มหาวิทยาลัยรามคำแหง รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา มุสิก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดงานแถลงข่าวร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ งามประเสริฐสิทธิ์ ประธานจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ STT 46 เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงาน “การจัดประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 46” ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2563 ที่หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปลายปีนี้

โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นสมาคมวิชาการที่ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ปีแล้ว กิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกปีคือ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ การนำนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และการให้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และอีกกิจกรรมหนึ่งที่สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีคือ การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

นายกสมาคมฯ กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก เราจำเป็นต้องหาทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ทั่วโลก ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้เร็วขึ้น ในปีนี้จึงได้ยกระดับของการประชุมจากเดิมเพียงแค่ระดับชาติ มาเป็นระดับนานาชาติ เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากได้ จึงได้เรียกการประชุมว่า The 46th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT46)

รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา มุสิก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยในปีนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม จึงมีการพิจารณาตั้งชื่อหัวข้อการประชุมครั้งนี้ว่า “Power of Science to Achieve SDGs” ซึ่งหมายถึง “พลังของวิทยาศาสตร์สู่เป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน” อันเป็นหัวข้อที่สำคัญตรงตามวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ ที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นและยั่งยืน ถึงแม้ว่าเรากำลังเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 ก็ตามที

ในโอกาสนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศ ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานการประชุมเป็นประจำทุกปี และปีนี้ก็เช่นเดียวกันจะทรงเสด็จเปิดงานในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง และทรงประทับรับฟังการบรรยายในพิธีเปิดจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 2 ท่าน ท่านแรกเป็น Plenary Speaker : Professor Dr.John Warner “All fields of Science Addressing The UN Sustainable Development Goals” และทรงรับฟังการบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทย ประจำปี 2563 ครั้งนี้อีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ส่วนการจัดงานในครั้งนี้มีความพิเศษได้รับความร่วมมือจาก Thai Young Scientists Academy (TYSA) ในการจัดเสวนาในลักษณะ Post-congress workshop เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ผ่านบทสนทนาและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นกลางและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่ ในหัวข้อ The Future is Now: Science for SDGs

นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลการประกวด Young Rising Stars of Science Award 2020

สำหรับนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ที่มีผลงานโครงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Senior project) โดดเด่นในแต่ละปี และในงานยังมีนิทรรศการแสดงเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยจากบริษัทต่างๆ อีกมากมาย