“ชาน้ำมัน” น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก มีโอเมก้าสูง 9 ดีต่อสุขภาพ และหัวใจ

ชาน้ำมัน หรือ คาเมลเลีย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1.4-4 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 400-1,300 เมตร มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ ตามบริเวณป่าดิบ ไหล่เขา และริมลำธาร ชาน้ำมันชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ขึ้นได้ทั้งในที่ร่มรำไรและกลางแจ้ง ดอกมีทั้งสีขาวและชมพูสวยงาม ออกดอกระหว่างเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนเมษายน ผลสุกแก่ในเดือนกันยายน ดอกชาน้ำมันเป็นชนิดสมบูรณ์เพศ หรือมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน

จีนรู้จักใช้ประโยชน์จากชาน้ำมันมานานกว่า 1,000 ปี ปัจจุบันแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่มณฑลเหอหนาน และเจียงซี ผลิตน้ำมันได้ประมาณ 500,000 ตัน ต่อปี เมล็ดชาเป็นส่วนให้น้ำมัน คุณลักษณะเด่นของน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดชาน้ำมันจะอุดมไปด้วยวิตามิน เอ บี ดี และอี มีสารโอเมก้า 3, 6 และ 9 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว และมีประโยชน์ต่อร่างกายสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ มีสารซาโปนินช่วยทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น มีจุดเดือดสูงถึง 252 องศาเซลเซียส จึงเหมาะสำหรับใช้ประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง ประการสำคัญมีสารโพลีฟีนอลที่สามารถช่วยลดการอุดตันไขมันในเส้นเลือดได้ดี ทั้งนี้ ชาน้ำมันมีสีใส กลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อผสมกับซอสหรือน้ำสลัดจะไม่ทำให้เสียรสชาติแต่อย่างใด

การปลูกต้นชาน้ำมัน ในประเทศไทย เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือแจ้งมูลนิธิชัยพัฒนาว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีกระแสรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา ทดลองปลูกชาน้ำมันในประเทศไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต

จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนาได้ติดต่อประสานไปยังสถาบันพฤกษศาสตร์แห่งมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรวบรวมพันธุ์ชาน้ำมันสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอนำพันธุ์ชาน้ำมันมาทดลองปลูกในภาคเหนือของไทย เนื่องจากมีอากาศหนาวเย็นคล้ายกับภูมิอากาศของจีนตอนใต้ ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ทางจีนได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์ จำนวน 10 กิโลกรัม และต้นกล้าอีก 61 ต้น และฝ่ายไทยได้นำพันธุ์ชาน้ำมันไปปลูกที่โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ตามพระราชประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกต้นชาน้ำมันทดแทนการปลูกฝิ่นเพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ ขณะเดียวกัน การปลูกต้นชาน้ำมันซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินไม่ให้ดินเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน ชาน้ำมัน หนึ่งในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วย “สร้างป่า สร้างอาชีพ ก่อเกิดน้ำมันเพื่อสุขภาพ”  ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สูงได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ น้ำมันเมล็ดชา ยังเป็นสินค้าขายดีในกลุ่มคนรักสุขภาพด้วย เพราะน้ำมันเมล็ดชาได้ชื่อว่าเป็น “น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก” น้ำมันเมล็ดชาได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหลายสถาบัน อาทิ องค์การอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร และสถาบันอาหาร มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะน้ำมันเมล็ดชามี โอเมก้า 9 (กรดโอเลอิก) เป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว โดยน้ำมันเมล็ดชามีโอเมก้า 9 สูงถึง 81-87% ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ดังนั้น ทางมูลนิธิโรคหัวใจอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ในสินค้าน้ำมันเมล็ดชาภายใต้ตราสินค้าภัทรพัฒน์อีกด้วย

………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 30% ตั้งแต่วันนี้ –  15 ก.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่