ดร.มณเฑียร อินทร์น้อย ปฏิวัติ “อสป.” สู่ผู้นำตลาดกลางสินค้าสัตว์น้ำครบวงจร

องค์การสะพานปลา (อสป.) กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พลิกวิกฤต จาก “ขาดทุน” เป็น “กำไร” เลี้ยงตัวเองได้ พร้อมดูแลชาวประมงพื้นบ้านให้มีอาชีพและรายได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน ดร.มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา วางแผนพลิกกลยุทธ์การตลาดอย่างไร ที่จะช่วยผลักดันให้ “อสป.” กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่สร้างผลกำไรในอนาคต มาฟังคำตอบได้ในฉบับนี้

ดร.มณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา

บทบาทภารกิจ “อสป.”

อสป. จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.จัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 มีภารกิจเป็นส่วนสำคัญของวงจรธุรกิจการค้าสัตว์น้ำ เป็นที่รู้จักของชาวประมงและผู้ประกอบการด้านการประมงมาอย่างยาวนาน อสป.ให้บริการสะพานปลา 4 แห่ง และท่าเทียบเรือ 14 แห่ง กิจการท่าเทียบเรือส่วนใหญ่ของ อสป.ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับระบบขนถ่ายสัตว์น้ำสู่พื้นที่ตลาดสำคัญทั่วทั้งประเทศอย่างสะดวกและรวดเร็ว มีศักยภาพด้านธุรกิจ ส่งเสริมการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ ที่มีราคาเป็นไปตามกลไกตลาด และมีระบบสุขอนามัยได้รับมาตรฐานของกรมประมง มีการตรวจสอบย้อนกลับและรับรองแหล่งที่มา และคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำที่สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค

แต่จุดอ่อนที่ผ่านมาคือ อสป.ประสบปัญหาการขาดทุนสะสม เนื่องจากมีรายรับที่สามารถหาได้อาจไม่สมดุลต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้น ทำให้องค์กรขาดสภาพคล่อง ส่งผลต่อการประกอบการธุรกิจของ อสป. ประการต่อมา ที่ดินส่วนใหญ่ของ อสป.เป็นที่เช่า การใช้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่ยังขาดความชัดเจนและการใช้ประโยชน์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ยังไม่มีประสิทธิผลมากพอ เจ้าหน้าที่ยังขาดประสบการณ์ในการเข้าไปบริหารจัดการและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวข้องยังไม่เอื้อต่อการดำเนินการ ทำให้การพัฒนาพื้นที่มีความล่าช้า นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือประมง มีอายุยาวนาน มีสภาพทรุดโทรม ไม่สามารถนำระบบการบริหารจัดการสุขอนามัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม อสป.ยังมีจุดได้เปรียบเนื่องจากเป็นต้นทางของการขนถ่ายและจำหน่ายสัตว์น้ำจากการทำประมงและการเพาะเลี้ยงของประเทศไทย ศักยภาพด้านระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เปิดโอกาสให้ อปส.สามารถให้บริการชาวประมงในการกระจายสินค้าสัตว์น้ำได้มากและเร็วขึ้น นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือของ อสป.ยังได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของท่าเทียบเรือส่วนมาก ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กระจายตัวอยู่ตลอดแนวชายฝั่งทะเล ในการขนถ่ายสัตว์น้ำ และเป็นโอกาสให้องค์การสะพานปลาผนวกกับกลุ่มจังหวัดได้ อสป.จึงเร่งปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงให้มีสุขอนามัย เป็นท่าเทียบเรือประมงต้นแบบของประเทศ และเพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้จากค่าบริการ

ปรับปรุง “สะพานปลากรุงเทพ”   

คุณประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแลกำกับนโยบายของ อสป. ได้มอบหมายให้เร่งรัดพัฒนาพื้นที่ สะพานปลากรุงเทพ เนื้อที่ 8 ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 58 ตรงข้ามวัดสุทธิวราราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นแหล่งตลาดสัตว์น้ำที่ทันสมัย ถูกสุขลักษณะ และมีมาตรฐานทัดเทียมกับตลาดสัตว์น้ำต่างประเทศ ที่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมเมืองได้ เนื่องจากสะพานปลากรุงเทพอยู่ในจุดศูนย์กลางการค้าและแหล่งท่องเที่ยว สามารถพัฒนาเชิงธุรกิจและสร้างเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่รองรับการท่องเที่ยวในอนาคต

ที่ผ่านมา อสป.ได้สั่งทุบหลายอาคารเช่าของ อสป.ซึ่งมีสภาพเก่าทรุดโทรม เพื่อปรับแลนด์มาร์กใหม่หมด ขณะนี้ มีพื้นที่ว่างประมาณ 1 ไร่ ที่ปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นตลาดสดกลางแจ้งเพื่อเปิดโอกาสให้สหกรณ์ประมงจากทั่วประเทศ หมุนเวียนนำสินค้าสัตว์น้ำประเภทต่างๆ เข้ามาขายในช่วงเวลากลางวัน โดยตลาดสดแห่งนี้ จะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นไป

พัฒนา “อ่างศิลา” ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกของไทย

อสป.ใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท พัฒนาท่าเทียบเรือและตลาดประมงอ่างศิลา เป็น “Fish Marketing Organization” ตลาดปลากลางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของอ่างศิลา ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใน “concept แกะกุ้ง กินปู ดูปลา อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี” โดยจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 นี้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่ชาวประมงและชุมชนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท

อสป.ตั้งใจพัฒนาตลาดแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพมาตรฐาน สด สะอาด ถูกสุขอนามัย ปลอดสารฟอร์มาลิน ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถซื้ออาหารสด และให้ปรุงเป็นสำเร็จรูปพร้อมรับประทานได้เลย มีที่ให้นั่งรับประทาน ตลาดสดแห่งนี้ แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามประเภทการใช้งาน มีทั้งโซนแห้งและโซนเปียก รองรับร้านค้ากว่า 316 แผง นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือมาจอดเทียบท่าขายอาหารทะเลและสินค้าสัตว์น้ำนานาชนิดด้วย เพื่อตอกย้ำความเป็น Fish Marketing Organization

ขณะเดียวกัน อสป.ได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้กับผู้ค้าที่ตลาดอ่างศิลา โดย SME Bank จะผลักดันสนับสนุนเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ค้าด้วย

ปล่อยสินเชื่อแปรรูปสินค้าประมง

อสป.ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านชาวประมง ในลักษณะของ OEM. (Original Equipment Manufacturer) โดย SME Bank เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้กลุ่มแม่บ้านชาวประมง เพื่อนำไปใช้ส่งเสริมอาชีพการแปรรูปสินค้าประมง ภายใต้ “FMO BRAND” อสป.ทำหน้าที่คัดเลือกกลุ่มแม่บ้านเข้าอบรมความรู้เรื่องการแปรรูปสินค้าประมง การดำเนินธุรกิจ การสร้างสินค้าประมง ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มแม่บ้านให้มีคุณภาพมาตรฐานของ “FMO BRAND” อีกด้วย โดยสินค้าดังกล่าว อสป.จะนำไปจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์ต่อไป

อสป.วางแผนเปิดตลาดสินค้าแปรรูป ภายใต้ “FMO BRAND” ในช่วงปลายปีนี้ โดยสินค้านำร่องตัวแรกคือ ปลากุเลาหอมคุณภาพดี จากจังหวัดปัตตานี ใน 2 รูปแบบ คือ ปลาแห้ง ที่พร้อมนำไปปรุงเป็นอาหาร และปลากุเลาที่ทอดเป็นชิ้นลูกเต๋าบรรจุในซองสุญญากาศพร้อมนำไปรับประทานเป็นกับข้าวหรือรับประทานเป็นสแน็ก สินค้าทุกชิ้นถูกใส่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เพื่อเจาะตลาดพรีเมียร์ เหมาะเป็นสินค้าของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่

 เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือ-สะพานปลา 4 แห่ง

นอกจากสะพานปลาอ่างศิลาแล้ว อสป.วางแผนพัฒนาท่าเทียบเรือและสะพานปลาอีกหลายแห่ง ได้แก่

1. สะพานปลาสมุทรปราการ เนื้อที่ 84 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะมุ่งพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมประมงและการท่องเที่ยว

2. ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน เนื้อที่ 3 ไร่เศษ ตั้งอยู่ถนนชมสินธุ์ ตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีแผนพัฒนาให้พื้นที่แห่งนี้เป็นตลาดประมงแบบยั่งยืน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อไป

3. ท่าเทียบเรือปราณบุรี ตั้งอยู่ริมทะเล ในพื้นที่ตำบลปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อสป.มีแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือแห่งนี้ให้เป็นตลาดประมงพื้นบ้านและส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

4. ท่าเทียบเรือภูเก็ต เนื้อที่ 371 ไร่ ตั้งอยู่ถนนศรีสุทัศน์ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต อสป. มีแผนพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงและรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต

……………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 30% ตั้งแต่วันนี้ –  15 ก.ย. 63 เท่านั้น!  คลิกดูรายละเอียดที่นี่