กรมเจรจาฯ เผยยอดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับครึ่งปีแรกสะดุดจากวิกฤติโควิด-19

กรมเจรจาฯ เผยตัวเลขส่งออกไม้ดอกไม้ประดับครึ่งปีแรกปรับตัวลดลง หนุนเร่งพัฒนาพันธุ์ ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ มั่นใจระยะยาว ฟื้นตัวฝ่าวิกฤติโควิด-19และรักษาแชมป์ส่งออกได้แน่นอน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์บริการการละพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2563 เพื่อศึกษาโอกาสการพัฒนาศักยภาพไม้ดอกไม้ประดับ (พิกัดศุลกากร 06) และพืชผัก (พิกัดศุลกากร 07) ของไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับอันดับที่ 3 ของเอเชีย (รองจากจีน และมาเลเซีย) และอันดับที่ 11 ของโลก แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทำให้ยอดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยในช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ปรับตัวลดลง31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไปยังตลาดหลักหดตัว ลดลงเช่น สหรัฐอเมริกา (ส่งออก 8.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 46%) ญี่ปุ่น (ส่งออก 8.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 17%) สหภาพยุโรป (ส่งออก 5.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 40%) และเกาหลีใต้ (ส่งออก 3.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 31%)

อย่างไรก็ตามพบว่า การส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไปยังตลาดอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ลาว (ส่งออก 0.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16%) และเมียนมา (ส่งออก 0.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 45%) โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในตลาดเมียนมา และลาว ได้แก่ ดอกกล้วยไม้ ไม้ประดับ เช่น มอสและไลเคน เป็นต้น จึงใช้โอกาสนี้ลงพื้นที่ พบปะหารือนักวิจัยพัฒนาพันธุ์ และเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นางอรมนกล่าวว่า  แนวโน้มความต้องการไม้ดอกไม้ประดับของตลาดโลกในระยะสั้นยังคงชะลอตัวเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากยังไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้ในหลายประเทศ นอกจากนี้ การจัดประชุม สัมมนา การจัดงานกิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก และความต้องการใช้ไม้ดอกไม้ประดับในการตกแต่งสถานที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ หดตัวตามไปด้วย


อย่างไรก็ตามในระยะยาว เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เชื่อมั่นว่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและกลับมาขยายตลาดได้เพิ่มอีก เนื่องจากข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิอากาศที่ดี รวมทั้งมีเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน  ประกอบกับปัจจุบันนักปรับปรุงพันธุ์ของไทยมีความสามารถพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ ที่มีความสวยงามออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ไทยมีแต้มต่อทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ได้ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร ส่งผลให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับทุกรายการของไทยที่ส่งไปขายในประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ (ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู) ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้วเหลือเพียงอินเดียที่ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้ เช่น ดอกกุหลาบและกิ่งชำ มอสและไลเคน ในอัตราภาษีที่ 5% ดอกกล้วยไม้ในอัตราภาษีที่ 60%

” ช่วงนี้ เป็นโอกาสดีที่นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ของไทย จะเร่งพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ เพราะไม้ดอกไม้ประดับจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าแฟชั่นที่ไม่อยู่นิ่ง จำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆอยู่เสมอให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเจาะตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น และใช้ข้อได้เปรียบทางภาษีเจาะตลาดส่งออกที่ไทยมีความตกลงเอฟทีเออยู่แล้ว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทางกรมฯ เตรียมจัดโครงการนำร่องพาผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไทยไปสำรวจตลาดที่สิงค์โปร์เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศทั้งนี้ ไม้ดอกไม้ประดับของไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ หากได้รับการดูแลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะสร้างจุดแข็งและรักษาตำแหน่งท๊อปเทนผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับในเวทีตลาดโลกได้ไม่ยาก ” นางอรมนกล่าว

เมื่อเปรียบเทียบการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยไปตลาดโลก (ปี 2535) ก่อนมีข้อตกลงเอฟทีเอ กับสถานการณ์ตลาด ปี 2562 พบว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกกล้วยไม้ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกได้เป็นอันดับต้นของโลก ปี2535 ไทยส่งออกกล้วยไม้สู่ตลาดโลกได้ 27.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2562 ไทยส่งออกได้ 69.8  ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นการขยายตัว 152 % โดยตลาดหลักคือ ประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอ  โดยตัวเลขส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนมีเอฟทีเอ เช่น อาเซียน ขยายตัว 11,900% และจีน ขยายตัว 358%

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้สู่ตลาดโลกมูลค่า 132.7  ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ส่วนแบ่งตลาด 22% ของการส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมดของไทย) ญี่ปุ่น (ส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 16) อาเซียน (ส่วนแบ่งตลาด 15%  มีเวียดนาม เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ในอาเซียน) สหภาพยุโรป (ส่วนแบ่งตลาด  14% มีเนเธอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ในสหภาพยุโรป) และ เกาหลีใต้ (ส่วนแบ่งตลาด 6%)   สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ดอกกล้วยไม้ ต้นกล้วยไม้ ไม้ประดับ เป็นต้น