พาณิชย์ลุยสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับเยอรมนี

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-1 เมษายน 2560 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนและแสวงหาโอกาสความร่วมมือในสาขาที่ทั้งสองประเทศมีประโยชน์ร่วมกันตลอดจนสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน (Strategic Partnership) นั้น ได้มีโอกาสหารือกับนายมาเทียส มัคนิก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนี โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์อันดีและยาวนานในทุกมิติของความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และสังคม รวมทั้งเล็งเห็นถึงโอกาสในมิติอื่นๆ ที่จะมีความร่วมมือกันเพิ่มเติม และยินดีที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในสาขาที่เป็นจุดแข็งของทั้งสองประเทศ นอกจากนั้นแล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานยังเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และเป็นจุดหมายแรกของนักลงทุนเยอรมัน พร้อมทั้งย้ำว่ารัฐบาลเยอรมนีให้การสนับสนุนภาคเอกชนของเยอรมนีอย่างเต็มในการพิจารณาขยายการลงทุนในไทยในสาขาที่เยอรมนีมีความชำนาญ อาทิ ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน

ในส่วนของการพบปะหารือกับภาคเอกชน นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีโอกาสพบหารือกับผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุน (GTAI) หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (DIHK) สมาพันธ์ธุรกิจเอเชียแปซิฟิก (Ostasiatischer Verein – OAV) และสหพันธ์ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการ (BGA) โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเยอรมนีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย และลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 4 ใน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ปัจจุบัน มีบริษัทเยอรมันมากกว่า 600 บริษัทเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ บริษัท Siemen บริษัท BMW และบริษัท Continental นอกจากนั้นแล้วยังได้มีการหารือในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนทั้งขาเข้า (Inward) และขาออก (Outward) ซึ่งเยอรมนีเชิญชวนให้ไทยเข้าไปลงทุนในเยอรมนี และสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจระหว่างกันให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นกันมากขึ้น

ในโอกาสนี้ ภาคเอกชนเยอรมันได้แสดงความเชื่อมั่นในนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเยอรมนีเป็นต้นกำเนิดและเป็นผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก และไทยเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆที่นักลงทุนเยอรมันให้ความสนใจพร้อมทั้งยินดีที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจโดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาของเยอรมนีเติมเต็มจุดเด่นของไทยที่เป็นฐานการผลิตสินค้าและแหล่งวัตถุดิบ โดยเฉพาะความร่วมมือในสาขาอาหาร สินค้าเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ซึ่งเยอรมนีแสดงความสนใจ  ที่จะเข้ามาลงทุนและร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้ใช้โอกาสนี้เชิญชวนภาคเอกชนเยอรมนีมาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก รวมทั้ง ศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของภูมิภาค ซึ่งเน้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักลงทุนจากต่างชาติ ทั้งในมิติของการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และสังคมอย่างครบวงจร นอกจากนั้นแล้ว ไทยยังได้พัฒนาระบบศุลกากร ณ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งฝ่ายเยอรมันว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลในโครงการรถไฟรางคู่ จึงได้เชิญชวนให้เยอรมนีเข้ามาประมูลในโครงการดังกล่าวด้วย

ภายหลังจากการหารือกับภาคเอกชนแล้ว คณะฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องนวัตกรรมการเกษตร ณ สถาบันฟราว์นโฮเฟอร์ (Fraunhofer) เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับเยอรมนีที่จะนำพาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยสถาบัน Fraunhofer เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการวิจัยประยุกต์ใช้นวัตกรรมในชีวิตประจำวันในหลายสาขา อาทิ การเกษตร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและการสื่อสาร พลังงาน การขนส่งคมนาคม ซึ่งสถาบันได้ร่วมมือกับ พันธมิตรต่างๆ เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชนในเยอรมนี รวมทั้งประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ บราซิล ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สถาบัน Fraunhofer ได้นำเสนอโครงการ Smart Rural Areas หรือการพัฒนาพื้นที่นอกเมืองอัจฉริยะ ซึ่งสถาบัน Fraunhofer ได้ทดลองในชุมชนชนบทรัฐเวสท์ไฟลซ์ (Westpfalz) และรัฐไรนลานด์ไฟล์ (Rheinland-Pfalz) ในเยอรมนี โดยการนำซอฟต์แวร์ดิจิทอลมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้ ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในท้องถิ่นผ่านอินเตอร์เนตและแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจและทันสมัยเป็นอย่างยิ่ง โดยน่าที่จะมีการนำมาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมของไทยเพื่อให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้เร่งดำเนินการพิจารณาชุมชนเกษตรกรรมที่เหมาะสมและจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่น เพื่อระดมสมองและพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ ตลอดจนแนวทางการดำเนินโครงการและความร่วมมือที่เหมาะสมกับสถาบัน Fraunhofer ต่อไป

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์