เกษตรฯ เผยสถานการณ์ผลิตสับปะรดและแนวทางการบริหารจัดการผลผลิต ปี 2564

นายทวี มาสขาว

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยหลังการประชุมบริหารจัดการผลผลิตสับปะรด ว่า สถานการณ์สับปะรด ปี 2563 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 414,777 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 51,720 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 11.09 ปริมาณผลผลิตมี 1.39 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 285,358 ตัน คิดเป็นร้อยละ 16.99 ผลผลิตต่อไร่ 3,362 กิโลกรัม ลดลง 239 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 6.64 เนื่องจากเกิดภาวะแห้งแล้งทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ผลผลิตต่อไร่จึงลดลง บางส่วนไม่ติดผล ผลเล็ก แคระแกร็น ไม่สามารถใช้สารบังคับการออกผลในช่วงปลายปีได้เต็มที่ โดยราคาสับปะรดโรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 13.07 บาท และสับปะรดบริโภคสดเฉลี่ยอยู่ที่ 13.81 บาท

สำหรับในปี 2564 คาดการณ์เนื้อที่เก็บเกี่ยวมี 487,459 ไร่ เพิ่มขึ้น 72,682 ไร่ หรือร้อยละ 17.52 ผลผลิต 1.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 565,862 ตัน หรือร้อยละ 40.58 และผลผลิตต่อไร่ 4,021 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 659 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 19.60 ส่วนสาเหตุที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการขยายในพื้นที่ปลูกเดิมและเริ่มปลูกในพื้นที่ใหม่สำหรับเกษตรกรรายใหม่ ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน หากมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต มีการบำรุงดูแลดี และไม่ประสบภัยแล้งเหมือนปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรด ตามมติคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 สรุปผลประชุม 4 เรื่องสำคัญ คือ 1) แก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมสับปะรดในการจ่ายค่าจ้างแรงงานต่างด้าว ตามระยะเวลาที่โรงงานสับปะรดเปิดดำเนินการจริง 2) รับทราบสถานการณ์และแผนการดำเนินงานสับปะรด ปี 2563 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ประสงค์จะตรวจรับรองแปลงตามมาตรฐาน GAP มาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจะได้ประสานกรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามขั้นตอนการตรวจรับรองแปลงต่อไป 3) ปรับปรุงยุทธศาสตร์สับปะรด ปี 2560-2569 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ 4) หลักการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดปรับให้สอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยให้หน่วยงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) จัดทำข้อมูลการผลิต ได้แก่ พันธุ์ คุณภาพ ช่วงเวลา ปริมาณ พื้นที่ การบริหารจัดการด้านตลาด ได้แก่ การใช้ในประเทศ ส่งออก และแปรรูป รวมทั้งแผนบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในช่วงปกติโดยให้ปล่อยตามกลไกตลาด และช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เดือนเมษายน-มิถุนายน และช่วงที่ 2 เดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 190,000 ตัน/เดือน ทั้งการกระจายผลผลิต เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า กระตุ้นการบริโภค หรือการนำผลผลิตออกจากตลาดโดยเร็วให้นำไปทำปุ๋ย หรือทำอาหารสัตว์ เป็นต้น โดยที่ คพจ.บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จภายในจังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้ให้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของจังหวัดต่อไป