แนะวิธีปลูกมันสำปะหลัง ให้ผลผลิตสูงสุด และลดต้นทุนทำรุ่นมันสำปะหลัง 30%

“มันสำปะหลัง” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจทำเงินที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 8.9 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 20.9 ล้านตัน ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อันดับ 1 ของโลก มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

แรงจูงใจสำคัญที่เกษตรกรนิยมปลูกพืชชนิดนี้กันอย่างแพร่หลายก็คือ มันสําปะหลัง ปลูกได้ตลอดทั้งปี ทนแล้งได้ดีกว่าพืชอื่น มันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ในแหล่งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่จํากัดเวลาการเก็บเกี่ยว เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีแรงงานพอ และทิ้งไว้ในแปลง รอเก็บผลผลิตออกขายในราคาที่ต้องการได้

ในอดีต เกษตรกรไทยจำนวนมากปลูกมันสำปะหลังแบบให้เทวดาเลี้ยง ทำให้ได้ผลผลิตน้อย คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับแหล่งปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่เป็นกลุ่มดินร่วนปนทราย (ดินชุดโคราช ชุดวาริน ชุดยโสธร ชุดห้วยโป่ง ชุดมาบบอน) และกลุ่มดินทราย (ดินชุดสัตหีบ ชุดพัทยา และชุดน้ำพอง) ซึ่งสภาพดินดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และง่ายต่อการชะล้างพังทลาย หากปลูกมันสําปะหลังต่อเนื่องกันนานๆ หลายฤดู โดยขาดการใส่ปุ๋ยชดเชยการสูญเสียธาตุอาหาร ทําให้ผลผลิตของมันสําปะหลังลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินร่วนปนทราย มีผลผลิตลดลงโดยเฉลี่ยปีละ 300 กิโลกรัม ต่อไร่

แปลงปลูกมันสำปะหลัง

ปลูกมันสำปะหลัง ให้ผลผลิตสูงสุด…ทำได้ไม่ยาก

แม้มันสำปะหลังเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่การเจริญเติบโตและผลผลิตก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนด้วยเช่นกัน ควรปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ กุมภาพันธ์-มีนาคม รองลงมาคือ ช่วงต้นฤดูฝน (เมษายน-พฤษภาคม) และช่วงปลายฤดูฝน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) นอกจากนี้ ควรใส่ใจเลือกพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะกับสภาพดินที่ใช้ปลูก “ดินร่วนเหนียว” เรียกว่าเป็นดินดีสำหรับปลูกมันสำปะหลัง พันธุ์ระยอง 5 และระยอง 72 หากปลูกใน “ดินร่วนทราย” ถือว่าเป็นดินปานกลางถึงเลว ควรเลือกปลูกพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ห้วยบง 60 และ ระยอง 9

อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 90 ห้วยบง 60 และระยอง 9 ในสภาพดินร่วนเหนียว เพราะต้นมันสำปะหลังทั้ง 4 สายพันธุ์ จะเจริญเติบโตในส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินมากกว่าลงหัว ซึ่งลักษณะดังกล่าว ชาวบ้านเรียกกันว่า ขึ้นต้น หรืออาการบ้าต้น บ้าใบ เกินไปนั่นเอง ส่วนพันธุ์ระยอง 7 เหมาะสำหรับปลูกในแหล่งดินร่วนเหนียวและดินร่วนทรายที่มีความชื้นตลอดช่วงของการเจริญเติบโต และไม่ควรปลูกพันธุ์ระยอง 7 ในสภาพดินที่แห้งแล้ง

หากใครอยากปลูกให้ได้ผลผลิตสูงสุด กรมวิชาการเกษตร มีคำแนะนำว่า ควรเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยปลูกปอเทืองหรือถั่วพร้า เป็นปุ๋ยพืชสดแล้วไถกลบ ระหว่างปลูกอย่าละเลยการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสม ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ไร่ละ 100-200 กิโลกรัม ต่อไร่

ก่อนการปลูก เมื่อดินมีความชื้นพอเหมาะ ควรเตรียมดินให้ลึก โดยใช้วิธีไถดะด้วยผาล 3 ก่อน และไถต่อด้วยผาล 7 เพื่อระเบิดหน้าดินให้มีความร่วนซุย เพื่อให้น้ำซึมลงใต้ดิน เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำฝน ความชื้นของดินได้มากขึ้น และช่วยให้พืชสามารถนำน้ำใต้ดินมาใช้เมื่อฤดูแล้ง การเตรียมดินลักษณะนี้ยังช่วยให้ต้นมันสำปะหลังจะลงหัวได้ง่าย หลังจากนั้นยกร่องดินก่อนปลูก

ควรเลือกซื้อมันสำปะหลังพันธุ์ดีจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ ต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรมีอายุ 10-12 เดือน จะให้ความงอกดีที่สุด โดยเลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรง มีตาถี่ ขนาดโตพอสมควร ตัดท่อนปลูกด้วยมีดที่คม เพื่อมิให้ท่อนปลูกช้ำ ยาวไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร ปลูกปักตรงให้ลึก 2 ใน 3 ของความยาวท่อนปลูก ในดินร่วนเหนียว ควรใช้ระยะแถวกว้าง 1.20 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50-1 เมตร และในดินร่วนทราย ควรใช้ระยะแถวแคบ 0.80 เมตร ระยะปลูกตั้งแต่ 0.50-0.80 เมตร

ควรให้น้ำช่วง 2 เดือนแรกของการปลูก และให้น้ำเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว การให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง จะช่วยให้ต้นมันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีปัญหาใบร่วงน้อย ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน

นอกจากนี้ ควรใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นให้ถูกสูตรในระยะเวลาที่เหมาะสม ได้แก่ ปุ๋ยสูตร 15-7-18 หรือ 15-15-15 ในอัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยใส่ปุ๋ยสองข้างลำต้นรัศมีพุ่มใบแล้วกลบ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวเมื่ออายุ 1 เดือน หลังปลูกและต้องใส่ปุ๋ยเคมีในขณะที่ดินมีความชื้นและต้องกลบปุ๋ยด้วย ถ้าไม่กลบปุ๋ยอาจสูญเสียปุ๋ยมากเกิน 50%

มันสำปะหลังใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากปลูกเพื่อสร้างพุ่มใบให้คลุมพื้นที่ระหว่างร่องทั้งหมด ดังนั้น ภายในช่วง 3 เดือนแรก ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตของมันสำปะหลัง ต้องดูแลให้มันสำปะหลังปลอดวัชพืช ถ้าปล่อยให้วัชพืชแข่งขันกับมันสำปะหลัง มันสำปะหลังจะแคระแกร็น มีผลให้ผลผลิตลดลงมาก

วัชพืชส่วนใหญ่ที่พบในแปลงปลูกมันสําปะหลังในไทย ได้แก่ หญ้าตีนติด หญ้าปากควาย หญ้าตีนนก หญ้าขจรจบ บานไม่รู้โรยป่า ผักยาง สาบแร้งสาบกา ฯลฯ เกษตรกรนิยมกำจัดวัชพืช โดยใช้แรงคนทํารุ่น โดยทําครั้งแรกหลังปลูก 1 เดือน และควรทําซ้ำอีกประมาณ 2-3 ครั้ง จนต้นมันสําปะหลังเจริญเติบโต คลุมดินได้แล้ว และไถระหว่างแถวด้วยรถไถเดินตาม การปลูกมันสําปะหลัง พบว่า ค่าแรงในการกําจัดวัชพืชคิดเป็น ร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิตทีเดียว

การเก็บเกี่ยว มันสำปะหลัง ระยะที่เหมาะสมคือ ช่วงอายุ 10-18 เดือน ควรงดเว้นการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงฝนแรก คือตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากมันสำปะหลังแตกใบอ่อนจะให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

รถยกสูงกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยมันสำปะหลัง (เครื่องทำรุ่นมัน) รูปร่างกะทัดรัด ทำงานได้คล่องตัว

ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ง้อสารเคมี

ใช้รถยกสูงกำจัดหญ้า ลดต้นทุนทำรุ่น 30%

ปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตเกษตรและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคกังวลใจแล้ว ยังทำให้เกษตรกรเสียเงินซื้อสารเคมีจากต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน ปี 2560 ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีเกษตร คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเภทสารเคมีเกษตรที่นำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สารกำจัดวัชพืช 75% สารกำจัดแมลง 11% สารป้องกันกำจัดโรคพืช 10% (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร : 2561)

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติแบนสารเคมีการเกษตร พาราควอต (ยาฆ่าหญ้า) และ คลอร์ไพริฟอส (ยาฆ่าแมลง) เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 (วอ. 4) ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย คุณวิชัย โอภานุกุล และ คุณอานนท์ สายคำฟู แห่งสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนารถยกสูงกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยมันสำปะหลัง (เครื่องทำรุ่นมันสำปะหลัง) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คุณวิชัย โอภานุกุล

ปรากฏว่า รถยกสูงขับเคลื่อนด้วยตัวเองสำหรับกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย มีรูปแบบการทำงาน เริ่มจากโรยปุ๋ยตามสูตรที่เกษตรกรกำหนดลงพื้นดิน หลังจากนั้น ผาลจานทำหน้าที่ไถกำจัดวัชพืชและโกยดินกลบปุ๋ย นวัตกรรมชิ้นนี้ สามารถกำจัดวัชพืชพร้อมใส่ปุ๋ยและกลบดิน ในขั้นตอนเดียวกันแล้ว ยังลดต้นทุนการทำรุ่นมันสำปะหลัง 30%

คุณอานนท์ สายคำฟู นักวิชาการของสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวว่า การยกเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าที่มีต้นทุนต่ำส่งผลกระทบต่อชาวไร่มันสำปะหลัง เพราะต้องใช้ในการกำจัดวัชพืช ที่เป็นสาเหตุให้ผลผลิตลดลง จนไม่คุ้มต่อการลงทุน จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ที่ต้องหาเครื่องจักรกลเกษตรมาใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ถูกยกเลิกไป

คุณอานนท์ สายคำฟู

ทีมนักวิจัยได้พัฒนารถยกสูงกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยมันสำปะหลัง (เครื่องทำรุ่นมัน) โดยได้เครื่องต้นแบบ ในปี 2562 ซึ่งรถยกสูงกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยมันสำปะหลัง มีคุณลักษณะทางเทคนิคดังนี้ คือ เครื่องยนต์ดีเซล 24 แรงม้า ขับเคลื่อน 4 ล้อ ถังใส่ปุ๋ย ความจุ 50 กิโลกรัม ผาลจานกำจัดวัชพืช 4 ใบ ล้อรถปรับความกว้างให้เข้ากับร่องมัน ระยะ 80, 100, 110 และ 120 เซนติเมตร ความสูงท้องรถ 120 เซนติเมตร โครงสร้างรถมีความกว้าง 230 เซนติเมตรxยาว 300 เซนติเมตรxสูง 230 เซนติเมตร น้ำหนัก 450 กิโลกรัม โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่  300,000 บาท

เครื่องทำรุ่นมันสำปะหลัง มีท่อนำเม็ดปุ๋ยลงพื้นดิน สามารถปรับอัตราหยอดตามความต้องการของเกษตรกร 30-75 กิโลกรัม ต่อไร่ และที่ปลายท่อมีผาลจาน ติดตั้งทำมุม 40 องศา กับแนวเคลื่อนที่ของรถ ทำหน้าที่เกลี่ยดินกลบเม็ดปุ๋ย พร้อมกำจัดลูกหญ้าหรือวัชพืชไปพร้อมกัน

รถยกสูงกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยมันสำปะหลัง (เครื่องทำรุ่นมัน)

“รถต้นแบบ มีจุดเด่นสำคัญคือ ช่วยประหยัดเงินค่าทำรุ่นมัน 30% โดยไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ขณะเดียวกันลดการสูญเสียปุ๋ย สามารถสร้างและซ่อมแซมง่ายในอู่ท้องถิ่น ผลการทดสอบสามารถทำงานได้เฉลี่ย 3-4 ไร่ ต่อชั่วโมง หรือ 30 ไร่ ต่อวัน ประสิทธิภาพกำจัดวัชพืช 80-90% ใช้น้ำมันดีเซล 1.3-1.5 ลิตร ต่อไร่ โดยใช้แรงงานแค่ 1-2 คน หากมีเกษตรกรสนใจ นำรถยกสูงกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังไปให้บริการรับจ้างในไร่มันสำปะหลังในท้องถิ่น สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาแค่ 1 ปี” คุณอานนท์ กล่าว

รถไถเดินตามกำจัดหญ้า (ซ้าย) รถแทรกเตอร์ยกสูงทำรุ่นมัน (ขวา)
โชว์การทำงานของรถทำรุ่นมันในแปลงปลูก

ทั้งนี้ ผู้สนใจเครื่องจักรกลเกษตรทดแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า สามารถขอแบบแปลน หรือยืมใช้งานฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร บางเขน กทม. โทร. 02-579-2757 ในวันและเวลาราชการ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2563

………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354