สาวธนาคารผันตัวมาเป็นเกษตรกรต้นแบบแหล่งผลิตฝรั่งกิมจู อ.สิงหนคร

คุณสนธิยา ละอองกุล เดิมเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช คุณพ่อเป็นครู เนื่องจากคุณพ่อจบมาทางด้านการเกษตรจึงทำการเกษตรควบคู่กับการเป็นครู เมื่อตอนเด็ก ๆ คุณสนธิยาชอบช่วยคุณพ่อทำสวนผลไม้ จึงคุ้นเคยและซึมซับเรื่องการทำสวนผลไม้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน แต่คุณพ่อส่งคุณสนธิยาเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ จนจบปริญญาตรีคณะบัญชี และได้ทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ

ชีวิตผกผันมาเป็นเกษตรกร

คุณสนธิยา ได้สมรสกับ ร.ต.อ.มนัส ละอองกุล และย้ายติดตามสามีมารับราชการที่จังหวัดสงขลา จึงย้ายติดตามสามีมาอยู่ที่ จ.สงขลา และได้มาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาห้าแยกสะพานติณสูลานนท์ เมื่อมีเวลาว่างจากงานก็กลับไปดูแลสวนที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของเธอ และมีความสุขเมื่อเห็นผลผลิต คุณสนธิยา มีความฝันมาแต่เด็กแล้วว่า ถ้ามีโอกาสจะหาซื้อที่ดินที่ จ.สงขลา ทำการเกษตร

ในปี 2558 คุณสนธิยา เริ่มมองหาที่ดินที่จะเริ่มปูทางไปประกอบอาชีพการเกษตรตามที่หวังไว้ แต่ยังทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ จ.สงขลา เธอซื้อที่ดินที่เป็นที่นาจำนวน 9 ไร่ 2 งาน ที่ ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา เนื่องจากที่ดินที่ซื้อมาเป็นที่นา จึงทดลองปลูกข้าวไปก่อน เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการทำนา ประกอบกับราคาข้าวช่วงนั้นตกต่ำ ปีแรกจึงขาดทุน

ต่อมาในปี 2559 จากแรงบันดาลใจที่ได้จากการศึกษาโครงการทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราชบรมราชชนก จากประสบการณ์ที่ทำนาขาดทุนและเห็นการทำสวนของคุณพ่อที่ปลูกพืชเดี่ยวโดยไม่มีพืชอย่างอื่นเสริม เมื่อประสบปัญหาภัยธรรมชาติหรือผลผลิตล้นตลาด ทำให้ประสบการขาดทุน เธอจึงมีแนวคิดที่จะทำการเกษตรระบบผสมผสานตามศาสตร์พระราชา ต่ในช่วงนั้นยังคงทำงานอยู่ที่ธนาคาร จึงจ้างคนงานเข้ามาทำงานเป็นครั้งคราว

เริ่มเป็นเกษตรกรเต็มตัว

ในปีต่อมา 2560 คุณสนธิยาตัดสินใจลาออกจากธนาคารกรุงเทพ เพื่อจะได้มีเวลามาทำงานอาชีพการเกษตรตามที่ตั้งใจไว้อย่างจริงจัง โดยเน้นในเรื่องการทำการเกษตรแบบผสมผสาน และเน้นเกษตรปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ

คุณสนธิยา เล่าว่า ในปีเดียวกันนี้ เธอได้สมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เพื่อเพิ่มทักษะและหาประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจนจบหลักสูตร ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น (ปวช.) สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์ เพื่อจะนำความรู้มาปรับใช้ในสวนของตนเอง ปัจจุบันได้เข้าร่วมโครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบทที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์

จุดเริ่มต้นทำการเกษตรผสมผสาน

คุณสนธิยา เล่าต่อไปว่า ถึงอย่างไรนาก็ยังต้องทำอยู่ แต่ลดปริมาณพื้นที่ทำนา คงทำแค่พอกินในแต่ละปี ปัจจุบันทำนาแค่สองไร่ ถึงแม้จะทำได้ปีละสองครั้ง แต่เธอทำแค่ครั้งเดียว เพราะหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะปลูกถั่วเขียว ฟักทองและพืชอื่นเป็นพืชหลังนา

จุดเริ่มต้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพราะเรามองดูว่าทุกวันนี้สิ่งที่เราซื้อกินไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้มีความปลอดภัยน้อย ถ้าเราปลูกไว้กินเอง ที่เหลือก็แบ่งปันกันไปหรือนำไปขายให้ชุมชนที่เขาสนใจบริโภคสินค้าปลอดภัยเหมือนที่เราอยากกิน

“มันเป็นความสุข การที่เราทำงานหนักมาตลอดชีวิต แล้วเรามีที่แห่งหนึ่งที่เราสามารถเดินเข้าไปหาความสุขได้ เราต้องสร้างที่แห่งนั้นเมื่อเรายังมีกำลังอยู่ มาทำงานที่เรารัก คิดว่านี่คือความสุขที่แท้จริง”

พื้นที่การเกษตรทั้งหมด 9 ไร่ 2 งาน ได้แบ่งปลูกฝรั่งกิมจู 4 ไร่ ทำนา 2 ไร่ พื้นที่ที่เหลือปลูกไม้ผลอื่น ในร่องสวนก็เลี้ยงปลา ผักปลูกบนแคร่ นอกนั้นปลูกสมุนไพรหลากหลายชนิด โชคดีที่มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ใกล้ๆ จึงขุดร่องน้ำภายในสวนไว้เลี้ยงปลา และสูบน้ำขึ้นมาให้น้ำในสวนโดยใช้ระบบ สปริงเกลอร์

สนใจปลูกฝรั่งกิมจูได้ผลผลิตเร็ว

ครั้งแรกคิดว่าจะปลูกพืชอะไรดีจึงจะมีรายได้เร็วและรายได้ดี คุณสนธิยา เล่าว่า ได้ปรึกษากับเพื่อนบ้านซึ่งย้ายมาจาก จ.ราชบุรี เขาแนะนำให้ปลูกฝรั่งกิมจู โดยให้เหตุผลว่าปลูกแค่ 6 เดือนก็เก็บผลผลิตได้แล้ว นอกจากนั้นการปลูกฝรั่งงานไม่หนักเกินไปสำหรับผู้หญิง

คุณสนธิยา เริ่มศึกษาหาความรู้ในการทำสวนฝรั่งกิมจูอย่างจริงจังแล้วตัดสินใจซื้อกิ่งพันธุ์มาจาก จ.ราชบุรี จำนวยน 700 กิ่งในราคากิ่งละ 25 บาท และคิดว่าจะปลูกฝรั่งเป็นพืชหลักในพื้นที่ประมาณ 4 ไร่

พอย่างเข้าปีที่สอง การปลูกฝรั่งของคุณสนธิยาเริ่มพบปัญหาค่อนข้างรุนแรง คือ โรค แมลงศัตรูพืชและเพลี้ยแป้ง จึงใช้สารกำจัดศัตรูพืชฉีดพ่น แต่เธอไม่สามารถทนกลินของสารเคมีได้ ถึงแม้ว่าผลผลิตจะออกมาอย่างสวยงามก็ตาม จึงมีความคิดว่าต้องเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หันมาทำการเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจังโดยทำการศึกษาหาความรู้จากสื่อออนไลน์

“ตอนนั้นได้มาเข้ากลุ่มเกษตรกรชุมชนรำแดง ได้พบกับนักวิชาการเกษตรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 8 (สวพ.8) จ.สงขลา นักวิชาการได้แนะนำให้ผสมปุ๋ยใช้เอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และแนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้การระบายน้ำและอากาศในดินดีขึ้น”

ในระยะที่ฝรั่งให้ผลผลิต คุณสนธิยาจะห่อฝรั่งกิมจูด้วยถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ ในสวนฝรั่งของคุณสนธิยามีการแยกประเภทของขยะ แยกส่วนที่ทิ้งและกำจัดขยะออกมาเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจนเพื่อมิให้มีการปนเปื้อนหรือปะปนอยู่ในแปลงผลิตพืช

คุณสนธิยาทำการห่อผลผรั่งทุก 2 สัปดาห์หลังดอกบาน ห่อด้วยถุงพลาสติกและหุ้มด้วยกระดาษอีกชั้นหนึ่ง เพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิต หลังจากนั้นหนึ่งเดือนก็เริ่มเก็บผลฝรั่ง โดยเก็บทุกวัน ๆ ละ 20 กก.ขึ้นไป ตามแผนการสั่งซื้อ

หาตลาดเอง

คุณสนธิยา บอกว่า ผลผลิตช่วงแรกยังไม่มาก ส่งขายตามตลาดนัด แรก ๆ ผลผลิตไม่ค่อยสวยราคาไม่ค่อยดี แต่มีคนที่รักสุขภาพซื้อไปกินติดใจรสชาติของฝรั่งกิมจู จึงเริ่มมีลูกค้าประจำ

หลังจากที่ทำให้ผลฝรั่งกิมจูสวยขึ้น จึงตัดสินใจหาลูกค้าโดยมุ่งไปที่กลุ่มรักสุขภาพ เจาะตลาดที่ส่วนราชการและบริษัทเอกชนใน จ.สงขลา โรงเรียน ห้างสรรพสินค้าทั้งในบริเวณใกล้เคียงและในตัวจังหวัดสงขลา

ได้รับการรับรอง GAP จาก สวพ.8

จากการจัดระบบการผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพในสวนของคุณสนธิยา มีการจัดเก็บปุ๋ยเคมี สถานที่เก็บน้ำส้มควันไม้และชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนอุปกรณ์การฉีดพ่น แยกเป็นสัดส่วนอย่างเป็นระบบ

คุณสนธิยา ได้เข้ารวมกลุ่มเกษตรกรชุมชนรำแดง เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบปะกับนักวิชาการเกษตร โดยเฉพาะคุณชัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญของ สวพ.8 สงขลา ได้พานักวิชาการหมุนเวีนมาเยี่ยมเยียนกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านวิชาการเกษตรในเขตรับผิดชอบมาให้ความรู้แก่เกษตรกรเดือนละครั้ง ซึ่งจะมีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกร และเกษตรกรกับนักวิชาการ

คุณสนธิยา นอกจากจะมีอาชีพหลักคือ การปลูกและจำหน่ายฝรั่งกิมจูแล้วเธอยังเป็นเกษตรกรนักวิจัยท้องถิ่นตำบลรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ในโครงการวิจัยและพัฒนาการจัดการผลิตภัณฑ์พืชที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 8 (สวพ.8) จ.สงขลา คุณสนธิยา บอกอีกด้วยว่า การได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรวิจัยการปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การได้ร่วมการวิจัยทำให้ได้มีโอกาสเพิ่มความรู้และประสบการณ์ในการทำการเกษตร นอกจากได้ความรู้ในการจัดการสวนฝรั่งคุณภาพแล้ว ยังได้มีการพัฒนาการปลูกพืชผักแบบยกแคร่ การปลูกพืชในโรงเรือน และได้เข้าไปเป็นเลขานุการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตรพรีเมี่ยมรำแดงที่มีการแปรรูปกล้วยฉาบน้ำตาลโตนด ทำให้ได้ช่วยชุมชน การที่คุณสนธิยาได้ร่วมวิจัยกับ สวพ.8 ทำให้ได้พัฒนาการผลิตพืชจนได้รับรองมาตรฐาน GAP หลายชนิด ทำให้สมาชิกสามารถส่งสินค้าไปขายที่ห้างสรรพสินค้าได้ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรสาขา GAP ดีเด่นระดับภาคใต้ตอนล่าง และรางวัลเกษตรกรไร่นาสวนผสมดีเด่นอันดับ 2 ของภาคใต้จากกรมส่งเสริมการเกษตร

สวนฝรั่งของคุณสนธิยาได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีบุคคลภายนอกมาศึกษาดูงานการทำการเกษตรตามหลักการปฏิบัติการเกษตรดีที่เหมาะสม เธอยินดีที่จะให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาและดูกิจการในสวน และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อเกษตรกรด้วยกัน

ผู้สนใจจะเข้าศึกษาและชมกิจการในสวนของคุณสนธิยา สามารถติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 1/1 หมู่ที่ 3 ต.วัดขนุน อ.สิงหนคร จ.สงขลา โทรศัพท์ 08 1850 4127

……………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 30% ตั้งแต่วันนี้ –  15 ก.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่