ยิ่งใหญ่แห่งปี….งานเกษตรสร้างชาติ ครั้งที่ 2 และรวมพลคนสร้างชาติ Smart & Strong Together รวมพลังส่งเสริมเกษตรไทย ก้าวไกลมั่นคง ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2563 ณ ที่อิมแพค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-10 อิมแพคเมืองทองธานี

ปี 2562 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม มูลค่ารวม 1.25 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของการส่งออกสินค้าไทยในภาพรวม ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 11 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน ขณะที่มูลค่าตลาดอาหารในประเทศ มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ภาพรวมตลาดอาหารของไทย ทั้งในประเทศและส่งออก มีมูลค่ารวมมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ถือว่ามีศักยภาพสูง และยังมีโอกาสอีกมาก

จากสถานการณ์โควิดหลายประเทศเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะทางฝั่งเอเชีย สินค้าเกษตรและอาหารของไทยเป็นที่จับตามอง เพราะมีความโดดเด่นในตลาดโลก หากเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่เป็นวิถีใหม่ หรือ New Normal ซึ่งผู้บริโภคทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยมากขึ้น จะมีส่วนช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานให้ประสบความสำเร็จ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับกระทรวง    พานิชย์ ผลักดัน นโยบาย เกษตรผลิต พานิชย์ตลาด เป้าหมายนี้จะสำเร็จสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าวันนี้เราไม่มีรากฐานที่แข็งแรงของภาคการเกษตร

ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากพี่น้องส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคการเกษตร หากมองย้อนกลับไปจนถึงวันนี้ทุกอย่าง ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ได้รับความเชื่อมั่นจากต่างชาติมากขึ้น มี Start up ภาคการเกษตร
มี Young Smart Farmer เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทุกคนเปรียบเสมือนเป็นอนาคตที่สำคัญในภาคการเกษตร ที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลมุ่งเสริมสร้างให้เกิดรากฐานที่ดี เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พวกเราจะร่วมกันสร้างชาติ ผ่านภาคการเกษตรที่สำคัญไปด้วยกัน ลดความเหลื่อล้ำ ให้เกิดความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืน เพราะภาคการเกษตรเปรียบเสมือนรากฐานที่สำคัญของประเทศ ถ้ารากต้นไม้แข็งแรง ต้นไม้จึงจะเติบโตแผ่กิ่งก้านใบออกดอกติดผลได้ แต่ภาคการเกษตรจะเข้มแข็งไม่ได้ หากไม่มีกระบวนการสร้างและพัฒนาเกษตรกรให้พึ่งพาตนเอง

การส่งเสริมการเกษตรของไทยได้สร้างความเข้มแข็งด้วยกระบวนการกลุ่มผ่านองค์กรเกษตรกร ปัจจุบัน มีกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ได้แก่ เกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 6,888 กลุ่ม สมาชิก 406,755 ราย Smart Farmer 1,101,650 ราย มีเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้วกว่า 13,051 ราย สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรรวมทั้งประเทศ จำนวน 5,292 กลุ่ม จำนวนสมาชิก 121,121 ราย วิสาหกิจชุมชน 90,757 แห่ง สมาชิก 1,530,766 ราย เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 540 แห่ง สมาชิก 12,439 ราย กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 10,386 กลุ่ม สมาชิก 280,084 ราย มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. ที่มีเกษตรกรต้นแบบ 882 ราย และมีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ที่คอยสนับสนุนงานทั่วประเทศ 75,105 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น ในการสร้างเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ ยังยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร พร้อมกับการผลักดันนโยบาย “เกษตรทันสมัย” ให้เกิดกลุ่มเกษตรนวัตกรรม เกษตรปลอดภัย เกษตรแปรรูป เกษตรเทคโนโลยี และเกษตรพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังส่งเสริมให้เกิดตลาดสินค้าพรีเมียม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ เช่น สินค้า GAP สินค้า Organic รวมถึงการสร้างสินค้าอัตลักษณ์ เช่น สินค้า GI นอกจากการสร้างความเข้มแข็งผ่านการรวมกลุ่มเกษตรกร การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ด้านการตลาด ยังจับมือภาคธุรกิจ ตลาดออฟไลน์ ตลาด modern trade และ บริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ รวมถึง ตลาดออนไลน์จับมือกับ E-commerce ภาคธุรกิจ และเปิดเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์ เชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตทางการเกษตรและอาหารสู่ช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมถึงการพัฒนาศักยภาพช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร สร้างโอกาสการขายสินค้าให้กลุ่มเกษตรกรในทุกกลุ่มสินค้า และแสดงความมั่นใจในศักยภาพของสินค้าเกษตรไทยให้พร้อมถึงการเป็นครัวโลกด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจัดงาน “เกษตรสร้างชาติ” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2563 นี้ ณ ที่อิมแพค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-10 อิมแพค เมืองทองธานี เป็นมหกรรม product premium จากเกษตรกรไทย เพื่อให้งานมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งการสร้างโอกาส ให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนายกระดับสินค้าเกษตร และแสดงศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากตลาดท้องถิ่น ตลาดภูมิภาค สู่ตลาดต่างประเทศ และตลาดออนไลน์ ให้คนเมืองได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก มีการกระจายตัวของรายได้มากขึ้น ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคได้โดยตรง เชิญชวนพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจ เข้าเยี่ยมชมงาน ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร และทำความเข้าใจว่า เกษตรสร้างชาติได้อย่างไร และสินค้าเกษตรไทย พร้อมไปตลาดโลกแล้ว

กิจกรรมสำคัญภายในงาน ประกอบด้วย

พบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุยกับเกษตรกรตัวจริง ที่เป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพ จากการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จาก 6 แห่งทั่วประเทศ เกษตรแปลงใหญ่ที่รวมกลุ่มการผลิต เปลี่ยนสินค้าจากขายในประเทศ ยกระดับสินค้า Premium to fly, เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพการเกษตร มีความรู้ และมีความภาคภูมิใจในอาชีพ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนหันกลับมาทำการเกษตร เป็นอนาคตของการปฏิรูปภาคการเกษตรต่อไป

พบความอลังการของกล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ฟอกอากาศ หลากหลายประเภท

เข้าใจกลไกการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ กระบวนการส่งเสริมผ่านการรวมกลุ่มเกษตรกร  เพื่อเป็นเครือข่ายในการส่งต่อความรู้ไปสู่เกษตรกรรายย่อยอื่นๆ สร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติดูแลพื้นที่การเกษตรของตัวเองในทุกด้าน ทั้งการลดต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การเฝ้าระวังศัตรูพืชผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ส่งเสริมการใช้ดินและปุ๋ยที่เหมาะสมในการปลูกพืชผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) รวมทั้งสร้างตัวแทนเกษตรกร เพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านอาสาสมัครเกษตรกร (อกม.)

ตื่นตาไปกับนวัตกรรมการเกษตร โชว์เทคโนโลยีไบโอรีแอคเตอร์ ขยายเนื้อเยื่อสับปะรดกินสดพันธุ์ MD2 และโชว์นวัตกรรมการเกษตร จากภาคีเครือข่าย เช่น หุ่นยนต์อาราขาพืช จาก ม.เกษตร

อิ่มท้อง กับครัวไทย ห้ามพลาดการช็อปปิ้งสินค้าเกษตรคุณภาพ product premium หลากหลายประเภท กว่า 1,000 รายการ เพื่อย้ำความมั่นใจ “อาหารไทย อาหารโลก” ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

อาหารสด เช่น ผักปลอดภัยจาก ตลาดเกษตรกร 77 จังหวัด ทั่วประเทศ/ อินทผลัมผลสด บุรีรัมย์/หน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ ชัยภูมิ/ ผลไม้ปลอดสารพิษ/อะโวกาโด วังน้ำเขียว/ส้มโอทับทิมสยาม นครศรีธรรมราช

อาหารแปรรูป เช่น ปลานิลหยอง หนองบัวลำภู/ปลาส้มสติ๊ก นครราชสีมา/ปลาร้าก้อนสำเร็จ อำนาจเจริญ/เงาะสอดไส้ฟรีซดราย ชุมพร

อาหารปรุงสุก เช่น ข้าวหมกอาหรับ ปัตตานี/หมูหมักปลาร้า สุพรรณบุรี/เส้นจันท์ผัดซอสมังคุด จันทบุรี/น้ำพริกด้วงมะพร้าว เลย/นาซิดาแฆ นราธิวาส/ซาเตข้าวอัด นราธิวาส

อาหารสุขภาพ เช่น ผักเคลแผ่นอบกรอบ นครปฐม/น้ำผักโขมผสมฟักทอง จันทบุรี/ซุปข้าวไรซ์เบอร์รี่เสริมคอลลาเจน ชลบุรี/ ชาเห็ดหลินจือ สระแก้ว/ผงมะเขือเทศชงพร้อมดื่ม

อาหารนวัตกรรม เช่น มะม่วงเบาผง สงขลา/มะม่วงป๊อบ สุโขทัย/บิสกิตกล้วยน้ำว้าสอดไส้แยมมะกรูด พิจิตร/กล้วยผง กำแพงเพชร/มะพร้าวผง สมุทรสาคร/จิ้งหรีดผง สุโขทัย/มะขามผงชงดื่ม อุตรดิตถ์/สแปรดถั่วลายเสือ แม่ฮ่องสอน

เลือกสรรพัสตราภรณ์ กว่า 100 ร้านค้า จากแม่บ้านเกษตรกรคุณภาพ เช่น ผ้าทอนาหมื่น ตรัง/ผ้าไหมแก้มฝ้ายทอมือ น่าน/ผ้าไหมยกดอก ลำพูน/ผ้าทอมัดหมี่สี่ตะกอ ลพบุรี

สร้างโอกาสธุรกิจเกษตร จับคู่ Business Matching เปิดโอกาสให้กับเกษตรกรไทย ได้เป็นผู้ประกอบการเกษตร พบปะผู้ส่งออก Start up ส่งสินค้าดีมีคุณภาพสู่ตลาดสากล รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยจำหน่ายผ่านตลาดเกษตรกรออนไลน์.com

ฝึกอาชีพ DIY หนึ่งวันทำได้จริง 28 หลักสูตร เช่น ขนมจีนน้ำยาเห็ด ผักบุ้งดองสูตรโบราณ พวงมาลัยใบเตย การขยายพันธุ์แค็กตัส  น้ำพริกกากหมู

กิจกรรมสาระบันเทิง ให้บริการความรู้แก่เกษตรกรและผู้เข้าชมงาน การล้างผักอย่างปลอดภัย คำแนะนำการปลูกพืช คลินิกพืช โชว์การเดินแบบผ้าไทย สาธิตการทำอาหารจากเชฟชั้นนำ มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชาติ และเห็นถึงพลังของพี่น้องเกษตรกรไทย ในงาน เกษตรสร้างชาติ ครั้งที่ 2 มหกรรม product premium ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2563 ณ ที่อิมแพค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-10 อิมแพคเมืองทองธานี “Smart & Strong Together รวมพลังส่งเสริมเกษตรไทย ก้าวไกลมั่นคง”

ตัวอย่างผลสำเร็จงานส่งเสริมการเกษตร

“กล้วยน้ำว้า สู่ Inno Product”

กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่ถูกพัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสดและแปรรูป ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมาก

เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้า ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 60,281 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 186,751.37 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับรูปแบบการผลิตเป็นเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ว่าง ให้กล้วยน้ำว้าเป็นพืชแซมในสวน ช่วยสร้างรายได้ตลอดทั้งปี กล้วยน้ำว้ามีต้นทุนการผลิต 5,881 บาท/ไร่/ปี ให้ผลผลิตเมื่อมีอายุเฉลี่ยได้ 1 ปี ได้ผลตอบแทนสุทธิ 7,618 บาท/ไร่/ปี ส่วนใหญ่เกษตรกรจะขายเป็นกล้วยสด ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดภายในจังหวัดและตลาดนอกจังหวัดหรือตามแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้ และรวมกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 26 แปลง เกษตรกร จำนวน 1,028 ราย พื้นที่กล้วยน้ำว้า แปลงใหญ่ 12,926 ไร่ 13 จังหวัด ที่มีพื้นที่แปลงใหญ่ ได้แก่ นนทบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ แพร่ น่าน มหาสารคาม ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย และเพชรบูรณ์ การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ ยังทำให้เกษตรกร สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้อีกทางหนึ่งด้วย

การแปรรูป สู่ Inno Product “บิสกิตกล้วยน้ำว้าสอดไส้แยมมะกรูด”

โดย : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำพริกไร้สารกันบูด หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยพุก จังหวัดพิจิตร ที่เกษตรกรใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ข่า ตะไคร้ มะกรูด กล้วยน้ำว้า ผลิตเป็นพริกแกงและกล้วยฉาบ

แนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ สู่การเป็น Inno Product : จากการผลิตพริกแกงและกล้วยฉาบ ทำให้มีวัตถุดิบที่เหลือทั้งกล้วยและเนื้อมะกรูด จึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ แป้งกล้วยน้ำว้าที่มีคุณสมบัติต้านทานการย่อยเป็นแป้งที่มีเส้นใยอาหารที่ดี สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้นๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ โดยนำมาเป็นส่วนผสมในการทำขนมปังบิสกิต สอดไส้แยมมะกรูดที่ผลิตจากเนื้อมะกรูดนำมาให้ความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม ได้แยมที่ให้รสหวานอมเปรี้ยวและกลิ่นที่หอมสดชื่น นำมาอบขึ้นรูปเป็นบิสกิตกล้วยน้ำว้าสอดไส้แยมมะกรูด เป็นผลิตภัณฑ์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในชุมชน ได้เป็นอย่างดี

บรรจุภัณฑ์ : พัฒนาให้ทันสมัย มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่น รวมทั้งมีเรื่องราวที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

ที่อยู่ : เลขที่ 6 หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยพุก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร ผู้ประสานงานวิสาหกิจชุมชน คุณพรรณี มั่นหลำ เบอร์โทรศัพท์ : (089) 959-2408

การนำกล้วยน้ำว้ามาแปรรูปเพิ่มมูลค่า นอกจากบิสกิตกล้วยน้ำว้าสอดไส้แยมมะกรูดแล้ว ยังมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตและพัฒนาการแปรรูปกล้วยตำบลระหาน จังหวัดกำแพงเพชร แปรรูปกล้วยผงสำเร็จรูปชนิดชงดื่มจากแป้งกล้วยน้ำว้า 100% ใช้เทคนิคการทำให้แป้งกล้วยเป็นวุ้น (Gelatinize) ก่อนนำมาผลิตเป็นผงกล้วยชงพร้อมดื่ม ซึ่งใช้กล้วยน้ำว้าในระยะสุกพอดี มีรสหวานกลมกล่อมตามธรรมชาติ นำไปทำแห้ง (Drying) ด้วยอุณหภูมิที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ได้ผงที่มีความชื้นเหมาะสม แล้วจึงนำมาบดละเอียดทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยที่ใช้ชงร้อนละลายได้ดี สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร หรือขนม มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รสชาติดี หอมหวาน ละมุน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงและแปรรูปปลา บ้านวังแร่ จังหวัดพิษณุโลก แปรรูปแยมกล้วยน้ำว้าชนิดแผ่นจากกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผลิตจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์โบราณ สีเหลืองนวล เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม รสชาติหวานกลม กล่อม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ผลิตเป็นแยมกล้วยแผ่น โดยใช้เทคนิคการเกิดเจล (Gelling) และขึ้นรูปเป็นแผ่น สามารถนำเสริฟพร้อม

ขนมปังหรืออาหารว่างต่างๆ ได้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และสะดวกต่อการบริโภค ได้รสชาติกล้วยในรูปแบบใหม่ และความหวานจากธรรมชาติ พร้อมคุณประโยชน์จากกล้วยแท้

พืชทางเลือกใหม่ “อะโวกาโด” product premium

อะโวกาโด (Avocado) เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ ให้ผลผลิตเร็ว ให้ผลผลิตดก
มีความหลากหลายของพันธุ์ ทำให้มีผลผลิตกระจายครอบคลุมตลอดทั้งปีเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทาง
โภชนาการสูง ให้ค่าพลังงานสูงแต่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ จึงเป็นที่นิยม มีปริมาณความต้องการสูงทั้งตลาดภายใน
และต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร มีแผนที่จะพัฒนาอะโวกาโดเป็นพืชเศรษฐกิจ ทางเลือกใหม่ มีทีมบูรณาการฯ แบบครบวงจร ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูก พร้อมเปลี่ยนจากพันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ดี ปัจจุบันมีความต้องการ ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ สำหรับตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูง โดยในปี 2561 มีการนำเข้าถึง 762 ตัน มูลค่า 154,399,344 บาท ขณะที่การส่งออกประเทศไทยสามารถส่งออกเพียง 19 ตัน ในปี 2561 มูลค่า 763,607 บาท ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก เช่น ในปี 2560 ประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำเข้า คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงนับเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโด

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมให้อะโวกาโดเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโด ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 3,315 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 18,231 ไร่ มีการรวมกลุ่มทำ เกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 13 แปลง เกษตรกร 459 ราย มีพื้นที่แปลงใหญ่รวม 4,598 ไร่ ในจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ การขยายพื้นที่ปลูก เช่น พื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

ปัจจุบัน มีเกษตรกรรุ่นใหม่นิยมปลูกอะโวกาโดเพิ่มมากขึ้น เช่น นายชุติมันต์ จันทร์ฝาย Young Smart Farmer เจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดกำแพงเพชร รวมกลุ่มทำคลัสเตอร์อะโวคกาโดครบวงจร มีสมาชิก 10 ราย พื้นที่ปลูกรวม 50 ไร่ ทั้งในพื้นที่จังหวัดตากและกำแพงเพชร โดยวางแผนตั้งแต่การปลูก ขยายพันธุ์ ควบคุมการผลิตไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ และการจัดจำหน่ายตลาดในประเทศ อย่างเป็นเป็นระบบ