หมากเหลือง พืชเศรษฐกิจ เกษตรกรปลูกขายได้เงินแสน

หมากเหลือง (Yellow palm) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ปาล์ม ปลูกง่าย โตไว มีทรงพุ่มสวยงาม ทางใบยาว โค้งย้อยลงดิน แผ่นใบสีเหลืองอมเขียว นิยมปลูกทั้งภายในและภายนอกอาคารสถานที่เพื่อตกแต่งให้สวยงาม ให้ความร่มรื่นหรือช่วยดูดสารพิษในอากาศ การรวมกลุ่มปลูกหมากเหลืองแบบแปลงใหญ่ของเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพผลผลิต หมากเหลืองเป็นพืชเศษฐกิจที่มีตลาดรองรับในการซื้อขาย ทำให้เกษตรกรมีรายได้นำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและเพื่อการยังชีพที่มั่นคง

คุณสมเดช คงกระพันธุ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี ส่งเสริมเกษตรกรปลููกหมากเหลืองแปลงใหญ่

คุณสมเดช คงกระพันธุ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี เล่าให้ฟังว่า หมากเหลือง (Yellow palm) เป็นพืชในวงศ์ปาล์มที่มีอายุยืนยาว ปลูกและดูแลรักษาง่าย ชอบดินร่วน มีลำต้นทรงกลมตั้งตรง แตกหน่อเป็นกอใหม่รอบต้นแม่ เมื่อโตเต็มที่จะสูงได้ถึง 8 เมตร ลำต้นเป็นข้อหรือเป็นวงชัดเจน ผิวลำต้นเรียบ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-8 เซนติเมตร โคนต้นสีเหลืองส้มหรือเขียวอมเหลือง และปลายต้นมีนวลสีขาวปกคลุม ดอกขนาดเล็กสีขาวออกเป็นช่อ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง และเมื่อผลสุกจัดเป็นสีแดงแสดหรือสีม่วงอมดำ

หมากเหลือง เป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มสวยงาม ทางใบยาว โค้งย้อยลงดิน แผ่นใบสีเหลืองอมเขียว นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับสวน ปลูกเพื่อตกแต่งเป็นสวนหย่อม หรือปลูกลงในกระถางแล้วนำไปจัดวางตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร ประโยชน์ที่ได้รับจากการปลูกหมากเหลืองคือ เป็นการเสริมสร้างภูมิทัศน์ ให้ความร่มรื่น กรองฝุ่น พรางแสง ดูดซับเสียงหรือช่วยดูดสารพิษจากอากาศที่ส่งผลดีให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง

หมากเหลือง ปลูกประดับได้ดี

การพัฒนาคุณภาพหมากเหลือง สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี สำนักงานเกษตรอำเภอลำลูกกา ได้สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกร 32 ราย รวมกลุ่มปลูกหมากเหลืองแบบแปลงใหญ่ พื้นที่ประมาณ 110 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการในด้านการปลูกหมากเหลือง จัดเป็นศูนย์กลางรองรับองค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อนำไปสู่พัฒนาการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ได้หมากเหลืองคุณภาพมาตรฐาน สนับสนุนให้มีตลาดจำหน่าย พร้อมกับจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมและเลือกซื้อหมากเหลือง ซึ่งเป็นช่องทางให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนและให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการยังชีพ

ลุงสมคิด เงาภู่ทอง กับต้นกล้าหมากเหลืองที่เพาะเลี้ยงเพื่อเตรียมนำไปปลูกและขาย

ลุงสมคิด เงาภู่ทอง เกษตรกรปลูกหมากเหลืองโครงการแปลงใหญ่ เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพทำการเกษตรผสมผสานทั้งการทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ หรือปลูกหมากเหลือง ที่ผ่านมาขั้นตอนการปลูกดูแลรักษาส่วนใหญ่รวมถึงเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่จะทำการเกษตรแบบต่างคนต่างทำ ไม่ได้เรียนรู้และพัฒนาการผลิตร่วมกัน ใช้ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงไม่มั่นคงในด้านรายได้

ต่อมานักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอลำลูกกา และสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี และกับหลายหน่วยงานได้มาส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกหมากเหลืองในโครงการแปลงใหญ่ โดยจะได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อนำมาสู่พัฒนาการปลูก ผสมผสานการทำงานร่วมกัน ใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน การร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อไปสู่พัฒนาการผลิตให้ได้หมากเหลืองคุณภาพ

หมากเหลือง พืชเศรษฐกิจ

หมากเหลือง เป็นพืชที่ปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน หรือดินเกือบทุกชนิด ชอบแดดจัดและต้องการน้ำมาก ขยายพันธุ์ทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ดให้ได้ต้นกล้า และการแยกหน่อที่แตกกอรอบต้นแม่ จากนั้นจึงนำไปปลูกซึ่งปลูกลงในกระถาง ปลูกเป็นสวนหรือปลูกแบบสวนหย่อมเพื่อตกแต่งภายในและภายนอกอาคารให้สวยงาม

การเพาะเมล็ด

จัดเตรียมวัสดุเพาะที่มีส่วนผสมของดินร่วนกับปุ๋ยคอกแห้ง แกลบดำหรือขุยมะพร้าว อัตราส่วน 4-1-1-1 คลุกเคล้าให้เข้ากันใส่ในถุงพลาสติกหรือกระบะเพาะ นำเมล็ดพันธุ์หมากเหลืองวางเรียงกันและกดลงไปเล็กน้อย ให้น้ำแต่พอชุ่ม นำไปจัดวางในโรงเรือนหรือพื้นที่ร่มรำไร ดูแลบำรุงรักษา ให้น้ำทุกวันพอชุ่มกระทั่งต้นหมากเหลืองเจริญเติบโตมีความสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไปก็นำไปปลูกได้

เตรียมวัสดุเพาะเมล็ดหมากเหลืองใส่ถุงพลาสติก
เมล็ดพันธุ์หมากเหลืองที่จัดเตรียมนำไปเพาะเป็นต้นกล้า

การแยกหน่อ

ต้นหมากเหลืองเมื่อเจริญเติบโตสมบูรณ์จะแตกหน่อเป็นกอใหม่รอบต้นแม่ 5-12 ต้น การแยกหน่อได้เลือกหน่อที่มีความสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ขึ้นไป ใช้เสียมคมขุด หรือมีดคมตัดแยกหน่อโดยให้มีรากติดมาด้วย นำไปปลูกในกระถางหรือถุงพลาสติกดำ ขนาดประมาณ 11 นิ้ว หรือนำลงปลูกในแปลง ให้น้ำพอชุ่ม ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาให้หน่อเจริญเติบโตพร้อมนำไปปลูกหรือจำหน่าย

การปลูก

หมากเหลืองนิยมปลูกเพื่อประดับให้สวยงามทำได้ 2 วิธี คือ ปลูกในกระถางและปลูกในแปลง

หลังการเพาะจะได้ต้นกล้ามีความสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ก็นำไปปลูกได้
เพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตสมบูรณ์ก่อนนำออกขาย

ปลูกในกระถาง เตรียมวัสดุปลูกที่มีส่วนผสมของอินทรียวัตถุจะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินได้นาน วัสดุปลูกให้มีส่วนผสมของดินร่วนเป็นหลักผสมกับปุ๋ยคอกแห้ง แกลบดำ ขุยมะพร้าว คลุกเคล้าให้เข้ากันใส่กระถางวางต้นพันธุ์หมากเหลืองลงปลูก ให้น้ำพอชุ่ม แล้วคอยบำรุงให้เจริญเติบโตแล้วนำไปวางตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม

ปลูกในแปลง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับสวนหรือปลูกเป็นสวนหย่อม เพื่อตกแต่งภายในและภายนอกอาคารให้สวยงาม การเตรียมดินปลูกได้ขุดสับดิน กำจัดวัชพืชออก หว่านปุ๋ยคอกแห้ง แกลบดำอย่างละ 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ตารางเมตร ขุดสับผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน นำต้นพันธุ์หมากเหลืองลงปลูก เกลี่ยดินกลบ ให้น้ำพอชุ่ม

ลุงสมคิด เงาภู่ทอง เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า บำรุงต้นหมากเหลืองได้ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 2 ครั้ง ต่อปี บางครั้งใส่ปุ๋ยสูตร 16-8-8 สัก 1 หยิบมือ ต่อต้น มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของต้นหมากเหลือง แล้วให้น้ำพอชุ่ม

ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง และเมื่อผลสุกจัดเป็นสีแดงแสดหรือสีม่วงอมดำ
แปลงใหญ่หมากเหลือง เป็นเรียนรู้สู่พัฒนาการพัฒนาคุณภาพ

การให้น้ำ

หมากเหลืองเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงในราว 5-12 เมตร เป็นพืชชอบแดดจัดหรือรำไร และต้องการน้ำปริมาณมาก การปลูกในกระถางต้องให้น้ำอย่างน้อยทุก 3 วัน ต่อครั้ง ส่วนการปลูกในแปลงต้องให้น้ำอย่างน้อยทุก 5-7 วัน ต่อครั้ง ให้น้ำแต่พอชุ่มก็จะช่วยให้ต้นหมากเหลืองเจริญเติบโตสมบูรณ์

ตลาด

ทุกวันนี้หมากเหลืองเป็นพืชเศษฐกิจตัวใหม่ที่มีตลาดรองรับในการซื้อขายหลายแห่ง เช่นที่ตลาดไท ตลาดไม้ดอกไม้ประดับ คลองสิบห้า ถนนรังสิต-นครนายก ตลาดไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดปราจีนบุรี และยังมีพ่อค้าจัดการส่งออกขายที่ตลาดต่างประเทศด้วย แต่ละปีเกษตรกรจะมีรายได้เงินแสนบาท ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตเกษตร หรืออีกส่วนหนึ่งใช้ในครัวเรือนเพื่อการยังชีพได้มั่นคง

ปลูกในกระถาง แล้วนำไปจัดวางตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม

จากเรื่อง หมากเหลือง พืชเศรษฐกิจ เกษตรกรปลูกขายได้เงินแสน เป็นพืชทางเลือกที่มีตลาดรองรับให้เกษตรกรมีวิถียังชีพที่มั่นคง สอบถามเพิ่มได้ที่ ลุงสมคิด เงาภู่ทอง เลขที่ 3/2 หมู่ที่ 14 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทร. (081) 641-0343 หรือ คุณจงดี อ้นจันทร์ สำนักงานเกษตรอำเภอลำลูกกา โทร. (02) 191-0579 ก็ได้

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2563