7 ทีม ยุวสตาร์ทอัพ ม.แม่โจ้ สุดเจ๋ง ผ่านการคัดเลือกระดับประเทศ เตรียม Showcase พบปะนักลงทุนระดับชาติและนานาชาติ ดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ในงาน Startup Thailand 2020

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2563 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดพิธีมอบเกียรติบัตรและทุนสนับสนุน 175,000 บาท ให้กับ 7 ทีมนักศึกษา ที่ผ่านการคัดเลือกระดับประเทศ รายการ Startup Thailand League ภายใต้โครงการกองทุน ยุวสตาร์ทอัพ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยลัยแม่โจ้ เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมและให้โอวาท ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

อาจารย์ ดร.กัลย์ กัลยาณมิตร ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แจ้งว่า “จากการที่อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 39 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้จัดกิจกรรมการแข่งขัน Startup ระดับประเทศ Startup Thailand League ภายใต้โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) ประจำปีงบประมาณ 63 เมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกระดับชั้นได้นำเสนอแนวความคิด นวัตกรรม รูปแบบการดำเนินธุรกิจ เฟ้นหาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตอบสนองยุทธศาสตร์รัฐบาล สร้างวิสาหกิจเริ่มต้น พัฒนาสู่การร่วมสร้างเศรษฐกิจแห่งผู้ประกอบการและนำไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ซึ่งมีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 390 ทีม ทั่วประเทศ โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดส่งเข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 10 ทีม และได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจำนวน 7 ทีม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) เตรียมจัดแสดงในกิจกรรม Demo Day Showcase งาน Startup Thailand 2020 ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้กับนักลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของประเทศไทย และเกิดการต่อยอดเทคโนโลยีงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถได้เข้าร่วมชมผลงานได้ ในวันที่ 14 กันยายน 2563 ณ True Digital Park กรุงเทพมหานคร”

สำหรับ 7 ทีม จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผ่านการคัดเลือก มีดังนี้

  1. PHD : ปุ๋ยไฮโดรอินทรีย์แม่นยำ ผลงาน : ปุ๋ยไฮโดรอินทรีย์แม่นยำ (Precision Hydro-Organic Fertilizer)

เป็นนวัตกรรมปุ๋ยอินทรีย์ที่จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้ปุ๋ยไฮโดรอินทรีย์แม่นยำทดแทนปุ๋ยเคมีได้ 100%

สมาชิก : นายทิวา จามะรี นักศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร นายดรัณภพ เกตุตรง, นายซาบัน คำยุง นักศึกษาคณะผลิตกรรมการเกษตร

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร

  1. ทีม KEAH ผลงาน : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันจระเข้สำหรับป้องกันภาวะเบาหวาน

เป็นการนำก้อนไขมันจระเข้ที่เป็นผลพลอยได้จากวิสาหกิจชุมชนมาเพิ่มมูลค่าเป็นสารชีวภาพหรือน้ำมันเพื่อสุขภาพ น้ำมันจระเข้จากกระบวนการสกัดมีองค์ประกอบของกรดไขมันกลุ่ม โอเมก้า 9 ในปริมาณสูงมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดภาวะความเครียด มีฤทธิ์ในการกระตุ้นอินซูลินให้ทำงานได้ดีขึ้นจึงช่วยป้องกันภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

สมาชิก : นายเมธัส เงินจันทร์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ นางสาวสุคนธ์ทิพย์ พลัดเชื้อนิล, นางสาวสุกานดา อะภัย นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ และ อาจารย์ ดร.พนมพร เฉลิมวรรณ์ คณะบริหารธุรกิจ

  1. ทีม หอมชื่น ผลงาน : ผลิตภัณฑ์ “หอมชื่น ชีลด์ สเปรย์ (Hom Chuen Shield Spray)”

สเปรย์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้หน้ากากอนามัยแบบทั่วไปในการกรองฝุ่น PM 2.5 และยังมีฤทธ์ต้านเชื้อโรคขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ ยังมีกลิ่นที่หอมสดชื่น ส่งผลให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกอึดอัดเวลาใส่หน้ากากอนามัย

สมาชิก : นายกรองเกียรติ ณ ลำพูน, นางสาวเพชรรัตน์ ศรีสุวรรณ, นายธนบุตร สุทธวิชา, นายณัฐพล ปานแดง นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ นางสาวอัมพวัญ ทะระถา นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ

อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร.ศักดินันท์ นันตัง คณะวิทยาศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.พนมพร เฉลิมวรรณ์ คณะบริหารธุรกิจ

  1. ทีม Coffpress ผลงาน : เครื่องแทมป์กาแฟอัตโนมัติ

นวัตกรรม micro controller arduino ที่จะช่วยให้สามารถแทมป์กาแฟได้โดยมีน้ำหนักที่เท่าเดิมตลอดทุกการแทมป์และไม่เอียง มีความสะดวกสบาย และลดอาการบาดเจ็บของข้อมือ และยังทำให้น้ำหนักการแทมป์มีค่าที่เท่ากัน ลดปัญหา human error และรสชาติได้ในระดับหนึ่ง

สมาชิก : นายนครินทร์ พงษ์เศวต, นายพันธกานต์ สิทธิดง, นางสาวพิมพ์ประภัส ธิวงค์, นางสาวกาญจนา ผาดแสง นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ

อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร.พนมพร เฉลิมวรรณ์ คณะบริหารธุรกิจ

  1. ทีม MJU Smart Mush ผลงาน : ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมสำหรับการเพาะเห็ดในโรงเรือน

เป็นการติดตั้งระบบควบคุมสภาพแวดล้อมสำหรับการเพาะเห็ดในโรงเรือน ทำให้สามารถเพาะเห็ดได้ตลอดทั้งปี คาดการณ์ผลผลิตได้ มีระบบป้อนข้อมูลผลผลิตสำหรับเกษตรกร เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในส่วนของบริการต่อไป

สมาชิก : นายเตชาธร ชัยวงศ์, นายพงษ์สิทธิ์ สุวรรณภักดี, นายกฤตภาส นันติ, นายณัฐวุฒิ แสงกาศ, นางสาวอนิสา ใจยอง นักศึกษาวิทยาลัยพลังงานทดแทน

อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร. ภคมน ปินตานา

  1. ทีม O-System ผลงาน : Affiliate marketing Platform

รูปแบบ Website และ Application ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจที่ต้องการโปรโมตสินค้าหรือบริการ ระบบจะช่วยเชื่อมโยง ADVERTISER และ PUBLISHER ให้ร่วมมือกันกำหนดรายละเอียดและแนวทางในการโปรโมต ทำให้ทำการตลาดที่เฉพาะเจาะจงและแม่นยำ สามารถเริ่มต้นการโฆษณาด้วยรายจ่ายที่มีความแปรผันตามการซื้อขายแบบคงที่

สมาชิก : นายพุทธคุณ พจนาภรณ์ นักศึกษาคณะผลิตกรรมการเกษตร นางสาวปิยะพร เท็นผม, นางสาวพนิดา โนลอย นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร และ อาจารย์ ดร.พนมพร เฉลิมวรรณ์ คณะบริหารธุรกิจ

  1. ทีม Code-Coach ผลงาน : เว็บไซต์ศูนย์รวมโปรแกรมเมอร์

เว็บไซต์ที่เป็นศูนย์รวมโปรแกรมเมอร์ เพื่อที่ให้คำแนะนำปรึกษากับโปรแกรมเมอร์มือใหม่หรือผู้ที่ให้ความสนใจในการเขียนโปรแกรม โดยเว็บไซต์จะทำการค้นหาโปรแกรมเมอร์ที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือถนัดเฉพาะด้านมาช่วยโปรแกรมเมอร์มือใหม่ที่มีปัญหา

สมาชิก : นายภาณุกฤษฏ์ อินต๊ะยศ, นายวัชรินทร์ กันอ่วม, นายวิทวัส ทีกาส, นางสาวศจิกา ศรีรัตนสุวรรณ นักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์

อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร. สายัณห์ อุ่นนันกาศ คณะวิทยาศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ขอชื่นชมยินดีกับนักศึกษาและอาจารย์ ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์ผลดีๆ ขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมกันเปิดเวทีสำคัญให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถ ร่วมกันคิดค้น ศึกษาวิจัย จนได้ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกสู่เวทีระดับชาติ สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจกับตนเอง ครอบครัว และสถาบัน ขอให้กำลังใจทุกท่านร่วมกันสร้างผลงานที่ดี เพื่อแม่โจ้ต่อไป ขอบคุณครับ”