เผยแพร่ |
---|
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง มีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนกระบวนการ และเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงได้ดำเนินโครงการ “Capacity Building on Circular Economy, Resource and Energy Efficiency for Productivity and Sustainability of Cassava Chain to High Value Products: Cassava Root, Native Starch, and Biogas in Mekong Countries” หรือ โครงการ CCC เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง บุคลากร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่การผลิต ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุล่าสุดได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund-MKCF) กว่า 12 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกอบรมให้บุคลากรในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง
ดร.วรินธร สงคศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยว่า มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 68% ทั้งนี้ หากรวมผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 90% ด้วยเหตุนี้ ไบโอเทค สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของมันสำปะหลังต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการ CCC เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการจัดการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยหลักสูตรอบรมครอบคลุมหัวข้อสำคัญเริ่มตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ การบริหารจัดการเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลังและการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการเพิ่มผลผลิต และทำให้มันสำปะหลังมีคุณสมบัติเหมาะกับการแปรรูปหรือใช้งานในอุตสาหกรรมเฉพาะ ต่อด้วย “กลางน้ำ” คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในกระบวนการผลิต จนถึง “ปลายน้ำ” คือ การใช้เทคโนโลยีในการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ได้แก่ น้ำเสียและกากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าอบรมทั้งจากภาครัฐและเอกชนมากกว่า 100 คน จากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง
“โครงการ CCC เป็นความร่วมมือของ ทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร ทีมวิจัยเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง ไบโอเทค ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร มจธ. และ มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund-MKCF) เป็นจำนวนกว่า 12 ล้านบาท ซึ่งกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง” ดร.วรินธร สงคศิริ กล่าว