กรมหม่อนไหมส่งเสริมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านอ่างเตย เมืองแปดริ้ว แหล่งผลิตเส้นไหมมาตรฐาน ขายผ้าไหมปีละ 2 ล้าน แถมได้ทายาทหม่อนไหมดีเด่นระดับประเทศ

กรมหม่อนไหมนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ภาคตะวันออก โชว์เคสความสำเร็จอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย อำเภอท่าตะเกียบ ยกระดับให้เป็นแหล่งการผลิตได้มาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างรายได้เข้าชุมชนปีละกว่า 2 ล้านบาท และพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จนได้รางวัลทายาทหม่อนไหมดีเด่นระดับประเทศ ปี 60

กรมหม่อนไหม นำโดย นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ภาคตะวันออกที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 ตามโครงการสื่อมวลชนสัญจร ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ ภารกิจ รวมถึงผลงานของกรมหม่อนไหม พร้อมทั้งเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานด้านหม่อนไหม  และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อผู้ประกอบอาชีพหม่อนไหม และวงการไหมไทย

อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหม่อนไหมให้คงอยู่เป็นมรดกประจำถิ่นและเป็นสมบัติของชาติสืบไป รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในชาติเห็นความสำคัญของอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและอนุรักษ์การใช้ผ้าไหมไทยให้คงอยู่

การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราครั้งนี้ ได้เน้นการติดตามผลสำเร็จในโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ภายใต้ภารกิจและแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563  ประกอบด้วย การส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรารวมถึงผลการดำเนินตามโครงการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหม่อนไหม  และโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในชุมชน  

นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนองนโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งมั่นยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมให้ได้คุณภาพ มาตรฐานการผลิตที่เหมาะสม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้กินดี อยู่ดี อย่างยั่งยืนและพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer

“ภาคตะวันออก เป็นอีกพื้นที่ที่กรมหม่อนไหมได้เข้าไปดำเนินการส่งเสริมพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ซึ่งขณะนี้มีโครงการสำคัญที่ดำเนินการในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โครงการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหม่อนไหม  และโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในชุมชน” รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาจนก้าวขึ้นมาสู่การเป็น Smart Farmer ต้นแบบให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี ในการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งสร้างตลาดรองรับได้อย่างดี ภายใต้ แบรนด์ “โส๊ดละออ” ที่แปลว่า เขาผ้าไหมผืนสวย 

รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ขณะเดียวกันทางกลุ่มฯ ยังประสบความสำเร็จในโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในชุมชน ที่เป็นลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของบ้านอ่างเตย อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในการสืบสาน และต่อยอดอาชีพ อย่างนายสุรพงษ์ กระแสโสม อายุ 22 ปี ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลทายาทหม่อนไหมในชุมชน ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2560

โครงการสร้างทายาทหม่อนไหมประจำปีงบประมาณ 2563 กรมหม่อนไหม มีเป้าหมายส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม ฟอกย้อมสีเส้นไหม การทอผ้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียน และทายาทเกษตรกรในชุมชนรวมถึงการสร้างรายได้ระหว่างเรียน มีอาชีพที่มั่นคงหลังจากจบการศึกษา หรือไม่มีโอกาสศึกษาต่อ สามารถสร้างอาชีพที่พึ่งพาตนเองได้

กรมหม่อนไหมได้กำหนดแผนดำเนินการใน 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การส่งเสริมอาชีพทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน จำนวน 28 โรงเรียน นักเรียน 480 ราย  การส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมในชุมชน นำร่อง 6 ชุมชน จำนวนเกษตรกร 120 ราย และสุดท้ายการส่งเสริมกิจกรรมด้านหม่อนไหมในพื้นที่โรงเรียนและชุมชน เป้าหมาย 8 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 175 ราย และ 6 ชุมชน จำนวนเกษตรกร 175 ราย

ด้าน นางสาวลำแพน สารจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550  ปัจจุบันมีสมาชิก 63 ราย แต่ละปีมีการเลี้ยงไหมพันธุ์ J 108 x นางลายสระบุรี จำนวน 8 – 10 รุ่น ซึ่งเส้นไหมที่ได้ จะถูกไปทอเป็นผ้าไหมตามภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมกันมา รวมทั้งมีการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดด้วยการแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหม เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าถุง ผ้ามัดหมี่ ผ้าพื้น และเส้นไหมดิบ จำหน่ายภายใต้ แบรนด์ “โส๊ดละออ” ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ถึงเดือนละ 150,000 – 200,000 บาท หรือประมาณปีละ 1.5–2 ล้านบาท

“ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย นับเป็นหนึ่งในต้นแบบความสำเร็จ ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาโดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการผลิตและกระจายพันธุ์หม่อนไหมและวัสดุย้อมสี โครงการตรวจสอบรับรองมาตรฐานหม่อนไหมและผลิตภัณฑ์   โครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ตามข้อบังคับกรมหม่อนไหม โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ด้านหม่อนไหมและโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในชุมชน ” นางสาวลำแพน กล่าว

นางสาวลำแพน กล่าวต่อไปว่า ผ้าไหมของ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย  ถือว่าได้มาตรฐานตามข้อบังคับของกรมหม่อนไหม โดยเฉพาะการผลิตเส้นไหม ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มกษ.5900-2559 และมาตรฐาน มกษ.8000-2555 แต่ละปีทางวิสาหกิจฯ ผลิตเส้นไหมที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มกษ. ประมาณ 400-600 เมตร นอกจากนี้ยังสามารถผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานซึ่งประกอบด้วย  นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) และ นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) สาม สีทอง สีเงิน สีน้ำเงินและสีเขียว ปีละ 400 – 500 เมตร  

“ พร้อมกันนี้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี ยังได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพื้นที่ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร จากเกษตรกรที่ประสบ ความสำเร็จ ด้านหม่อนไหมในพื้นที่บ้านอ่างเตย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ แก่เกษตรกรและผู้สนใจ โดยมีนางวรนุช วงคง เป็นประธานศูนย์ฯ ” ผอ.ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี กล่าวในที่สุด