วว. /บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน ส่งเสริมนโยบาย BCG พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้โครงการ Thai  Cosmetopoeia ตอบสนองความต้องการของตลาด

บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือกับบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน ส่งเสริมนโยบาย BCG ให้เกิดการขยายตัวอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายโครงการ Thai Cosmetopoeia ในกรอบการใช้เทคโนโลยีด้านงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอบสนองความต้องการของตลาดในตลาดไทยและต่างประเทศ

ดร. ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. นายอัษฎา เทพยศ ประธานบริหารบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ นายวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร กรรมการบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติคฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การใช้เทคโนโลยีด้านงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ Thai Cosmetopoeia” โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการของทั้งสองหน่วยงาน ในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทรัพยากรธรรมชาติของไทย ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรของท้องถิ่น และการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีคุณค่าด้านเวชสำอางของชุมชนหรือท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางไทยและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงตอบสนองความต้องการของตลาดในตลาดไทยและต่างประเทศ โอกาสนี้ นายสายันต์  ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. พร้อมผู้บริหาร บุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นเกียรติ ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุม กวท. ชั้น 8 อาคาร RD 1 วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวว่า การบูรณาการผสานความร่วมมือในครั้งนี้ของ วว. กับบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ครั้งนี้ จะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมนโยบาย BCG ให้เกิดการขยายตัวอย่างสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทย หรือ Thai Cosmetopoeia โดยใช้หลักการ Share Value และเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ วว. ในการวิจัยและพัฒนาด้านเครื่องสำอาง ปี 2020 โดยมีแนวคิดในการนำอัตลักษณ์ของฐานชีวภาพในพื้นที่ประเทศไทยมาพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ผ่านการนำเสนอในรูปแบบเครื่องสำอาง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่และส่งเสริมในระดับชาติและนานาชาติ โดยนำเรื่องราวภูมิปัญญาของท้องถิ่น อัตลักษณ์ของพื้นที่ เศรษฐกิจชุมชน บรรจุอยู่ในเครื่องสำอางแต่ละชิ้นที่ผ่านการพัฒนาเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน โดยในการดำเนินงานโครงการนั้น วว. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในภาคพื้นที่ระดับจังหวัด ภาคธุรกิจในพื้นที่ ภาคธุรกิจรายใหญ่ ภาคงานวิจัยและพัฒนา สถานที่ผลิตมาตรฐาน GMP ภาคการเงินทุน ภาคการตลาด ภาคสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ดังกล่าว ถูกนำเสนอในระดับชาติและนานาชาติ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากร รวมถึงสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

“…ความร่วมมือระหว่าง วว. และพันธมิตรในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านสารสกัดสมุนไพรเพื่อให้ไปสู่ระดับสากล โดยใช้ความเชี่ยวชาญของ วว. และภาคเอกชนที่มีผลงานผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์จำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ฟังก์ชั่นความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการที่ต้องการเป็น StartUp ความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวแรกและก้าวใหม่ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มของสารสกัดจากผลผลิตการเกษตร สมุนไพรไทย เป็นการคืนกำไรสู่สังคม มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นายอัษฎา เทพยศ ประธานบริหาร บริษัทควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  กล่าวว่า  บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามของไทย จากการนำนวัตกรรม และงานวิจัยเชิงลึก  มาใช้ในการค้นคว้า เพื่อนำสารสกัดสำคัญจากพืชและสมุนไพรของไทยมาใช้ในธุรกิจสุขภาพ และความงาม สร้างความโดดเด่น มีอัตลักษณ์  เพิ่มมูลค่าและยกระดับแบรนด์เครื่องสำอางไทย ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน ในตลาดสุขภาพและความงามระดับโลกได้อย่างแข็งแรง และเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังพัฒนาและสร้างสรรค์สารสกัดสำคัญใหม่ๆ จากการนำของเหลือใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อาหาร  ผลไม้กระป๋อง ฯลฯ มาสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม และยังช่วยลดปริมาณขยะ (Zero Waste) ลดมลภาวะจากของเสีย และช่วยรักษา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทย

“…ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นจุดเชื่อมโยงของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการตลาด เป็นการนำ Competency ของทั้งสองหน่วยงานมาประสานกัน ในฐานะผู้ประกอบการมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับภาครัฐ ซึ่งจะมีการสร้างผู้ประกอบการ มีการนำผลงานผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ บริษัทของเรามีเครือข่ายการตลาดทั้งในอาเซียนและในยุโรป เรามีความยินดีอย่างยิ่งในการสนับสนุนและร่วมงานกับ วว.  เราพร้อมที่จะแชร์ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้สั่งสมมา เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศของเราต่อไป…” นายอัษฎา  เทพยศ กล่าว

สำหรับขอบเขตความร่วมมือของ วว. กับบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติคฯ นั้น จะครอบคลุมเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการสกัดพืช และ/หรือ สมุนไพร เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอางจากพืช จุลินทรีย์ และวัสดุธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่พัฒนาจากทรัพยากรของท้องถิ่น ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายมีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการวิจัย ประเมินผล และการขยายผลของงานวิจัยเพื่อช่วยให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ ร่วมกันประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ หรือบริการและโครงการร่วมกัน ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างองค์กรในการกำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน ให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมพัฒนาสนับสนุนกิจกรรมด้านจัดอบรม กำหนดเนื้อหาหลักสูตรร่วมกัน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ (Start Up) การแนะนำให้คำปรึกษาและต่อยอดกลุ่มผู้ประกอบการ ร่วมทั้งการเชื่อมโยงและส่งต่อหน่วยงานเครือข่ายของทั้งสองฝ่าย ร่วมกันศึกษาเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย โดยเน้นการวิจัยศึกษาและพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสามารถสร้างให้เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่และชุมชน พร้อมทั้งร่วมกันส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Thai Cosmetopoeia ในการดำเนินโครงการ กิจกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการวิจัยหรือร่วมวิจัยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ