เทพทาโร สู่เส้นทาง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ชื่อสามัญ : เทพทาโร Safrol laurel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm.

วงศ์ :  LAURACEAE                                                                                                                             

ปีนี้อากาศแปรปรวนอย่างน่าวิตก…ไม้ป่าที่หายากก็ติดเมล็ดเสียมากมาย เหมือนมันตื่นรู้ความผิดปกติของธรรมชาติ…ผู้เขียนมีโอกาสได้เพาะเมล็ดไม้หลากหลายชนิด “เทพทาโร” ก็เป็นไม้หนึ่งที่ได้เพาะ ดั่งต้องมนต์สะกดยามได้กลิ่น กลิ่นที่หอมรัญจวนทำให้ห้องนอนหอมอบอวลไปตลอดทั้งคืน ตื่นเช้ามาต้องรีบนำออกไปเพาะ

ผล เมล็ดเทพทาโร

หากได้ติดตามอ่าน จะทราบว่า เทพทาโร อยู่ในสกุลอบเชย เป็นพันธุ์ไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ความโดดเด่นของไม้เทพทาโร คือ ความหอม ปัจจุบัน “เทพทาโร” เป็นไม้ 1 ใน 22 ชนิด ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะการนำไปใช้ประโยชน์ที่ไม่ได้ปลูกทดแทนไม้เดิมที่ตัดไป ทำให้เทพทาโรลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วแทบจะสูญพันธุ์

น้อยคนจะทราบว่า เทพทาโร มีกลิ่นหอมหลายกลิ่น “อาจารย์สมบูรณ์ บุญยืน” สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้ศึกษาพบว่า ใบ และผล มีกลิ่นต่างกันถึง 4 แบบ ได้แก่ กลิ่นเทพทาโร (รูทเบียร์) กลิ่นตะไคร้ กลิ่นเสม็ดขาว และกลิ่นดอกไม้

นับเป็นความโชคดีที่ท่านได้มอบต้นกล้าที่มีกลิ่นทั้ง 4 กลิ่น ให้ผู้เขียนได้นำมาใช้เป็นต้นแม่พันธุ์ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะเป็นงานวิจัยที่จะสานต่อโครงการอนุรักษ์พันธุ์เทพทาโรต่อไป

เหนือกว่าความโชคดีคือ ผู้เขียนมีโอกาสได้เพาะเมล็ดเทพทาโรจาก 3 แหล่ง ที่มีกลิ่นแตกต่างกันถึง 3 กลิ่น โดยเมล็ดจากจังหวัดตรัง มีกลิ่นเทพทาโร (รูทเบียร์) จังหวัดพัทลุง มีกลิ่นตะไคร้ และเมล็ดจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกลิ่นดอกไม้ (ผสมเครื่องเทศ)

เมล็ดที่จะนำไปเพาะในขวด

เทพทาโรถูกแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย (chemotypes) เนื่องจากองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยที่ต่างกัน

  1.  กลุ่มที่ใบและผลให้น้ำมันที่มี ซาฟรอล มีกลิ่นคล้ายน้ำมันแซสซาฟรัส (รูทเบียร์)
  2.  กลุ่มที่ใบและผลให้น้ำมัน ที่มีกลิ่นคล้ายตะไคร้ ประกอบด้วยสารสำคัญ ได้แก่ ซิตรอล (citral) มิวยูรอลอล (muurolol) และ ไลโมนีน (limonene)

น้ำมันหอมระเหยจากรากไม้เทพทาโร มีสารซาฟรอล (safrole) เมทิลยูจินอล (methyleugenol) อีลิมิซิน (elemicin) และซีส-ไอโซอีลิมิซิน (cis-isoelemicin) เป็นองค์ประกอบหลักทางเคมี

มีรายงานว่า กลิ่นเทพทาโร (รูทเบียร์) มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแก้ปวด และแก้อักเสบ ส่วนกลิ่นตะไคร้ ต้านเชื้อรา และไล่แมลงได้ ป้องกันยุง และแมลงกัดต่อย ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น น้ำมันนวดสปา ยาหม่อง ส่วนกลิ่นเสม็ดขาว และกลิ่นดอกไม้ผสมเครื่องเทศ ยังไม่ได้ศึกษา

หลังเพาะเมล็ด2สัปดาห์

น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก คือ Streptococcus mutans และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อโรคกลาก ได้แก่ Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum

งานวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเทพทาโร

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้…คงพอจะทราบกันบ้างแล้วว่า ผู้เขียนทำงานด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พืชไหนที่ใกล้จะสูญพันธุ์ก็อดไม่ได้ที่จะนำมาอยู่ในขวด สำหรับเทพทาโรก็เช่นกัน ผู้เขียนได้นำต้นกล้าเทพทาโรที่มีกลิ่นต่างๆ ทั้ง 4 กลิ่น มาทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเช่นกัน

ความสำเร็จของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออันดับแรกคือ จะต้องนำชิ้นส่วนของเทพทาโรเข้าไปอยู่ในขวดอาหารสภาพปลอดเชื้อให้ได้เสียก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้เราเรียกว่า “การฟอกฆ่าเชื้อชิ้นส่วนพืช” (ที่จะนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป)

หลังเพาะเมล็ด1เดือน

ณ วันนี้ ผู้เขียนได้ทำขั้นตอนนี้สำเร็จแล้ว ได้ตายอด และตาข้าง (ข้อ) ที่เลี้ยงอยู่บนอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อ โดยใช้ไฮเตอร์หรือสารฟอกขาวที่เราใช้ซักผ้ากันนั่นแหละ เป็นสารฆ่าเชื้อในความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยระยะเวลาเพียง 12 นาที เท่านั้น เพราะได้ชิ้นเนื้อเยื่อที่สามารถเจริญไปเป็นยอดใหม่จำนวนมาก ถึงแม้จะมีการปนเปื้อนเชื้อ (contamination) ในเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าเดิมก็ตาม

ต่อจากนี้ ก็จะศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการแตกกอ หรือเพิ่มจำนวนให้ได้มากๆ ด้วยสูตรอาหารสังเคราะห์ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มไซโตไคนิน (cytokinin) และทดลองชักนำรากด้วยสูตรอาหารสังเคราะห์ที่มีออกซิน (Auxin) แน่นอนละ เมื่อได้ต้นที่มีรากแล้วคงเอามาปลูกเลยไม่ได้ จะต้องศึกษาวิธีการปรับสภาพต้นกล้า หรือศึกษาการย้ายปลูกเสียก่อน 

งานวิจัยการเพาะเลี้ยงต้นอ่อนหรือการกู้คัพภะ

ใบอ่อนเรียวเล็กที่งอกในขวด

ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Embryo culture หรือ Embryo rescue ผู้เขียนได้ทดลองเพาะต้นกล้า หรือเลี้ยงต้นอ่อนในสภาพปลอดเชื้อ โดยนำเมล็ดเทพทาโรมาฟอกฆ่าเชื้อด้วยไฮเตอร์ และเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ที่เติมฮอร์โมนความเข้มข้นต่ำ ซึ่งก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้เห็นพัฒนาการงอกของเมล็ดเทพทาโร ได้เห็นรากสีชมพูสวยงาม ลำต้นสีเขียวอ่อน และใบเรียวเล็ก ซึ่งหาดูจากสภาพธรรมชาติได้ยากมาก

ในสภาพธรรมชาติเมล็ดเทพทาโรมีอัตราการงอกที่ต่ำมาก ส่วนใหญ่ต้นกล้าที่เกิดขึ้นเกิดจากตาบริเวณราก และโคนต้น จึงเป็นสาเหตุให้ต้นกล้าเทพทาโรมีราคาสูง ถึงแม้จะมีความพยายามที่จะศึกษาวิจัยในเรื่องการขยายต้นกล้าเทพทาโรในสภาพธรรมชาติ แต่ก็ยังสามารถเพาะต้นกล้าได้จำนวนน้อยเช่นเดิม

ยอดและตาข้างเทพทาโร

ผู้เขียนเองยังหาคำตอบไม่ได้ แต่คิดว่าน่าจะเกิดจากสารตัวใดตัวหนึ่งจากเปลือกเมล็ดที่มีผลยับยั้งการงอกของต้นอ่อน (embryo) เป็นแน่ เพราะการเพาะโดยวิธีธรรมชาติโดยเปิดแผลให้น้ำเข้าไปให้ถึงต้นอ่อนยังให้เปอร์เซ็นต์การงอกไม่มากนัก

ท่านใดสนใจกล้าไม้ คงต้องอดใจรอกัน…หากงานวิจัยสำเร็จสามารถเพาะเมล็ดเทพทาโรโดยมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง หรือสามารถผลิตกล้าไม้จากเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ อีกไม่นานเราคงมีไม้ชั้นดีมาปลูกไว้ในสวน เพื่อสร้างสวนป่า หรือเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ถึงแม้ว่าต้นทุนในการผลิตจะสูงแต่ก็คุ้มค่าในระยะยาว…

ชิ้นส่วนที่จะนำไปฟอกฆ่าเชื้อ

เอกสารอ้างอิง

สมเกียรติ กลั่นกลิ่น ชูจิตร อนันตโชค ทรรศนีย์ พัฒนเสรี มโนชญ์ มาตรพลากร สมบูรณ์ บุญยืน คงศักดิ์ มีแก้ว พรเทพ เหมือนพงษ์. 2552. แผนงานวิจัยและพัฒนาไม้หอมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้. 31 น.

เกษม ตั้นสุวรรณ วิภา พลันสังเกต นวลพรรณ ศิรินุพงศ์ พิมพ์พิมล เพ็ญจํารัส และ ปราณี รัตนสุวรรณ, 2550. รายงานวิจัยเรื่อง องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยเทพธาโร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สงขลา, 2: 1-18.

นำไปขยายเพิ่มจำนวน

อรุณพร อิฐรัตน์ วันทนา เหรียญมงคล เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร วิภา พลันสังเกต บุษกร อุตรภิชาติ สุวรรณี พรหมศิริ เสาวนิตย์ ชอบบุญ

ปราณี รัตนสุวรรณ และ โสภา คํามี. 2550. รายงานวิจัยเรื่องการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัด และน้ำมันหอมระเหยของต้นเทพธาโร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สงขลา, 4: 1-32.

หลังฟอก 1 เดือน