กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตฯ-นักวิชาการชี้ สารเคมีเป็นประโยชน์และโทษ ต้องรู้จักเลือกใช้อย่างถูกต้อง จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ยั่งยืน

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมนักวิชาการจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความเห็นบนเวทีเสวนา “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” ชี้ เคมีสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า เผยไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เชื่อว่าแนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็น ต้นน้ำของหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทย  อาทิ ปิโตรเคมี พลาสติก ยา เกษตร อาหาร ยานยนต์ฯลฯ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ ในปี 2562 มูลค่ากว่า 1 แสน 2 พันล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ และมีการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภค-บริโภค ในประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสน 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นลำดับที่ 4 ของสินค้าที่มีการนำเข้าของไทย

สารเคมีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ หากใช้สารเคมีอย่างผิดวิธี อาจสร้างผลกระทบด้านลบต่อการดำรงชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมฯ จึงจัดเสวนา “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” โดยเชิญนักวิชาการจากหลายภาคส่วนมาร่วมแสดงความเห็นและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์/กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจากองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมให้ความเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการเคมีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เคมีของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และนำประเด็นการแบน 3 สารเคมี มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณา เพื่อให้สังคมเข้าใจบทบาทของสารเคมี รวมทั้งแนวทางบริหารจัดการเคมี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า หลายคนมักจะมองว่า “สารเคมี” อันตราย แต่จริงๆ แล้ว ทุกสิ่งในโลกนี้นั้นล้วนเกิดมาจากองค์ประกอบทางเคมีทั้งสิ้น แม้กระทั่งร่างกายของเราก็ประกอบด้วยสารเคมีหลายร้อยหลายพันชนิด สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำ คือ การพัฒนาวิธีการที่จะทำให้เกิดองค์ประกอบทางเคมีใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมต่างๆ

ดังนั้น สารเคมี สามารถเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้าย สารเคมีจะอันตรายเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับความเป็นพิษและปริมาณที่ได้รับเข้าไป มีสารเคมีหลายชนิดที่ร่างกายได้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อย ก็เกิดอันตรายได้ เช่น สารหนู แค่ 52 มิลลิกรัม ก็ทำให้ตายได้ ขณะเดียวกัน ถ้าดื่มน้ำเปล่าเข้าไป 6 ลิตร ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ก็มีสิทธิตายได้เช่นกัน เพราะร่างกายรับน้ำมากเกินไป ดังนั้น การใช้สารเคมีแต่ละชนิดจึงควรใช้เท่าที่จำเป็นและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะไม่ส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฮาซเคมโลจิสติกส์แมเนจเมนท์ จำกัด ประธานกลุ่ม Responsible care ® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ สร้างรายได้ทั่วโลกมากกว่า 3,347 พันล้านยูโร ในปี 2018 การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรรมเคมีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ตลาดในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียมีการเจริญเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเคมี ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ การพัฒนาด้านเคมีก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การคิดค้นยารักษาโรค การผลิตน้ำดื่มที่สะอาด พลังงานหมุนวน ผลผลิตทางการเกษตร ภาคก่อสร้าง และขนส่ง เป็นต้น

แต่ภาพสะท้อนแง่ลบของอุตสาหกรรมเคมีก็มีอยู่เสมอ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ หลัก Responsible Care® ดูแลด้วยความรับผิดชอบจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อยกระดับการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นแนวทางที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 1985 ในมากกว่า 68 ประเทศเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อใช้และผลิตสารเคมีที่ปลอดภัย ลดผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทย กลุ่ม Responsible Care® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1996 ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยส่งเสริมสมาชิกและภาคอุตสาหกรรมเคมีให้นำแนวปฏิบัติด้านการจัดการเคมี โดยสร้างการตระหนักรู้ของภาคประชาสังคมและการระงับเหตุฉุกเฉิน ความปลอดภัยของกระบวนการผลิต การป้องกันมลพิษ สุขอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน การขนส่งและกระจายสินค้า และการดูแลผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ซึ่ง Responsible Care® ถือได้ว่าเป็นปรัชญาในการบริการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม  เป็นหัวใจและกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญอันจะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมเคมีในเวทีการค้าโลก ทั้งในภาพเศรษฐศาสตร์และความเป็นเลิศในด้านจัดการสารเคมีที่ดีที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และความเสี่ยงอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ผู้เชี่ยวชาญ Green Chemistry ได้ให้ความเห็นเรื่อง Green Chemistry หรือ เคมีกรีนว่า หมายถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์เคมีที่ต้องการ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และสิ่งเวดล้อม โดยออกแบบสารเคมีให้ลดความเป็นอันตรายลง รอบตัวมนุษย์หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้ คือสารเคมีทั้งสิ้น สารเคมีทุกชนิดมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับว่าคุณสมบัติของสารว่าเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าใช้อย่างไรตลอดจนการจัดการ หากผู้ใช้มีความเข้าใจสามารถทำได้ถูกต้องตามข้อควรระวัง รู้จักป้องกันตนเอง การใช้งานก็จะไม่เกิดอันตรายเพราะสารเคมีที่เป็นอันตราย หากรู้จักวิธีจัดการและปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็จะใช้ประโยชน์ได้อย่างดียิ่ง ซึ่งหลักการของเคมีกรีน ต้องทำให้เกิดสมดุลกันใน 3 เรื่อง คือ ความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายและผลผลิตที่ได้ตามความต้องการ เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนและจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานสารตกค้างทางการเกษตร JMPR (FAO/WHO) และอดีตผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า  ประเทศไทยบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี ทั้งกลุ่มสารเคมีเกษตร อุตสาหกรรมและสาธารณสุข โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง นำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสม เพราะการนำสารเคมีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในกิจการต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึง “เคมี” มักจะถูกสังคมมองถึงด้านลบเพียงด้านเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเป็นผู้ร้ายของสังคม และถูกมองว่าเป็นสิ่งอันตราย เป็นภัยต่อผู้ใช้โดยส่วนรวม แต่เราทุกคนลืมไปหรือไม่ว่า “เคมี” ก็เหมือนกับเหรียญสองด้าน มีทั้งคุณและโทษ กรณีการแบน 3 สารเคมี ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเสต เป็นสารเคมีที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรเป็นอย่างมากในการกำจัดแมลงและวัชพืช โดยอ้างเหตุผล ว่า เป็นสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากมีการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง  ในวันนี้เราจึงตั้ง “เครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัย เพื่อการใช้เคมี อย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย”  (NSCU)  ซึ่งเกิดจากความมือระหว่าง หน่วยงานภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคการเมือง เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและยั่งยืนแก่สังคมไทย

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแบน 3 สารเคมี โดยอ้างว่าพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในน้ำดื่ม ที่ จ.น่าน เกินค่ามาตรฐานสากล รวมทั้งข่าว “โรคเนื้อเน่า” จากสารพาราควอต ที่ จ.หนองบัวลำภู รวมทั้งข่าวสารพาราควอตตกค้างในซีรั่มแม่และในขี้เทาทารกนั้น ทำให้สังคมตื่นตระหนกว่า หากปล่อยให้เกษตรกรไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก จะทำให้ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดวาทกรรม “สารพิษอาบแผ่นดิน”นั้น

เมื่อสืบค้นหาความจริงก็พบว่า น้ำดื่มเมืองน่านยังปลอดภัย แต่นักวิจัยอ้างค่ามาตรฐานผิดจากความจริง เมื่อลงพื้นที่หาสาเหตุโรคเนื้อเน่า เดือนธันวาคม 2562 โดยเก็บตัวอย่างตะกอนดินและน้ำไปวิเคราะห์ผล ก็ไม่พบสารพาราควอตตกค้างแต่อย่างใด โรคเนื้อเน่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนงานวิจัยพาราควอต ในขี้เทาทารก พบว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการในวิธีการทดลองของนักวิจัย ดังนั้น สมาคมฯ จึงเสนอให้มีการทบทวนมติการแบนพาราควอตใหม่อีกครั้ง

เพราะขั้นตอนการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่ขั้นตอนปกติของกรมวิชาการเกษตร นอกจากการแบนสารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทน ที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับพาราควอต ไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต

สหภาพยุโรปก็มีการแบนสารเคมี เช่น สารกำจัดวัชพืชกลูโฟซิเนต หลังได้รับข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีฯในเอเชียแปซิฟิค (PANAP) ตั้งแต่ปี 2551 ต่อมา EFSA ได้เริ่มขั้นตอนประเมินความเสี่ยงและพิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อพบว่า กลูโฟซิเนต เป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ระบบสืบพันธุ์และการเจริญของทารกผิดปกติ และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกการใช้ในปี 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินงานนานถึง 13 ปี ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวที่จะหาวิธีการหรือสารทดแทน และ phase out สินค้าออกจากตลาด

สำหรับประเทศไทย เมื่อสารพาราควอตถูกแบนไปเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เวลาเกษตรกรแค่ 90 วัน เพื่อนำพาราควอต มาส่งคืนเพื่อนำไปเผาทำลายภายใน 29 สิงหาคม 2563 แต่ อย. กลับผ่อนผันให้ภาคอุตสาหกรรมนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราควอตและมีค่าตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน CODEX ไปจนถึง 1 มิถุนายน 2564

ทำให้เกิดคำถามสำหรับผู้บริโภคว่า พาราควอตตกค้างนิดเดียวก็อันตราย แต่ทำไมยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารที่ปนเปื้อนพาราควอตมาให้คนไทยบริโภค สรุปว่าตกค้างไม่เกินมาตรฐานไม่อันตราย แต่ทำไมไม่อนุญาตให้เกษตรกรใช้ไปจนถึงปีหน้า ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้สารเคมี

และในระหว่างการผ่อนผัน ควรตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสองฝ่าย มาร่วมกันทบทวนหลักฐานที่ใช้ประกอบการแบนพาราควอตว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้งและความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

สมาคมฯ เห็นว่า การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร และสนับสนุนแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หรือเกษตรปลอดภัย จะเป็นทางออกที่ถูกต้องและยั่งยืนสำหรับภาคเกษตรไทย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความเห็นในมุมมองของนักพิษวิทยา ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นพิษได้ ในขณะเดียวกันทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นประโยชน์ สารเคมีเป็นทั้งยารักษาโรค และสารพิษได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารเคมีที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย สารเคมีเป็นได้ทั้งผู้ร้ายหรือพระเอก ขึ้นอยู่กับการใช้งานว่าถูกต้องหรือไม่ หากนำไปใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง สารเคมีจะกลายเป็นยา เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย หากใช้ในปริมาณมากหรือใช้ผิดวิธี สารเคมีก็จะกลายเป็นผู้ร้าย เป็นตัวอันตราย ฉะนั้นจึงอยู่ที่การบริหารจัดการเป็นหลัก

ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา พบ ผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืช ประมาณ 64% เกิดจากการนำสารเคมีไปทำร้ายตัวเอง 30% เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น เก็บสารเคมีไม่ดี ถ่ายภาชนะบรรจุลงในขวดเครื่องดื่มและเผลอกินเข้าไป ส่วนอีก 4% เกิดจากการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ในปริมาณมาก  สวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันตนเองไม่เหมาะสม ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องมีความรับผิดชอบในการใช้สารเคมี รวมทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้สารเองก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน

หากมีการนำสารเคมีตัวใหม่มาใช้ทดแทนสารเคมีตัวเก่าที่ถูกยกเลิกไป ผู้เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาความปลอดภัยของสารตัวที่จะนำมาใช้ทดแทนอย่างถ่องแท้ เพราะสารเคมีทุกอย่างในโลก เป็นได้ทั้งประโยชน์และโทษ ต้องดูให้ดีว่าจะเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบอย่างอื่นหรือไม่

กรณีแบน 3 สารแล้ว ไม่สามารถหาสารเคมีตัวใหม่มาทดแทนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้ผู้บริโภคอยากกลับไปใช้ของเดิม ปัญหาที่จะตามมาคือ 1.เกิดกระบวนการผลิตสารเคมีของปลอม ไปอยู่ใต้ดินแทนซึ่งจะทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น 2. ยังใช้สารเคมีตัวเก่า แต่นำมาปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่ทำให้ตรวจสอบควบคุมได้ยากขึ้น หากคนไข้ได้รับสารพวกนี้ ทางแพทย์จะวินิจฉัยโรคได้ยาก เพราะไม่สามารถบอกได้ว่ารับสารตัวไหน หรือรู้แต่ไม่กล้าบอก ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคนไข้ได้อีกเช่นกัน

ดังนั้น สารเคมี จึงเป็นเหรียญที่มี 2 ด้าน มีคุณประโยชน์และโทษคู่กัน ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ อ่านฉลากสารเคมีก่อนใช้งาน รู้จักสัญลักษณ์สารเคมี และสวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันตนเองก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เคมี  รวมทั้งใช้สารเคมีตามคำแนะนำและใช้ในปริมาณที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ลดการปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน