ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด วิสาหกิจชุมชนของกลุ่มคนกลับบ้านเกิดบ้านแม่ลาน จังหวัดแพร่

วิสาหกิจ ในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ อดีตผู้เขียนทำงานสหกรณ์หลายประเภท เกือบ 30 ปี สหกรณ์ก็เป็นวิสาหกิจรูปแบบหนึ่งที่เป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สมาชิกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

วิสาหกิจสหกรณ์ มีมาถึง 104 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 จวบจนถึงปัจจุบัน ต่อมาก็มีวิสาหกิจอื่นๆ อีกมาก ซึ่งวิสาหกิจชุมชนก็จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติฯ (แก้ไขเพิ่มเติม) เมื่อปี พ.ศ. 2562

Logo ของกลุ่ม

วิสาหกิจ : เป็นรูปแบบการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์เกี่ยวกับการผลิต การจำหน่าย และการขนส่ง

ชุมชน : เป็นกลุ่มคนที่อยู่รวมกันเป็นสังคมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ถ้ากล่าวถึง วิสาหกิจชุมชน ต้องอาศัยความในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน อธิบายไว้ว่า กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพันมีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวประกอบกิจการดังกล่าว…เพื่อสร้างรายได้และการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน

การต่อยอดผลิตภัณฑ์

วิสาหกิจชุมชน ถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนโดยนำคน ทุนต่างๆ ในชุมชนมาบริหารจัดการแล้วบูรณาการจนก่อเกิดเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างรายได้ เป็นเศรษฐกิจชุมชน

เศรษฐกิจชุมชนนั้น เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการผลิตเพื่อบริโภค ขาย จ่ายแจก ที่คนในชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมรับประโยชน์และเป็นเจ้าของ

การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์

“บ้านแม่ลาน” เป็นชุมชนหมู่บ้าน หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชน

– จำนวนประชากร 658 คน 204 ครัวเรือน

– อาชีพเกษตรกรรม (ทำนา ทำสวน) ร้อยละ 80

– ประมง เลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 10

– รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 10

คุณจันทร์บาน จันทร์แก้ว สมาชิกกลุ่ม

อาชีพเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองในชุมชนได้ในระดับหนึ่ง จึงก่อเกิดเป็นวงจรชีวิตเศรษฐกิจชุมชน

เพื่อให้คนในชุมชนบรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น เป็นวงจรเศรษฐกิจขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง

คุณเรณู นาระกันทา ขะมักเขม้นกับการตรวจงาน

กำเนิดวิสาหกิจชุมชนจากกลุ่มคนอยากกลับบ้านเกิด

คุณหทัยรัตน์ ขันแก้ว กล่าวว่า “ได้รู้ได้เห็นมาก่อนแล้วว่าคนที่บ้านแม่ลาน ทำงานฝีมือ การเย็บปักถักร้อยกันมานาน แต่ไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อน กับได้รับรู้จากคนหลายคนที่ไปทำงานต่างถิ่นแล้วมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิดเมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ก็คิดอยากจะกลับมาอยู่บ้านกันนะ แต่เกรงว่าการดำเนินชีวิตที่ต้องใช้ปัจจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงิน อาจไม่ต่อเนื่อง รวมถึงตัวเองด้วยที่อยากกลับมาใช้ชีวิตทั้งครอบครัวที่นี่”

คุณฤทัยทิพย์ จุมพิศ นายทะเบียน

คุณหทัยรัตน์ มองเห็นลู่ทาง ช่องทางการขาย การหาตลาด ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่คนในชุมชนผลิตขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถักทอด้วยมือ หรือแฮนด์เมด (handmade) ซึ่งแม่ของคุณหทัยรัตน์ก็ทำอยู่ก่อนด้วยแล้ว เห็นศักยภาพของคนบ้านแม่ลานในด้านงานฝีมือเย็บปักถักร้อยแล้ว คุณหทัยรัตน์ บอกเลยว่า โอเคนะ

เธอเองได้รับข้อมูลจากแม่ว่ามีหลายหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุนงบประมาณ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าหัตถกรรม แต่คนที่รับไปทำก็ยังต่างคนต่างทำ ทำเสร็จแล้วก็ต่างคนต่างนำไปขาย ได้ราคาแตกต่างกัน จึงอยากเห็นการรวมกลุ่ม ร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย ร่วมกันรับประโยชน์

คุณหทัยรัตน์ ขันแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชน

ทำไมต้องรวมกลุ่ม

คุณหทัยรัตน์ บอกว่า ก็มีคนอยากกลับบ้าน มาอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัวอย่างสามี ภรรยา ลูก พร้อมหน้าพร้อมตากัน บางคนที่ไปทำงานที่อื่นก็มีปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาการจ้างแรงงาน ก็อย่างที่บอกว่าเขากลัวไม่มีอาชีพ คำปรารภตรงนี้ ทำให้คุณหทัยรัตน์เกิดแรงบันดาลใจ จึงคิดต่อยอดจากกลุ่มแม่บ้าน เพื่อก่อเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้มีรายได้ คุณหทัยรัตน์ ได้เริ่มงานหัตถกรรมของตนเองก่อน ขายเอง ก็ขายได้ ตลาดตอบรับดี มีคนเห็นว่า ทำได้จริง มีรายได้จริง เมื่อมียอดขายมากขึ้น ผลิตไม่ทัน ก็เริ่มเชิญชวนคนบ้านใกล้เรือนเคียงมาช่วยงาน โดยคุณหทัยรัตน์ เป็นผู้ฝึกทักษะให้ ผลิตเสร็จแล้วก็จ่ายค่าแรงทันที

งานฝีมือ

คุณหทัยรัตน์ มีแนวคิดในการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของคนในชุมชน ความรู้ ความสามารถ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และทรัพยากรในชุมชนสามารถส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม ต่อมาก็มีนัดปรึกษาหารือกัน กลุ่มคนแรกเริ่ม 7 คน กลุ่มคนทั้ง 7 มีอะไรๆ ในใจตรงกันหลายอย่าง มีใจรักด้านหัตถกรรมเย็บปักถักร้อย ต้องการมีรายได้ ผลิตแล้วขายได้ ปัจจัยเหล่านี้ทั้งความมุ่งมั่น การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ความต้องการอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา การมีอาชีพ เป็นสิ่งเอื้อให้คนทั้ง 7 ตกลงตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2561 กับสำนักงานเกษตรอำเภอลอง ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือ” มีคณะกรรมการจำนวน 7 คน ประกอบด้วย

ประชุมสมาชิก
  1. คุณหทัยรัตน์ ขันแก้ว ประธานกรรมการ
  2. คุณนิสากร รอบวนาบรรพต รองประธาน
  3. คุณอุสา ปัญญาดี เหรัญญิก
  4. คุณดุรณี แก้วดำ การตลาด
  5. คุณเรณู นาระกันทา ประชาสัมพันธ์
  6. คุณทองสุข พิมแสน ปฏิคม
  7. คุณนฤมล วงษ์ประดิษฐ์ กรรมการ

ที่ทำการเลขที่ 137/1 หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผ้าซิ่นลายโบราณ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคง
  2. เพื่อส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น
  3. เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางหัตถกรรม
  4. เพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนและกลุ่ม
  5. เพื่อสร้างความสามัคคีและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
ผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ พร้อมจำหน่าย

ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน คุณหทัยรัตน์ แจกแจงให้ฟังว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ เป็นสินค้าแฮนด์เมด หัตถกรรมงานฝีมือและของฝาก ของที่ระลึก ได้แก่

  1. ผ้าซิ่นตีนจกโบราณ (ลายผ้าซิ่นถิ่นพญาเมืองลอง)
  2. ของฝาก ของที่ระลึก จำพวกพวงกุญแจ สร้อยคอ ต่างหู Keycover
  3. งานฝีมือจากเศษผ้าซิ่นตีนจก ผ้าพื้นเมือง
  4. ไม้กวาดดอกหญ้า
  5. กระเป๋า ย่าม

วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือได้ดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่ง นับว่ามีความเข้มแข็งพอควร มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตของตนเอง และผลิตภัณฑ์บางชนิดได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้วย

ฝึกทักษะงานฝีมือให้แก่สมาชิก

ที่ว่าวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือ มีความเข้มแข็งนั้น ประเมินจากอะไร? คุณหทัยรัตน์ บอกว่า ไม่ได้อิงหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานของหน่วยงานใด แต่มีสิ่งบ่งชี้ที่เป็นเชิงประจักษ์ในหลายด้าน ได้แก่

  1. ผู้นำ ทั้งตัวคุณหทัยรัตน์และกรรมการอีก 6 คน มีความตั้งใจ มีใจรัก ในงานหัตถกรรม งานฝีมือเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว
  2. ความสามัคคีของสมาชิกและคนในชุมชน เป็นหนึ่งเดียวกัน สมาชิกมีใจรัก มีความรับผิดชอบในงานที่รับไปทำและมีการแบ่งงานกันไม่เคยมีปัญหา
  3. มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตลาดตอบรับด้วยดี
  4. มีตลาดสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน
  5. ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ
  6. การเงินการบัญชีของวิสาหกิจชุมชนมีการบันทึกที่ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้
  7. มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  8. การบริหารจัดการกลุ่มที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการ
รับผลิตหน้ากากผ้าป้องกันโควิด-19

วิสาหกิจชุมชนมีเป้าหมายและมุ่งมั่นที่จะดำเนินวิสาหกิจ

ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

ด้านวัตถุประสงค์นั้น คุณหทัยรัตน์ บอกว่า โดยหลักการแล้วการมีวิสาหกิจชุมชนก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันทางการค้าเยี่ยงธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะเราผลิตผลิตภัณฑ์ด้วยการทอมือ แต่ต้องการให้มีการเสริมความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพึ่งตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องคน เงินทุน การจัดการ การตลาด

และเราต้องการให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ให้วิสาหกิจชุมชนมีรายได้แต่เพียงกลุ่มเดียว อีกอย่างหนึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ระดับสมาชิก ครอบครัว ให้มีสุขภาพที่ไม่เสี่ยงในเรื่องฝุ่นละอองจากโรงงานและโรคระบาด

ส่วนเป้าหมายนั้น เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีระดับมากขึ้น โดยยกระดับต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) มีการเล่าเรื่องราวหรือสตอรี่ (story) ของวิถีชุมชนไว้ในผลิตภัณฑ์ และเมื่อวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็งแล้วเราพร้อมที่จะผลิตสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก

หมายซิ่น หรือต่ออายุ

มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด

ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ คุณหทัยรัตน์ ให้ขอบข่ายถึงผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนต้องผลิตขึ้นด้วยฝีมือที่มีความประณีต คุณหทัยรัตน์ ย้ำว่า นี่เป็นภาพสะท้อนที่ได้มาจากคู่ค้าที่รับผลิตภัณฑ์ของเราไป สินค้าที่ผลิตขึ้นก็ส่งตรงตามที่ตกลงกัน สินค้าทุกชิ้นผ่านการตรวจสอบถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจะมีกรรมการมาตรวจสอบชิ้นงาน ลวดลาย การเย็บ การสอย สีสันเป็นไปตามที่กำหนด ความแน่นของการเย็บ-ทอ อีกครั้งหนึ่ง ก็ตรวจสอบโดยคุณหทัยรัตน์เองก่อนบรรจุลงหีบห่อ

การเกิดกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญ ในด้านการพัฒนาการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การไม่หยุดอยู่กับผลิตภัณฑ์เดิมๆ หรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งเพียงแค่นั้น และที่สำคัญ การมีใจรักในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาสู่สายตาของผู้มาเยือนและคู่ค้า

คุณเรณู นาระกันทา ผู้ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครตรวจคุณภาพผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน บอกว่า ผลงานทุกชิ้นของสมาชิกต้องผ่านการตรวจจากเธอด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเชื่อถือที่จะให้แก่ผู้ซื้อไม่ผิดหวัง ภารกิจในการตรวจสอบงานแต่ละชิ้นงานจะต้องตรวจ/วัดขนาด ได้สเปกตามที่ต้องการหรือตกลงกันไว้ ดูรูปทรง การวางตำแหน่ง รายละเอียดการเย็บ/ถัก ว่ามีความแน่นหนาหรือไม่ ต้องไม่มีรอยตำหนิ และดูความสะอาดด้วย จะไม่ปล่อยผ่านชิ้นงานออกไป เป็นสินค้าในชื่อของวิสาหกิจชุมชนต้องคำนึงถึงชื่อเสียงของกลุ่ม แต่ชิ้นงานส่วนใหญ่จะตรวจผ่าน มีซ่อมบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์/สินค้าทุกชิ้น ไม่เคยถูกตีกลับ หรือได้รับคำตำหนิจากลูกค้า/คู่ค้าเลย เธอบอก “ชิ้นงานของสมาชิกแต่ละคนมีความยาก-ง่าย แตกต่างกันต้องเคี่ยวเข็ญ เพื่อให้ผลงานมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะสมาชิกที่ฝึกทำ เพราะต้องการให้สมาชิกได้พัฒนาฝีมือ”

มีปริมาณผลิตภัณฑ์ที่มากพอที่จะส่งป้อนให้แก่คู่ค้า

ผลิตภัณฑ์หลักๆ ของวิสาหกิจชุมชน มีดังนี้

  1. ผ้าซิ่นตีนจกโบราณ
  2. ของฝาก ของที่ระลึก
  3. กระเป๋า ย่าม
  4. ผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากเศษผ้าซิ่นตีนจก ผ้าพื้นเมือง
  5. ไม้กวาดดอกหญ้า

และในช่วงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเราก็ได้รับออเดอร์จากหน่วยงานต่างๆ ให้ผลิตหน้ากากผ้าด้วย

ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น ได้รับการออกแบบโดยสมาชิกร่วมคิดค้น ร่วมกันทำ และจากการเสนอรูปแบบของคู่ค้า โดยแต่ละผลิตภัณฑ์ต้องการเสนอแนวคิดหรือไอเดีย (idea) ที่เป็นเอกลักษณ์ให้แก่ชุมชนและใช้ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านลวดลาย หรือแบบตามยุคสมัย จากภูมิปัญญาสากล ตามความเชื่อของแต่ละชาติพันธุ์ เป็นการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์หรือสินค้าตัวใหม่ๆ

“ผลิตภัณฑ์ของเรา จึงเป็นตัวบ่งบอกถึงบทบาทของวิสาหกิจชุมชนที่มีต่อคนในชุมชนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับความเป็นอยู่ของคน ขณะเดียวกัน ชุมชนก็ได้รับชื่อเสียงด้านหัตถกรรม ใครๆ ก็รู้ว่าถ้าอยากเห็น อยากซื้อสินค้าหัตถกรรม ก็ต้องมาที่บ้านแม่ลาน” คุณหทัยรัตน์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

แล้วมีผลิตภัณฑ์รายการใดที่เป็นตัวชูโรงของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้? “ผ้าซิ่นตีนจกค่ะ เรียกว่า ผ้าซิ่นถิ่นพญาเมืองลอง เป็นลายผ้าซิ่นที่แกะลายมาจากผ้าซิ่นตีนจกโบราณ”

ผมขอคำอธิบายเพิ่มเติม เพราะผ้าซิ่นตีนจกมีการผลิตกันหลายแห่ง แล้วผ้าซิ่นของบ้านแม่ลาน มีความเป็นมาอย่างไร มีอะไรเป็นจุดเด่น

คุณหทัยรัตน์ อธิบายย้อนอดีตไปเมื่อ 100 กว่าปีในสมัยเจ้าเมืองลอง คือเจ้าพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลององค์สุดท้าย จะพบเห็นมีการทอผ้าซิ่นตีนจกตามหมู่บ้านศูนย์กลางเมืองลองเท่านั้น ได้แก่ บ้านแม่ลาน บ้านห้วยอ้อ บ้านนาหลวง บ้านนาจอมขวัญ บ้านหัวทุ่ง บ้านนาตุ้ม บ้านปากกาง แต่ละหมู่บ้านมีช่างทออยู่ไม่กี่คน เพราะการทอผ้าแต่ละชิ้นใช้การฝึกฝนเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่จะสืบทอดกันมาทางสายตระกูล ดั่งเช่น บ้านแม่ลาน จะมีรุ่น แม่เจ้าบุญมา โลหะ แม่บัวคำ ไชยขันแก้ว แม่บัวจิ๋น ปิ่นไชยเขียว เป็นกลุ่มทายาทเจ้าเมืองลอง และก็มีการสืบทอดเป็นวัฒนธรรมการทอผ้าซิ่นตีนจกที่มีความสวยงาม นำมาแกะลวดลายและใช้สีสันตามแบบดั้งเดิม จึงทำให้เกิดเป็นผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ เรียกว่า “ลายผ้าซิ่นถิ่นพญาเมืองลอง”

ลายผ้าซิ่นดังกล่าวปัจจุบันได้รับอนุญาตจากทายาทรุ่นหลานของเจ้าพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือ เป็นผู้แกะลายและนำมาสืบทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

ส่วนประเด็นของลักษณะเด่นของผ้าซิ่นถิ่นพญาเมืองลอง นั้นบอกได้ว่ามีลวดลายสีสันสดใส สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวประกอบด้วย หัวซิ่น มีสีแดง มีเก็บรหัสหมายซิ่น ใช้แทนสัญลักษณ์ลูกระเบิด 3 ลูกของเมืองลอง (ต้นกำเนิดเมืองแพร่แห่ระเบิด) โดยสัญลักษณ์ดังกล่าว ใช้สีต่างๆ เป็นตัวกำหนดตัวเลข เช่น สีแดง-วันอาทิตย์ หมายถึงชื่อเสียง ลาภยศ เป็นต้น ตัวซิ่น สร้างลายโดยเส้นยืนทำให้เกิดลายทางขวางลำตัว เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ เรียกว่า ลายต๋ามะนาวเหลือง ตีนซิ่น ใช้เทคนิคการจกและสอด ถูกกำหนดโดยเส้นยืดดำและแดง ส่วนลายดอกใช้สีติดกันในกลุ่ม เป็นสีแบบโบราณตามเอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าซิ่นตีนจก หมายซิ่น ช่างทอจะจบลงด้วยลวดลายพิเศษเพื่อเป็นเครื่องหมายเฉพาะของผู้ทอ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ

ปัจจุบัน ลายผ้าซิ่นถิ่นพญาเมืองลอง ถือเป็นลายประจำหมู่บ้านแม่ลานเหนือ ที่ได้รับความนิยมและเผยแพร่สืบต่อกันมา มีทั้งลายดั้งเดิมและลายประยุกต์ โดยเพิ่มลวดลายอื่นๆ ผสมผสาน แต่ขีดความสามารถในการผลิตได้แค่เดือนละ 2 ผืน และต้องสั่งจองล่วงหน้า

มีตลาดที่แน่นอน และมีความหลากหลาย

ตลาดผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน อยู่ที่ไหน? คุณหทัยรัตน์ แจกแจงว่า ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนนั้น ตัวเธอเองเป็นผู้ผลิตและขายเอง ทั้งมี กศน.อำเภอลอง ช่วยเหลือในด้านการตลาด เมื่อมาถึง ณ ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ขายส่งให้แก่คู่ค้า หรือนำไปโชว์หรือออกงานของส่วนราชการ บางส่วนขายเองที่บ้าน ขายให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงาน เพราะที่นี่เป็น “ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพ” ด้วย ซึ่งดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น หัตถกรรม ปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาผลิตภัณฑ์

แนวทางการตลาดในอนาคต คือการนำผลิตภัณฑ์ส่งขายไปยังต่างประเทศที่ชื่นชอบสินค้าแฮนด์เมด แต่ก่อนจะสู่เป้าหมายดังกล่าว เรากำลังเพิ่มจำนวนคู่ค้าให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยว-พักผ่อนกัน หากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ เพื่อ 1. เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก 2. เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 3. สร้างชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์การทอมือ ผ่านการเล่าเรื่องวิถีชุมชนบ้านแม่ลานเหนือ บนผลิตภัณฑ์

เมื่อถามถึงสนนราคา คุณหทัยรัตน์ บอกว่า กำหนดราคาขายเอง อิงราคาตลาดที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือประเภทเดียวกัน แล้วบวกเพิ่มไม่เกินร้อยละ 10 ตั้งราคาผันแปรตามจำนวนชิ้น ขนาด ความละเอียด ความประณีตของชิ้นงาน และวัสดุที่นำมาใช้

มีสมาชิกที่มีจิตใจมุ่งมั่น คุณหทัยรัตน์ ให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 วิสาหกิจชุมชนมีสมาชิก 38 คน และมีเป้าหมายที่จะขยายสมาชิกเพิ่มเป็น 50 คน ในปี 2563 สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนได้รับประโยชน์จากการรวมกันเป็นหนึ่งของพลังวิสาหกิจชุมชน

  1. มีรายได้ ทั้งเป็นรายได้หลัก รายได้รอง และรายได้เสริม ส่งผลต่อความเป็นอยู่ คนในครอบครัวช่วยกันทำผลิตภัณฑ์ งาน 1 ชิ้นอาจช่วยกันทำทั้งพ่อ แม่ ลูก ก็เกิดรายได้ร่วมกัน เกิดความภาคภูมิใจเพราะทำได้จริง มีงานทำ หาเงินได้ เกิดพลังในตัวตน ตนเอง มีตัวอย่างคนสูงวัยอายุถึง 68 ปี ก็ยังมีพลังที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้แก่วิสาหกิจชุมชนตนเองรู้สึกว่ายังมีคุณค่า และมีรายได้ด้วย
  2. ได้รับการฝึกฝน ทักษะการทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ แบบ learning by doing จนเกิดความชำนาญ ผลลัพธ์ก็คือ เป็นองค์ความรู้ในการยกระดับผลิตภัณฑ์งานฝีมือของตนเองจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจรับรองคุณภาพทุกชิ้นงาน จึงเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอด วิสาหกิจชุมชนจึงเปรียบเสมือนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ไปด้วย
  3. การรวมกลุ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันขาย แทนการต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย สมาชิกและคนในชุมชนมีรอยยิ้ม เกิดความสามัคคีการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรี
  4. การมีวิสาหกิจชุมชนที่เป็นฐานความรู้ที่ได้รับการเติมเต็มจากการฝึกอบรม การไปศึกษาดูงาน แล้วก็ยังเป็นเวทีฝึกทักษะอาชีพทั้งสมาชิกและผู้สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเมื่อฝึกทำแล้วได้เป็นผลิตภัณฑ์ก็ยังขายให้กับวิสาหกิจชุมชนด้วย หรือถ้าไม่ขายก็จะจ่ายเป็นค่าแรงให้ แต่กับเด็กนักเรียนเราฝึกให้ฟรี เสร็จชิ้นงาน ให้นำกลับติดตัวไปได้ด้วย

คุณจันทร์บาน จันทร์แก้ว สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บอกว่า ตนเองเข้ามาเป็นสมาชิกตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะเห็นว่าวิสาหกิจชุมชน มีงานให้ทำ สามารถใช้เวลาหลังจากการทำไร่ทำนา มาทำงานเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว “วิสาหกิจชุมชน ช่วยเหลือดิฉัน ในด้านความรู้ ทักษะการเย็บ-ถัก-ทอ และครอบครัวมีรายได้เสริมไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทในปีที่ผ่านมา มีเงินเก็บออม และก็ชอบงานนี้เพราะเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือ ที่สำคัญมีความภาคภูมิใจว่าผลงานแต่ละชิ้นที่ผลิตออกมา เราทำได้ ทั้งได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่เพื่อนบ้านด้วย” เธอกล่าว

คุณจันทร์บาน ได้แสดงความเห็นถึงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในอนาคตว่า ควรจะมีงานมอบให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ เพราะถ้ารองานเกษตรอย่างเดียวมันเสี่ยงกับสภาวะลมฟ้าอากาศ การตลาด และอยากเห็นวิสาหกิจชุมชนเป็นที่พึ่งพิงให้แก่สมาชิกทั้งด้านรายได้ สวัสดิการ การจะทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขยายกิจการก็อยากเห็นสมาชิกร่วมกันลงทุนในรูปของเงินค่าหุ้นและการหักเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้านำเข้ากลุ่ม ขอฝากให้คณะกรรมการได้นำไปพิจารณาด้วย 

มีกฎกติกาที่ร่วมกันถือปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

คุณหทัยรัตน์ ชี้แจงว่า วิสาหกิจชุมชนของเราเคยกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การประชุมเพื่อชี้แจงผลการดำเนินงาน งบประมาณ โครงการต่างๆ แต่เราใช้กติกาทางจิตใจกันมากกว่า ใช้ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเครือญาติ เป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักกันดีตั้งแต่หัวบ้านยันท้ายบ้าน มองตาก็รู้ใจ กฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นตัวหนังสือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น จึงได้แต่เพียงแค่การใช้มิติทางจิตวิญญาณของคนวิสาหกิจชุมชน ในการร่วมมือกันพัฒนาให้เป็นสังคมชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข แบ่งปันและเอื้ออาทร บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จริงจากสมาชิกทุกคน

มีสถานที่ผลิตสินค้าของวิสาหกิจชุมชน

คุณหทัยรัตน์ แจ้งที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชน เลขที่ 137/1 หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ใช้เป็นที่ทำการ เป็นสถานที่ในการฝึกอบรม เป็นที่รวมของสมาชิกในการรับงานไปทำต่อที่บ้าน เมื่อผลิตเสร็จแล้วก็จะนำมารวมกันที่นี่เพื่อรอส่งมอบสินค้าให้แก่คู่ค้าต่อไป นอกจากนี้ สถานที่นี้ก็ได้แสดงบทบาทภารกิจในการเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกอาชีพให้แก่ชุมชนอื่นๆ หลายหมู่บ้าน ทั้งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ให้จัดกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพ อย่าง กศน.อำเภอลอง พัฒนาชุมชนอำเภอลอง สำนักงานเกษตรอำเภอลอง มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ สำนักงานเทศบาลแม่ลานนา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ทำให้สถานที่แห่งนี้มีกิจกรรมที่สมาชิกและบุคคลทั่วไป ทั้งที่มาศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้มีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่เกือบตลอดทั้งปี

วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือ เป็นวิสาหกิจชุมชนระดับชุมชนแบบพอเพียงประกอบกิจการโดยคณะบุคคล ยังสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นวิสาหกิจชุมชนแบบก้าวหน้าได้ เพื่อที่จะแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นหัตถกรรมแฮนด์เมดได้ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อพูดคุย ขอดูผลิตภัณฑ์หรือขอศึกษาดูงาน แจ้งไว้แล้ว หรือดูที่เพจ กลุ่มผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมบ้านแม่ลานเหนือ

คุณหทัยรัตน์ ขันแก้ว โทร. (095) 919-8910

เคยได้รับรางวัล (ผลงาน)

– ผู้ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมดิจิทัลชุมชน ปี 2561

– ภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้านดีเด่น รางวัลที่ 1

– Young Design รุ่นที่ 1 (Phrae)

– ได้รับเกียรติบัตร ซึ่งได้เป็นวิทยากรของ กศน.อำเภอลอง ด้านการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เป็นผู้มีความสามารถด้านหัตถกรรม “การประดิษฐ์ตกแต่งผลิตภัณฑ์จากผ้า”

และเป็นวิทยากรถ่ายทอดงานฝีมือให้แก่หน่วยงานต่างๆ อาทิ กศน. พัฒนาชุมชน เทศบาล สำนักงานแรงงาน มหาวิทยาลัย

ด้านสำนักงานเกษตรอำเภอลอง คุณฤทัยทิพย์ จุมพิศ เกษตรอำเภอลอง ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของเกษตรอำเภอในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และมุมมองบทบาทของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ว่า

บทบาทหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

สำนักงานเกษตรอำเภอลองได้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้การรวมกลุ่มได้รับการรับรองตามกฎหมายและมีสิทธิได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชนตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนดและตรงกับความต้องการของชุมชน

 มุมมองบทบาทวิสาหกิจชุมชน

  1. 1. วิสาหกิจชุมชนมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับบุคคลที่สนใจได้
  2. วิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนได้จริง ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน มีความหลากหลายและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานฝีมือ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ เพียงแต่อาศัยการฝึกฝน ทำให้สร้างอาชีพให้คนในชุมชนและทำให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้
  3. วิสาหกิจชุมชนน่าจะมีการต่อยอดกับส่วนราชการเพื่อความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ และการดำเนินกิจกรรมกลุ่มสู่ระบบสินค้าโอท็อป 5 ดาว
  4. ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความละเอียดและเวลาในการผลิต สมาชิกต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชน ในอำเภอ และจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
  5. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะต้องมีการอบรมต่อยอดความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการศึกษาดูงาน เพื่อนำสิ่งที่พบเห็นและเรียนรู้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้ดียิ่งขึ้นไป
  6. 6. คณะกรรมการกลุ่มและสมาชิกจะต้องมีการพบปะอย่างเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
  7. วิสาหกิจชุมชนควรเพิ่มช่องทางการขายของทางออนไลน์เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น และมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น และมียอดคำสั่งซื้อมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถกระจายงานให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างต่อเนื่อง

สำนักงานเกษตรอำเภอลอง โทร. (054) 581-486