กรมการข้าว เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

กรมการข้าว ลงพื้นที่ติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2563 ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ตำบลทุ่งหลวง อําเภอสุวรรณภูมิ จังหวดร้อยเอ็ด

นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว

นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า การผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด เป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมข้าวในโรงเก็บเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าว การผลิตข้าวอินทรีย์นอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยจากสารพิษแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย

นายคารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด

ด้าน นายคารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด เปิดเผยต่อว่า วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ก่อตั้งขึ้น ปี พ.ศ. 2555 เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในชุมชน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์จําหน่ายภายในชุมชน และเก็บไว้เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป

ต่อมา ปี พ.ศ. 2562 กลุ่มเกษตรกรได้สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2563 เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและกระจายเมล็ดให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้ภายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ มีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อลดต้นทุนในการผลิต กระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่ชาวนาอย่างทั่วถึง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวภายในชุมชน พัฒนาชาวนา และองค์กรชาวนาให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ เป็นกลุ่มที่จัดตั้งใหม่ได้รับการสนับสนุนเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จํานวน 9,645 กิโลกรัม โดยมี นางมัสสา โยริบุตร เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน บ้านโนนสวรรค์

นางมัสสา โยริบุตร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์

นางมัสสา โยริบุตร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีการผลิตข้าวจําหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด มีการแปรรูปข้าวจําหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวหอมมะลิ มีการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ไถกลบตอซังแทนการเผา ปฏิบัติตามเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ข้าวเปลือก (Grain) และเมล็ดพันธุ์ (Seed) มีการใช้เทคโนโลยีเครื่องหยอดข้าวแห้ง ปลูกปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบํารุงดิน การไถดะเพื่อกําจัดวัชพืช การใช้ปูนขาวปรับสภาพดินก่อนการเพาะปลูก ตลอดจนการใช้ปุ๋ยคอกปรับปรุงบํารุงดินเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้

นอกจากนี้ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด มีแนวทางส่งเสริมเกษตรกรให้มีการเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมีความต้านทานโดยธรรมชาติ รักษาสมดุลของศัตรูธรรมชาติ การจัดการพืช ดิน และน้ำ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของต้นข้าว เพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี มีความสมบูรณ์แข็งแรงตามธรรมชาติ และส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์เพื่อขยายตลาด สินค้าข้าวสุขภาพในแถบเอเชีย ยุโรป และจีน ต่อไป