แล้ง4เดือน!รับมือฝนทิ้งช่วง แห่ทำนาปรังทะลุ11ล้านไร่-4เขื่อนใกล้แห้ง

เตรียมรับมือ “แล้ง” เจอ 2 เด้ง ฝนทิ้งช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม ลากยาว 4 เดือน กระทบน้ำใช้ใน 4 เขื่อนหลัก เหลือน้ำแค่ 5,520 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ชาวนาไม่สนคำเตือน ลุยปลูกข้าวนาปรังทะลุ 11 ล้านไร่ กรมชลประทานต้องสั่งงดจ่ายน้ำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ส่วน กปน.-กปภ.ยันไม่กระทบน้ำกินน้ำใช้แน่

แม้สถานการณ์น้ำในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศรวมกันถึง 44,121 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาตรน้ำมากกว่า 7,515 ล้าน ลบ.ม.ก็ตาม แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญ 2 ประการ ที่จะมีผลต่อการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังที่เพิ่มสูงอย่างควบคุมไม่ได้ กับการเกิดปรากฏการณ์ El Nino อ่อน ๆ ทำให้ฝนน้อยลง และจะเกิดฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการกำหนดแผนและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจัดประชุมขึ้นที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นประธาน มีการคาดการณ์ว่า ฝนจะตกเร็วขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม แต่ข่าวร้ายคือฝนจะน้อยลงในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนและกระทบต่อน้ำต้นทุนในระยะถัดไปได้

ความเสี่ยงฝนทิ้งช่วง

ปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่4เขื่อนหลักของประเทศณ28 มีนาคม 2560 เขื่อนภูมิพล (2,286 ล้าน ลบ.ม. หรือ 24%), เขื่อนสิริกิติ์ (2,475 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37%), เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (376 ล้าน ลบ.ม. หรือ 42%) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (392 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41%) รวมกัน 5,529 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30% ต้องใช้ไปจนถึงฤดูฝนเดือนพฤษภาคมตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

แต่จากการคำนวณปริมาตรน้ำคงเหลือล่าสุดเบื้องต้นในกรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมมีแนวโน้มว่าน้ำในเขื่อนหลักทั้ง4เขื่อน “อาจจะ” ไม่เพียงพอความต้องการใช้ โดยเฉพาะการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกถึงแหล่งน้ำดิบที่ใช้ทำน้ำประปา ที่สำแล จ.ปทุมธานี จากปัจจุบันน้ำใช้การได้จริงอยู่ที่ 5,529 ล้าน ลบ.ม. หากระบายน้ำ 50-55 ล้าน ลบ.ม./วัน ผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้ามาถึงสำแล จะเหลือน้ำใช้การได้ ณ 1 พฤษภาคม ที่ 3,769 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

“ปัญหาในตอนนี้ก็คือ ความกังวลเรื่องฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แม้จะมีฝนตกบ้างเดือนพฤษภาคมแต่จะน้อย มากที่สุดน่าจะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์ ไม่เกิน 600 ล้าน ลบ.ม. หมายความว่าปริมาตรน้ำใช้การได้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 2,664 ล้าน ลบ.ม. พอเข้าสู่ฝนทิ้งช่วง 2 เดือนอย่างไรเสีย กรมชลประทานก็ต้องลดปริมาณการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลงให้ต่ำกว่าวันละ 50 ล้าน ลบ.ม. มากสุดไม่เกินวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. ถึงตอนนั้นปริมาตรน้ำใช้ได้จริง ณ สิ้นกรกฎาคมจะอยู่ที่ 264 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต่ำมาก”

นั่นหมายถึงปีนี้ประเทศไทยจะเกิดภัยแล้งขึ้นมา 2 ช่วง ได้แก่ ภัยแล้งตามฤดูกาลปกติในเดือนเมษายน กับภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะกระทบต่อน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคแน่

ห่วงน้ำเค็มรุกสำแล

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้พูดกันถึงภาวะน้ำเค็มที่รุกเข้ามาถึงสถานีสูบน้ำดิบเพื่อทำน้ำประปาที่สำแลแล้ว โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เกิดภาวะ “น้ำเค็ม” รุกล้ำเข้ามาเร็วกว่าปกติ มีค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลได้รับผลกระทบถึง 6 ครั้ง หรือค่าความเค็มของน้ำเกินมาตรฐาน 0.5-0.8 กรัม/ลิตรไปแล้ว

“ที่เป็นห่วงคือช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง หากกรมชลฯ ระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวมกันน้อยกว่า 50-55 ล้าน ลบ.ม./วัน จะมีปัญหาไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้”

นาปรังทะลัก 11 ล้านไร่

สำหรับการปลูกข้าวนาปรังในขณะนี้ ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้รายงานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังล่าสุด 11 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2559 ซึ่งมี 5.8 ล้านไร่ พื้นที่ที่มีการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ 22 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คิดเป็นสัดส่วน 50% ของพื้นที่นาปรังทั้งหมดของประเทศ เช่น ในจังหวัดสุโขทัย-อยุธยา-สุพรรณบุรี-ชัยนาท คาดการณ์ผลผลิตในพื้นที่ปีนี้จะมี 5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น 150% จากปีก่อน 2 ล้านตัน (ผลผลิต 600 กก.ต่อไร่)

งดส่งน้ำช่วยนาปรังแล้ว

ปริมาณการปลูกข้าวนาปรังที่ทะลักทะลายเช่นนี้ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาก โดยเฉพาะการระบายน้ำเพื่อการเกษตรไม่สามารถเพิ่มได้อีกแล้ว โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ควบคุมการปลูกข้าวนาปรังรอบ 3 ให้เหลือ 0 เนื่องจากปัจจุบันมีการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 มากกว่าแผนที่กำหนดไปแล้ว พร้อมทั้งขู่ว่า หากพื้นที่ใดปล่อยให้ทำนาปรังรอบ 3 จะลงโทษข้าราชการทุกคน

นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน ณ วันที่ 28 มีนาคม 2560 พบว่า เกษตรกรปลูกไปแล้วกว่า 7.46 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ปลูกมากถึง 5.35 ล้านไร่ ซึ่ง “เกินกว่า”

ล่าสุดกรมชลประทานลดส่งน้ำพื้นที่นาปรังแล้ว เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา และจะเริ่มงดส่งน้ำ 1 เมษายนนี้ หรือไม่ส่งน้ำให้นาปรังรอบที่ 3 เด็ดขาด แม้วต้องเฝ้าระวัง 1.5 ล้านไร่ ที่ยังรอเก็บเกี่ยว

“ในส่วนของลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2559/2560 ได้วางแผนการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก 5,950 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนอีก 3,764 ล้าน ลบ.ม. และจากการติดตามสภาพอากาศซึ่งจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง จำเป็นต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไปจนถึงสิงหาคม 2560”

ครม.ขยายชดเชยดอกเบี้ยโรงสี

ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศปัจจุบันจากปริมาณผลผลิต120,000ตันข้าวเปลือกส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว5% ประมาณ 70-80% ข้าวหอมปทุม 20% โดยโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด ตันละ 6,600-6,700 บาท, ข้าวแห้งตันละ 7,800-7,900 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกปทุมธานี เกี่ยวสดตันละ 7,300-7,500 บาท, ข้าวแห้งตันละ 9,000 บาท หากคำนวณเป็นต้นทุนการสีแปร เช่น ข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท แต่โรงสีขายได้เพียง 11,400 บาท ขาดทุนตันละ 600 บาท

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบงบประมาณ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเก็บสต๊อก งบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 614 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าชดเชยดอกเบี้ย ขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ อนุมัติหลังวันที่ 30 ก.ย. 59 วงเงิน 188.22 ล้านบาท อยู่ระหว่างการทบทวนการตรวจสอบเอกสารของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด 54.42 ล้านบาท ปีการผลิต 2559/2560 ประกอบด้วย ค่าชดเชยดอกเบี้ย วงเงิน 368.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการดำเนินการ 2.67 ล้านบาท ปริมาณสต๊อกข้าวที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะต้องชดเชยดอกเบี้ย เมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ 3.77 ล้านตันข้าวเปลือก ยังต่ำกว่าปริมาณสต๊อกเป้าหมายที่ 9 ล้านตันข้าวเปลือกภาระงบประมาณในการชดเชยดอกเบี้ย 937.50 ล้านบาท

กปน.ยันน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ

ด้านนางศรัณยา สีน้ำเพชร ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่าหลังจากที่ กปน.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือภัยแล้ง ล่าสุดจากการประเมินสถานการณ์และข้อมูลที่ได้รับจากกรมชลประทานชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก “มีเพียงพอสำหรับหน้าแล้ง” อีกทั้งปีนี้ปริมาณน้ำมีมากกว่าช่วงหน้าแล้งปี 2559 ที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคใน กทม. จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ กปน. “จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ที่น่าห่วงคือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสวนทุเรียน จ.นนทบุรี ที่ผู้ว่าฯนนทบุรีประสานมา ทางเราได้ผันน้ำคุณภาพดีจากโรงประปามหาสวัสดิ์ไปช่วยแล้ว” นางศรัณยากล่าว

ส่วนความเสี่ยงน้ำเค็มอาจมีบ้างช่วงน้ำขึ้นน้ำลงทุก 15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นข้างแรม แต่ประสานงานกับกรมชลฯตลอดเวลา น้ำดิบสำหรับผลิตประปาจึงยังไม่ได้รับผลกระทบ

กปภ.จับตา 4 สาขา

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ได้นำข้อมูลของกรมชลประทานที่ประกาศพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2560 จำนวน 105 อำเภอ 34 จังหวัด ซึ่งประเมินแล้วพบว่า ใน 105 อำเภอที่ กปภ.มีสาขาอยู่นั้น “ยังไม่มีปัญหา” เนื่องจาก กปภ.สาขาเหล่านี้อยู่นอกเขตชลประทาน เป็นสาขาเล็ก ๆ จึงมีบ่อน้ำและบ่อบาดาลเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังคงมี 4 สาขาที่มีความเสี่ยง คือ สาขา อ.พานจ.เชียงราย, สาขา อ.เลิงนกทาจ.ยโสธร, สาขา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และสาขา อ.บ้านบึงจ.ชลบุรี เนื่องจากทั้ง 4 สาขาอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ระหว่างทางอาจมีการแย่งสูบน้ำจากประชาชนในพื้นที่ จึงต้องเร่งสูบน้ำเข้ามาเก็บไว้ก่อน

“พื้นที่ให้บริการของ กปภ.โดยรวมแล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง เพราะเหลืออีกเพียง 1 เดือนก็จะหมดหน้าแล้งแล้ว และมีการประเมินที่ค่อนข้างแม่นยำว่า ฝนจะลงมาช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่วนช่วงปลายปีคือกันยายน-ตุลาคม ยังไม่มั่นใจว่าจะมีฝนหรือไม่ จึงต้องเร่งเก็บน้ำดีไว้ใช้เผื่อฤดูแล้งในปีหน้าด้วย” นายเสรีกล่าว