คณะประมง ม.เกษตรฯ เจ๋ง เตรียมปล่อยแอปพลิเคชั่น “นิล 4.0” เวอร์ชั่น 2 หนุนผลผลิตปลานิลหมื่นล้านบาทต่อปี ให้เกษตรกรเป็นคู่มือต่อยอดธุรกิจ

รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี อาจารย์ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากที่ในปี 2560 ทางคณะประมง ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “นิล 4.0” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาโปรแกรมการจัดการการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบแม่นยำสูงสำหรับปลานิล ภายใต้โครงการการปฏิรูปเกษตรกรไทยด้วยระบบดิจิตอลและเป็นแอปพลิเคชั่นที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการการเลี้ยงปลานิลได้อย่างครบวงจรนั้น ล่าสุดภายใต้โครงการเดียวกันนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชั่นนิล 4.0 เวอร์ชั่น 2 ซึ่งจะมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในเรื่องของการเตือนภัย เช่น กรณีของสภาพอากาศและจะเชื่อมโยงไปยังข้อแนะนำการให้อาหารปลา

“ความคืบหน้าการพัฒนาแอปพลิเคชั่นนิล 4.0 ในเวอร์ชั่น 2 ตอนนี้พัฒนาเสร็จแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการทดสอบและปรับแต่งระบบอีกเล็กน้อย อีกไม่นานจะสามารถเปิดใช้ได้ นอกจากนำ AI เข้ามาใช้มากขึ้นแล้ว ในเวอร์ชั่นนี้จะสามารถใช้กับโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการไอโอเอสได้ด้วย จากที่เวอร์ชั่นแรกจะอยู่ในระบบแอนดรอยด์เท่านั้น” รศ.ดร.วราห์ กล่าว

รศ.ดร.วราห์ กล่าวว่า พร้อมกับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเวอร์ชั่น 2 ได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปลานิลทั่วประเทศไว้ในเว็บไซต์เดียว โดยใช้ชื่อเว็บไซต์ “บิ๊กนิล” ซึ่งเว็บไซต์นี้จะเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชั่นเวอร์ชั่นใหม่ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าฐานข้อมูลที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลและทางการ โดยเฉพาะกรมประมง ในเดือนกันยายนนี้ได้มีนัดหารือที่จะนำเสนอให้กรมประมงนำฐานข้อมูลบิ๊กนิล และแอปพลิเคชั่นนิล 4.0 นี้ ไปขยายผลต่อให้ผู้เลี้ยงปลาได้ใช้ประโยชน์เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงปลาต่อไป

รศ.ดร.วราห์ กล่าวว่า ปัจจุบันปลานิลถือเป็นสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ โดยข้อมูล ณ ปี 2561 พบว่า จากผลผลิตน้ำจืดทั้งหมด 425,837 ตัน มูลค่ารวม 26,202 ล้านบาท พบว่าปลานิลและทับทิมเป็นสัตว์น้ำจืดที่ผลิตได้มากที่สุดที่ 216,600 ตัน คิดเป็น 50.86% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด และมีมูลค่าทางการค้ารวมต่อปี 10,141 ล้านบาท ส่วนสัตว์น้ำที่มีปริมาณการเลี้ยงและมูลค่ารองลงมาคือ ปลาดุก ผลผลิต 216,600 ตัน มูลค่า 4,666 ล้านบาท และกุ้งก้ามกราม 31,838 ตัน มูลค่า 7,907 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ปลานิลจะเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลจำนวนมากยังคงเลี้ยงปลาด้วยองค์ความรู้ดั้งเดิม มีภาระต้นทุนการเลี้ยงสูง และต้องแบกรับความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความไม่แน่นอนของรายได้ มีผลตอบแทนต่ำ และเสี่ยงต่อการขาดทุน ปัญหาดังกล่าวถึงเป็นที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชั่นนิล 4.0 และฐานข้อมูลบิ๊กนิลเพื่อให้ผู้เลี้ยงปลามีเครื่องมือในการบริหารจัดการการเลี้ยงได้อย่างครบวงจรและลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ลง

รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี

สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลหรือประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชั่นนิล 4.0 และฐานข้อมูลปลานิล “บิ๊กนิล” สามารถติดต่อ รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี อาจารย์ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. (02) 579-2924 หรือ ทางอีเมล [email protected]