คนรุ่นใหม่ทำเกษตร โดยใช้บัญชีนำทาง ช่วยวิเคราะห์ วางแผนการผลิตและกำหนดราคาสินค้าได้เอง

เกษตรกรวัย 35 ชาวจังหวัดสิงห์บุรี ผันตัวจากพนักงานโรงงานสู่อาชีพเกษตรกร โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทำเกษตรผสมผสาน และปลูกฝรั่งปลอดสารพิษ พร้อมนำข้อมูลทางบัญชีมาคิดวิเคราะห์และช่วยในการวางแผนการผลิต จนประสบความสำเร็จ ผลผลิตขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดและยังสามารถกำหนดราคาได้เอง

นายชยุตม์ โตสำราญ ครูบัญชีอาสาจากจังหวัดสิงห์บุรี และเป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์ม ระดับจังหวัด ประจำปี 2563 เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำการเกษตรผสมผสาน เคยทำงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ประมาณ 5-6 ปี จึงลาออกมา เพราะมองว่าการเป็นลูกจ้างก็เพียงทำงานให้เจ้าของกิจการรวย แต่เราเองมีเงินเดือนเท่าเดิม แค่พออยู่พอกินเท่านั้น ไม่มีเงินเก็บเงินออม อีกทั้งต้องการกลับมาดูแลแม่ที่สุขภาพไม่ดี จึงตัดสินใจกลับบ้านและเลือกที่จะเป็นนายของตัวเอง ด้วยการทำเกษตรผสมผสาน โดยน้อมนำแนวทางที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้

ซึ่งเมื่อค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบยั่งยืน ทำให้ได้หลักการที่ว่า หากทำการเกษตรแบบพืชผสมผสาน ปลูกทั้งพืชอายุสั้นและพืชอายุยืนผสมผสานสลับกัน ก็จะมีผลผลิตบริโภคและจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี เมื่อคิดได้ดังนั้นก็ตัดสินใจลงมือทำทันที ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำเกษตรแบบปลอดสารพิษเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวเราเองและผู้บริโภค เริ่มต้นจากปรับพื้นที่ จำนวน 3 งาน ปลูกฝรั่ง เพราะเห็นคุณยายข้างบ้านปลูกฝรั่งแล้วมานั่งขาย กิโลกรัมละ 10 บาท เพียงแค่ช่วงเช้าคุณยายก็ได้เงินกลับไปหลายร้อยบาท

จึงมีความคิดว่า หากเราจะปลูกบ้างก็ต้องขายได้เช่นกัน แต่จะปลูกคนละสายพันธุ์กับคุณยายเพื่อที่จะได้ไม่แย่งตลาดกัน ซึ่งคุณยายปลูกพันธุ์แป้นสีทอง ตนจึงหาฝรั่งพันธุ์กิมจูมาทดลองปลูก 50 ต้น แต่เนื่องจากต้องใช้เวลา 7-8 เดือน จึงจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ ระหว่างนั้น ก็ปรับพื้นที่ระหว่างต้นฝรั่ง ทำแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง แต่การปลูกฝรั่งใน 2 ปีแรกยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผลผลิตที่ได้น้อยมาก เฉลี่ยไม่ถึง 20 กิโลกรัม เพราะยังขาดประสบการณ์และความรู้ด้านการจัดการต่างๆ ที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ละความพยายาม ตัดสินใจเข้าหาแหล่งความรู้ทั้งหาหนังสือมาอ่านและขอคำแนะนำจากทางสำนักงานเกษตรอำเภอ ค่อยๆ เรียนรู้จนกระทั่งได้ผลผลิตฝรั่งกิมจูเพิ่มมากขึ้นและมีรสชาติดี โดยชูจุดขายการเป็นฝรั่งปลอดสารพิษ ปรากฏว่าช่วงแรกยังขายไม่ดีนัก เพราะลูกค้ายังไม่รู้ว่าฝรั่งที่ปลอดสารพิษกับไม่ปลอดสารพิษแตกต่างกันอย่างไร จึงนำผลผลิตมาให้ลูกค้าชิมบ่อยๆ จนลูกค้าเริ่มติดใจและขายดีขึ้นตามลำดับ ราคาขายฝรั่งก็เพิ่มขึ้นจากเคยขายได้ กิโลกรัมละ 10 บาท ก็เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 20 บาท และเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ จนปัจจุบัน กิโลกรัมละ 30-50 บาท

โดยช่องทางการตลาดในปัจจุบัน มีร้านจำหน่ายผลผลิตอยู่ในศูนย์การค้าท็อปส์ สาขาสิงห์บุรี ชื่อร้านกลุ่มผักดี๊ดี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกที่ทำเกษตรปลอดสารพิษ นำผลผลิตของตัวเองมาจำหน่าย และส่วนหนึ่งจำหน่ายผ่านเพจ ชยุตม์ฟาร์ม ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีทั้ง 2 ช่องทาง จึงขยายพื้นที่ปลูกฝรั่งเพิ่มเป็น 2 ไร่ครึ่ง จำนวน 200 กว่าต้น พร้อมกับปลูกพืชผสมผสานอื่นๆ เพิ่ม เช่น กล้วยหอม มะละกอ ผักสลัด ผักปลอดสารพิษ โดยผลผลิตจากสวนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP มาตรฐานออร์แกนิกส์ไทยแลนด์จากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ยิ่งตอกย้ำคุณภาพของผลผลิตจากสวน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

นายชยุตม์ บอกว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านี้ เกิดจากการวางแผนที่ดี โดยการนำข้อมูลทางบัญชีมาคิดวิเคราะห์ตั้งแต่เริ่มทำการเกษตรในปีแรกๆ โดยได้เข้าไปขอคำแนะนำความรู้ด้านต่างๆ ในการทำเกษตรจากทุกหน่ายงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนา แก้ไขปัญหาและหาวิธีลดต้นทุนการผลิต ซึ่งรวมถึงสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สิงห์บุรี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ได้เข้าไปขอรับคำแนะนำในการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ เมื่อลงมือจดบันทึก จึงทำให้เรารู้ต้นทุนการผลิตในทุกๆ กิจกรรมที่ทำ ทั้งค่าแรง ค่าปัจจัยการผลิต ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง เป็นต้น และเมื่อเรารู้ต้นทุนที่แท้จริงเหล่านี้ ก็จะทำให้เราสามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง หรือสามารถต่อรองกับพ่อค้าได้ การจดบันทึกทางบัญชีนอกจากจะช่วยให้รับรู้ รายรับ รายจ่ายแล้ว จะช่วยให้เรามีระเบียบวินัยในการวางแผนการใช้จ่ายที่เหมาะสม ทั้งในส่วนของการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลของการผลิต ว่าเราผลิตได้เท่าไร ส่งจำหน่ายที่ไหนบ้าง มีสต๊อกสินค้าเท่าไร มีการตีกลับสินค้าหรือไม่ เพราะเหตุใด สินค้าประเภทใดควรผลิตเมื่อไร เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดและจะขายได้ราคาดีในช่วงใด เป็นต้น และจากการให้ความสำคัญกับการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สิงห์บุรีเป็นพี่เลี้ยง จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นครูบัญชีอาสาเมื่อปี 2560 และในปี 2563 ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับจังหวัด อีกด้วย ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้ และพร้อมที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ทางบัญชีให้กับเกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วประเทศ

“เรื่องของบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเราจดบันทึกเป็นประจำจะทำให้เรารู้ตัวตนที่แท้จริงว่า มีรายรับ รายจ่ายเท่าไร จากทางไหนบ้าง โดยเฉพาะหากเรารู้ต้นทุนในการผลิตสินค้า เราก็จะกำหนดราคาสินค้าได้เอง เมื่อมีการต่อรองจากพ่อค้าเราก็จะรู้ราคาในระดับที่เราสามารถรับได้ ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ขาดทุนและมีกำไรเพิ่มขึ้น”นายชยุตม์ กล่าวทิ้งท้าย