บัวบก ผักสมุนไพรไทย ของขวัญจากผืนดิน

ในบรรดาพืชผักของไทย ที่นับเป็นสมุนไพรมากมายคุณค่า หลากหลายประโยชน์ จริงอยู่มีมากมายหลายชนิด และหนึ่งในบรรดาผักที่เป็นสมุนไพรนั้น “บัวบก” คงอยู่ในอันดับต้นๆ ที่คนไทยเรารู้จักมาเนิ่นนาน อาจจะเป็นผักตัวแรกด้วยซ้ำไป เห็นเป็นวลี เป็นคำเก่าที่ชาวบ้านนักแต่ง และครูเพลง จารึกไว้ถึงสมุนไพรแก้ช้ำใน ชอกช้ำ อกหัก ต้องรักษาด้วยน้ำต้มใบบัวบก ตราบทุกวันนี้ก็ยังให้ค่าใบบัวบกแก้ช้ำในกันอยู่

บัวบก ชื่อสามัญเรียก Gotu Kola เป็นพืชในวงศ์ UMBELLIFERAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centella asiatica (Linn.) Urban ชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นไทย ภาคเหนือและภาคอีสาน เรียก ผักหนอก ภาคใต้ เรียก ผักแว่น เป็นพืชล้มลุก อายุยืนหลายปี ลักษณะต้น หรือเถาเลื้อยตามผิวดิน มีข้อปล้อง ออกราก ใบ ดอก ผล เมล็ด ตามข้อ ใช้เป็นอาหาร เป็นผัก เป็นยาสมุนไพร และใช้นำไปขยายพันธุ์ปลูก

ลักษณะของใบบัวบก เป็นใบเดี่ยว มีก้านใบยาว ชูใบคล้ายกางร่ม ใบที่มีลักษณะกลม ฐานเว้าลึก คล้ายรูปร่างของไต ขอบใบหยัก ผิวใบเรียบ ด้านล่างใบมีขนสั้นบางๆ ดอก ออกเป็นช่อ ออกจากข้อ คล้ายร่ม มีข้อละ 2-3 ช่อ แต่ละช่อมีดอก 3-4 ดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ สีม่วงอมแดง และจะเจริญเป็นผลเป็นเมล็ด ขยายพันธุ์ต่อไปได้

บัวบกเป็นพืชเขตร้อน ชอบที่ลุ่มชื้นแฉะเล็กน้อย เช่น ตามขอบคันนา คันดินริมหนอง สระ คลองน้ำ ชอบแสงรำไร มีเถาเลื้อยไปตามผิวดิน บางทีเรียกว่า ไหล ส่วนนี้แหละที่ใช้นำไปปักชำ ขยายพันธุ์ปลูกต่ออายุได้ไปหลายฤดู ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เจริญเติบโตได้เร็วมาก

บัวบกปลูกแพร่พันธุ์ได้ตลอดปี แต่จะมีมากช่วงฤดูฝน ช่วงฤดูแล้งจะปรับตัวให้ใบเล็กลง ก้านสั้นลง แต่มีความแข็งแกร่ง ออกใบยอดเป็นกระจุกที่ข้อ ซึ่งคือลำต้นจริงของพืชชนิดนี้ เป็นทั้งจุดกำเนิดไหล ใบ ราก ดอก ทุกส่วนของบัวบกให้ประโยชน์แก่คนเราทั้งสิ้น

บัวบก ให้คุณค่าทางอาหาร และสารประกอบที่สำคัญมากมายหลายชนิด ตัดมาทั้งเถา ราก ต้น ใบ ดอก 100 กรัม เป็นผักที่ให้พลังงานแก่คนถึง 44 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 26 กรัม แคลเซียม 146 กรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 3.9 มิลลิกรัม วิตามินเอ 10962 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.24 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอะซิน หรือวิตามินบีสาม 0.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 4.0 มิลลิกรัม

บัวบกใช้เป็นผักเคียงอาหาร โดยใช้ต้น ราก เถา ใบ ดอกอ่อน แกล้มกับน้ำพริกต่างๆ กะปิคั่ว แกงเผ็ด ลาบ ก้อย ซุบหน่อไม้ ตำคั่วขนุน หรือยำมะหนุน กินกับหมี่กรอบ ผัดไทย คือว่าจะเป็นผักเคียง ผักแกล้ม ใช้แบบสดๆ รสชาติมัน ขมเล็กน้อย กลิ่นหอม

ตอนเก็บบัวบกมากิน เพียงแต่จับถอนต้นที่อยู่กลางๆ ตัดเถาด้านหนึ่ง ถอนต้นออกมา ยอดและเถาจะถูกถอนออกมาเป็นพวงยาว หลายยอด ล้างน้ำให้สะอาด รับประทานได้หมด แต่ถ้ายาวมากๆ ดูไม่สวย ก็เด็ดเถาเป็นช่วงๆ ก็ได้

อย่าลืมว่าทุกส่วนของบัวบกมีคุณค่า ให้ประโยชน์ทั้งหมด แต่ต้องล้างน้ำให้สะอาด ระวังไข่พยาธิ ไข่หอยทาก หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่อันตรายต่อร่างกาย และไม่อร่อยนัก มีความนิยมดื่มน้ำใบบัวบกกันมาก เขาว่าน้ำคั้นจากใบบัวบก ปรุงน้ำตาล ใส่น้ำแข็ง เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่นิยมแพร่หลายกันในขณะนี้

บัวบก พืชสมุนไพร คนจีนถือว่า น้ำใบบัวบกเป็นยาแก้ช้ำใน ทำให้เลือดกระจายตัว หายจากอาการฟกช้ำดำเขียว เป็นยาบำรุงกำลัง หมอไทยเรารู้มานานแล้วว่า บัวบกทั้งต้นเถา ราก ใบ ดอก มีสรรพคุณแก้อ่อนเพลียเมื่อยล้า บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงสายตา บำรุงสมอง เพิ่มความทรงจำ ลดอาการสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ บำรุงโลหิต รักษาภาวะโลหิตจาง รักษาแผลสด แผลหลังผ่าตัด ห้ามเลือด ถอนพิษไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้ช้ำใน ลดอาการอักเสบ

บัวบกเสริมสร้างและกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลาเจน และอิลาสติก ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นเปล่งปลั่ง ลดความเครียด คลายความกังวลซึมเศร้า แก้วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ บรรเทาอาการเจ็บคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด รักษาระดับความดันในร่างกาย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร คุณประโยชน์อีกมากมาย นับ 100 อย่าง

ถือเป็นความโชคดีของคนไทยที่ได้รู้จักได้สัมผัสพืชผักสมุนไพรจากดิน พรรณไม้ติดดิน สำหรับคนติดดิน เป็นของขวัญอันล้ำค่าที่ได้จากดิน สืบทอดถ่ายให้ความเชื่อศรัทธาในสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่มีใน “บัวบก” ภูมิใจร่วมกันกับของขวัญชิ้นนี้ บรรพบุรุษของเราค้นพบและสืบถ่ายส่งต่อให้กับเราในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันมีหลายคนหลายพงศ์เผ่า ได้เก็บรักษา พัฒนาต่อยอดสรรพคุณมากมายไม่สิ้นสุด เช่น ค้นพบหรือได้ไปจากแผ่นดินเรา ปรับเปลี่ยนจากความเป็นผักสมุนไพร โดยเพิ่มมูลค่าจากรูปลักษณ์ของพืชที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับบัวบก

เช่น เป็นไม้ประดับแบบกระถาง ที่ชื่อว่า “บัวบกโขด” ราคาและค่านิยมสูงพอสมควร หรือที่เป็นพรรณไม้จัดสวนหย่อม จัดกระถาง เช่น “แว่นแก้ว” และอื่นๆ อีกสารพัด ได้รับประโยชน์เชิงอารมณ์และจิตใจมากมาย แต่ “บัวบก”ก็ยังคงเป็น “บัวบก” ของขวัญจากผืนดินตลอดไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564