มหัศจรรย์สารพฤกษเคมี จาก “ใบชา” เสริมภูมิคุ้มกัน “สู้โรค” บำรุงสุขภาพ

น้ำชา ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องดื่มประจำวันของชาวจีนเท่านั้น แต่ใบชายังเป็นสินค้าเครื่องบรรณาการของชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณ การดื่มชายังเป็นงานศิลปะ มีประวัติยาวนานมากว่า 3,000 ปี คนจีนและชาวญี่ปุ่นมีพิธีชงชาสำหรับเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เพื่อแสดงมิตรภาพผ่านกาน้ำชา

ขณะเดียวกันคนจีนยกย่อง “ชา” ว่า เป็นเครื่องดื่มเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ขจัดโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยยืดอายุขัย นอกจากช่วยดับความร้อนในร่างกาย แก้กระหาย ขับปัสสาวะ ทำให้สมองปลอดโปร่ง สดชื่น ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้ว ยังแก้โรคท้องเสีย โรคบิด ลดไขมัน ลดความอ้วน บรรเทาอาการไอมีเสมหะ โรคหอบหืด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลต่อการเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ชะลอความแก่ ต้านโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ดื่มน้ำชายามท้องว่าง โดยเฉพาะน้ำชาที่เข้มข้น เพราะน้ำชาจะไปกระตุ้นกระเพาะอาหารอย่างแรง ทำให้รู้สึกไม่สบาย นอกจากนี้ การดื่มน้ำชา ระวังอย่าให้น้ำชาร้อนจัดหรือเย็นจนเกินไป จะไม่เป็นผลดี และไม่ควรดื่มน้ำชาตอนกลางคืนหรือก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนไม่หลับ

จากหนังสือ “สุขภาพ” อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสิทธิพงษ์ วงศ์จำปา (6 พฤศจิกายน 2553) ได้กล่าวถึง “น้ำชา เครื่องดื่มยับยั้งเชื้อโรค และป้องกันมะเร็ง ขจัดโรคภัย ยืดอายุ” โดยอ้างจากการค้นคว้าของกระทรวงสาธารณสุข ชาอูหลง และชาเขียว ล้วนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรค เช่น เชื้อ Staphylococcus sp., Bacillus cereus นอกจากนี้ น้ำชายิ่งเข้มข้นก็ยิ่งยับยั้งเชื้อโรคได้ดี ใบชามาจากใบ หรือยอดของใบชาอบแห้ง ตระกูลต้นชาป่า ซึ่งต่อมาก็พัฒนาสายพันธุ์จากแหล่งชาอื่นๆ ตลอดมา จึงกล่าวได้ว่า น้ำชา มีบทบาทเสริมความเข้มแข็งแก่การสูบฉีดโลหิตของหัวใจ สามารถยับยั้งเชื้อโรค ทำให้เลือดลมไหลเวียน สลายก้อนแข็ง ลดไขมันในหลอดเลือด ลดความอ้วน ฯลฯ

ชาอูหลง

นอกจากนี้ ยังมีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ชาอูหลงของจีน มีสรรพคุณขจัดอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะธาตุสังกะสี ซิลีเนียม ที่มีอยู่ในใบชา มีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งได้จริง สำหรับชาอูหลง ในภาษาจีนนั้น คำว่า “หลง” หมายถึง มังกร ส่วน คำว่า “อู” คือ เมฆดำ ทั้งนี้ คนจีนมีตำนานเกี่ยวกับชาอูหลงว่า สองตายายไปเจอต้นชาบนดอยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างคล้ายมังกรตอนมีเมฆดำลอยอยู่ “ชาอูหลง” จึงหมายถึง “ชามังกรดำ” ขณะที่สองตายายนั่งอยู่ใต้ต้นชา พวกเขาก็ลองเด็ดใบไม้มาเคี้ยวดู เคี้ยวเสร็จ เอ๊ะ! ทำไมมันชุ่มคอ พอเคี้ยวใบไม้ตัวนี้ พวกเขาไม่เคยเจอพิษเลย ก็แสดงว่า ชาอูหลงตัวนี้มันชุ่มคอด้วย แก้พิษได้ด้วย

Advertisement

สารพฤกษเคมีในใบชา

ผลการวิจัย พบว่า ใบชามีด่างชีวภาพที่ประกอบด้วยสารพิวรีน (Purine) มีสารกาเฟอีนเป็นหลัก ใบชาเขียวมีสารประกอบแทนนิน (Tannin) ประมาณ ร้อยละ 10-24 ส่วนชาแดง เนื่องจากผ่านการหมักมาแล้ว ปริมาณของสารแทนนินจึงน้อยลง เหลือประมาณ 6% สารกาเฟอีนในใบชาจะผสมและอยู่ร่วมกับสารแทนนิน ยอดอ่อนของใบชาในฤดูใบไม้ผลิ มีส่วนประกอบของสารกาเฟอีนค่อนข้างสูง ใบชาที่ผ่านการหมักจะทำให้อัตราส่วนกาเฟอีนอิสระมีปริมาณสูงขึ้น ตามหลักสรรพคุณทางเภสัชทราบกันว่า ชาเขียว น้ำชาใส และชาแดง ล้วนมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำให้หัวใจมีแรงสูบฉีดดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะชาเขียวมีฤทธิ์แรงกว่าชาชนิดอื่น รองลงมาคือ น้ำชาใส ส่วนชาแดงมีฤทธิ์น้อยที่สุด

Advertisement

สารกาเฟอีนในใบชาสามารถกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ทำให้สมองปลอดโปร่ง แจ่มใส สารบางชนิดในใบชาทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ช่วยบำบัดรักษาโรคหืดหอบ และอาการปวดถุงน้ำดี สารกาเฟอีนและสารอื่นๆ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ กาเฟอีนมีฤทธิ์โดยตรงต่อเซลล์น้ำย่อยในกระเพาะ กระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อย ชาไม่ควรกินกับยา ไม่ควรกินกับสมุนไพร เพราะมันจะแก้กัน จะล้างกันออกหมด คนที่กินยาถ้าจะดื่มชาต้องก่อนหรือหลัง 1 ชั่วโมง กินพร้อมกันไม่ได้ เพราะมันจะแก้กัน

หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ ชาเขียว (Green tea) สินค้าขายดียอดนิยม ความจริง ชาเขียว เป็นใบชาสดที่เก็บมาจากต้นชา แล้วนำมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ จนได้ใบชาแห้ง สีเขียวเข้ม จึงถูกเรียกว่า “ชาเขียว” ซึ่งลักษณะเด่นของชาเขียว คือ มีสารประกอบฟีนอล (Phenolic compound) มาก ช่วยป้องกันมะเร็งและต้านมะเร็งได้ ที่สำคัญชาเขียวมีสารพฤกษเคมี ชื่อว่า  EGCG ถึง 35-50% ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งการก่อตัวแบบผิดปกติของก้อนเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวายและลมชัก ลดอัตราเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดตีบได้ เรียกว่า ชาเขียว มีสารพฤกษเคมีมากกว่า ชาอู่หลง และชาดำ ที่ผ่านกระบวนการหมักใบชา เพราะ  ชาอู่หลงมีสาร EGCG แค่ 8-20% ส่วนชาดำจะมีสาร EGCG เพียง 10% เท่านั้น

การปลูกชา ที่ดอยแม่สลอง

ต้นชาเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีมานานแล้ว เช่น ชาป่า หรือ ชาอัสสัม มีต้นชาต้นใหญ่ๆ อายุนับร้อยปีก็เคยมี ชาอัสสัมจะมีรากแก้ว แข็งแรง ปลูกง่าย ดูแลง่าย การปลูกชาสามารถเก็บไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะตาย สูงก็ตัดให้มันต่ำ ปลูกชาครั้งแรกจะต้องดูแลมากหน่อย แต่ไม่ต้องเริ่มใหม่ เก็บไปได้ถึงลูกหลาน มีผลผลิตเรื่อยๆ ยอดชาที่เสียหาย 10 วัน ก็ขึ้นใหม่ ชาที่มีราคาสูงเป็นชาอูหลงก้านอ่อน ชาอูหลง เบอร์ 12 แล้วก็ชาอัสสัม ซึ่งมีราคาถูกกว่าชาชนิดอื่น

พื้นที่ปลูกชาของไทยส่วนใหญ่ จะเป็นหมู่บ้านชาวเขา การทำสวนชาหรือไปเก็บใบชาจะมีรายได้แน่นอนกว่าทำอย่างอื่น แม้คนที่มีสวนชา ถ้าดูแลงานของตัวเองเสร็จแล้ว ก็ยังสามารถไปรับจ้างที่ไร่ ที่สวนอื่นได้อีก เช่น ค่าจ้างเก็บใบชา ถ้าเจ้าของขายได้ กิโลกรัมละ 100 บาท ค่าเก็บจะได้ถึง 10 บาท

การผลิตชาตามธรรมชาติ ในการเก็บชาต้องรอให้น้ำค้างแห้งก่อน ถ้ามีน้ำค้างเกาะอยู่จะทำให้ใบชาช้ำ ออกแดง พอเก็บมาได้ 2 ชั่วโมง ก็ต้องเอามาผึ่งแดดให้แสงแดดฆ่าความเขียวของใบไม้ออกเล็กน้อย จะช่วยให้ยอดใบชานิ่มนวลขึ้น จากนั้นก็นำมาผึ่งในร่ม ประมาณ 9-10 ชั่วโมง กระจายความชื้นของน้ำออกไป ประมาณ 25-30% ถ้าเอาไปนึ่ง ความฝาด ความขม ตัวนี้จะถูกเก็บไว้หมด ชาเขียวจะรักษาความสด ถ้าเอาไปอบจะชุ่มคอ

ชาที่ผลิตบนดอยแม่สลอง มีหลายชนิดที่เรียกชื่อและราคาจำหน่ายต่อกิโลกรัมแตกต่างกันมาก เช่น ชาอูหลงก้านอ่อน กิโลกรัมละเกือบ 2,000 บาท ชาอูหลง เบอร์ 12 กิโลกรัมละเกือบ 1,000 บาท ชาชิงชิง 500-700 บาท ชานางงาม สูงกว่า 2,500 บาท ชาอัสสัม กิโลกรัมละ 300-400 บาท ส่วนชา 4 ฤดู กิโลกรัมละมากกว่า 2,000 บาท สำหรับชาเขียวราคาไม่เกิน 500 บาท

สำหรับผู้สนใจเรื่องใบชา การชงชา สามารถหาความรู้ประสบการณ์ได้บนดอยแม่สลอง และยังสามารถซื้อชาคุณภาพดีในราคาขายส่ง แต่หากผู้ที่อยากจะชงชาด้วยตนเองก็ต้องมีอุปกรณ์ชงชาซึ่งมีส่วนสำคัญ เพราะถ้าไม่มีหรืออุปกรณ์ไม่ดีในการชง ก็จะไม่ได้กลิ่นหอมเหมือนตอนชิมที่ร้าน อุปกรณ์ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนและไต้หวัน หากดูจากลักษณะภายนอกก็คล้ายกัน แต่คุณภาพไม่เหมือนกัน ไต้หวันจะดีกว่าและแพงกว่า สังเกตง่ายๆ ถ้ามาจากไต้หวัน ตัวหนังสือจีนบนกล่องบรรจุภัณฑ์จะไม่มีตัวย่อ แต่ถ้าจากประเทศจีนจะมีตัวย่อ

แนะนำเทคนิคการดื่มชา

การดื่มชา ควรดื่มให้ต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ดื่มหลังอาหาร จะช่วยล้างพิษออกจากร่างกาย คนในยุคปัจจุบันควรหันมาดื่มชาให้มากขึ้น พ่อ แม่ ควรสอนให้ลูกให้หลานดื่ม เพราะดื่มแล้วเด็กจะไม่อ้วน พ่อ แม่ ต้องชงเป็น ชงชาเย็นให้เขา ชาเย็นตัวนี้กับตามท้องตลาดไม่เหมือนกันนะ ตัวนี้ดีมาก ชงแล้วทิ้งให้เย็น ใส่ขวดปิดฝาให้สนิท เอาเข้าตู้เย็นเก็บไว้ได้ 1 สัปดาห์ วันหนึ่งดื่มครึ่งขวดก็ได้ประโยชน์มหาศาลแล้ว

หากอยากดื่มชาเพื่อสุขภาพ เราต้องทำเอง หรือถ้าอยากดื่มชาหวานก็ให้ใส่น้ำผึ้ง ไม่ให้ใส่น้ำตาล เพราะจะทำให้แสบคอ น้ำผึ้งจะช่วยเติมพลังให้เรา หากใครอยากจะกินชาลำไยก็ใส่ลำไย ชาลิ้นจี่ทำเองได้จากธรรมชาติไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

คุณเหม่ย ลิง ลู ประธาน บริษัท ชา 101 จำกัด เจ้าของไร่ชา 101 ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ “จากสวนสวย สู่ถ้วยน้ำชา” ระบุว่า การชงชา “น้ำ” สำคัญที่สุดคือ น้ำต้องไม่มีคลอรีน ทดสอบง่ายๆ เวลาชงชาให้ทิ้งไว้สัก 2 นาที ถ้าน้ำมีสีแดงและรสฝาด แสดงว่ามีคลอรีน อันดับสอง น้ำต้องเดือด 100-120 องศาเซลเซียส ถ้าใช้กระติกน้ำร้อนชงชา น้ำชาจะไม่อร่อย ใบชาจะไม่บาน สำหรับผู้เริ่มดื่มชา ขอให้คิดเสมอว่าดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นขอให้ดื่มชาดี ชาดีโดยธรรมชาติจะมีความหอมในตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้กลิ่นอื่นช่วย

รสชาติของน้ำชา ถือความนิ่มนวลของน้ำชาเป็นหลัก ราคาจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ราคาขายปลีก กิโลกรัมละตั้งแต่ 1,500-2,500 บาท แล้วแต่สายพันธุ์

หากเป็นชาฤดูหนาวราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาท เพราะฤดูหนาวบ้านเราจะอยู่หลักเกณฑ์การผลิตชาที่ดี การเก็บชาจะเก็บ 2 ใบ 1 ยอด ยอดกับก้านจะให้รสฝาด ใบแรกรองจากยอดจะให้รสขม ใบที่สองจะให้ความหอม เราก็จะได้ความฝาด-ขม-หอม รวมเป็นหนึ่ง ถ้าเราเอาเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งมันก็จะไม่สมบูรณ์ มีผู้รู้ในวงน้ำชาได้กล่าวไว้ว่า “การดื่มชาทำให้ใจสงบ สุขุม คัมภีรภาพ เพราะไม่เมา” ชาจึงเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้คนในโลกปัจจุบันอันสับสนวุ่นวาย

คนที่เริ่มหัดดื่มชา ควรเริ่มจากชาเขียวที่รสชาติไม่เข้มมากนัก ถ้าซื้อฝากผู้ใหญ่ ควรเป็นชาที่ช่วยลดความดัน อย่าง ชาอูหลงก้านอ่อน เบอร์ 12 กากชาที่ชงแล้วนำไปแช่น้ำให้อ่อนตัว แล้วชุบแป้งทอดได้ ตากแห้งนำใส่ตู้เสื้อผ้าขจัดกลิ่นอับ หรือยัดเป็นไส้หมอนหนุนก็รักษาโรคไมเกรนได้ ทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ก็งามดี

หมอนใบชา

เคล็ดลับเลือกซื้อกาน้ำชา

กาน้ำชา เป็นคำที่คุ้นเคยตลอดมา แต่ยุคสมัยต่างๆ มีเรียกกันตั้งแต่ ปั้นชา, ป้านชา รูปทรงก็อาจจะเปลี่ยนผันตามสมัยนิยม จากแบบทรงกลม ทรงเหลี่ยม และทำจากดินเผา เซรามิก หรือแก้วพอร์ซเลน ภาชนะที่ใช้สำหรับดื่มชาเปลี่ยนตามรูปแบบของชาที่ดื่ม สมัยราชวงศ์ถัง เป็นชามดินเผาเคลือบ ราชวงศ์หยวน การชงชาโดยการกรองเอาเฉพาะน้ำชา ปั้นชาใบแรกเชื่อกันว่ากำเนิดในสมัยฮ่องเต้ เจิ้นเต๋อ ราชวงศ์หมิง

ปั้นชาเดินทางมา “สยาม” เพราะเป็นเส้นทางการค้าผ่านสู่ประเทศอื่นๆ ต่อไป แต่มีการสั่งทำโดยการออกแบบจากสยามก็มี และมีการหุ้มเลี่ยมส่วนเปราะบางด้วยโลหะมีค่าก็มี เปลี่ยนหูจับเป็นโลหะแทนหวาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีห้างต่างๆ สั่งปั้นชาจากจีนเข้ามาขาย โดยใช้ยี่ห้อตนเองหลายห้าง ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของห้างเป็นระดับ “พระยา” ปั้นชาที่อาจจะมีฝาหลวมนิดหน่อย แต่ดินดี ผิวดินมีความพรุน จะทำให้กระจายความร้อนของน้ำชาได้ดี

ปั้นชาโบราณ

เจ้าของร้านชาขาวเขียว ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกกาน้ำชา โดยพิจารณากาน้ำชาจากคุณสมบัติต่อไปนี้

– ใส่น้ำให้เต็มแล้วปิดรูบนฝากาให้สนิท ถ้าเทน้ำไม่ออกแสดงว่ากานั้นดี

– เมื่อเทน้ำออกจากกา ไม่ว่าจะทำมุมเอียงมากหรือน้อย น้ำจะไม่ไหลย้อนออกมาตามพวยกา

– ปิดฝาให้สนิทแล้วลองเป่าพวยกา ถ้าไม่มีลมออกแสดงว่าดี ใช้ได้

– ปิดฝาแล้วคว่ำกาลง ทุกส่วนจะเสมอกับพื้นตั้งแต่ พวยกา ตัวกา และหูกา

อย่างไรก็ตาม กาชาที่ดีที่สุดวัดจากความหนาของคราบชาที่ติดในกาคือ การใช้งาน หากใครอยากมีสุขภาพดี ควรจิบน้ำชาร้อนบ่อยๆ ขอให้ทุกท่านดื่มชาอย่างมีความสุข และมีสุขภาพแข็งแรงทุกวัน