กศน.ชู “ราชบุรี” เป็นต้นแบบ Digital Library พร้อมส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

การขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน.WOW ทำให้กระบวนการเรียนการสอนของ กศน.ในยุคนี้มีความทันสมัย เอื้อต่อการเรียนรู้ ได้ทุกที่ทุกเวลา มีกิจกรรมที่หลากหลาย น่าสนใจ ตอบสนองความต้องการของชุมชนช่วยพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของประชาชน เปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนเข้าร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนนำไปสู่การจัดการความรู้ของชุมชนอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีแหล่งการเรียนรู้ประเภทห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 920 แห่ง แบ่งเป็นห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” 105 แห่ง ห้องสมุดประชาชนจังหวัด 69 แห่ง หอสมุดรัชมังคลาภิเษก วังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1 แห่ง และห้องสมุดประชาชนอำเภอ 745 แห่ง

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในการใช้ชีวิตประจําวันคนไทยเพิ่มมากขึ้น และมีนวัตกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากมาย ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลสารสนเทศอย่างกว้างขวาง เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงความรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ กศน. พัฒนาห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” จำนวน 105 แห่ง ให้เป็น Digital Library เปิดให้บริการ Free Wi-fi บริการหนังสือในรูปแบบ e-Book บริการคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเพื่อการสืบค้นข้อมูล ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน.WOW

“ราชบุรี” ต้นแบบ Digital Library

ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2563 ดร. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park หน่วยงานภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อกระจายความรู้ให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ และบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมสนับสนุนสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองราชบุรี ในรูปแบบ Digital Library

สำนักงาน กศน. ได้คัดเลือกห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ให้เป็นต้นแบบ Digital Library แห่งแรกของประเทศ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้กรณีศึกษาต้นแบบของห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ แต่ละวันจะมีหน่วยงาน/สถานศึกษาต่างๆ แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองราชบุรี ติดตั้งสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ มีทั้ง Smart TV, Computer และ Tablet สำหรับใช้ในการอ่าน และบริการการเรียนรู้ในระบบ Digital มีบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดประชาชนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ผ่าน QR Code และมีบริการหนังสือในรูปแบบ E-book มีคลังความรู้ดิจิทัล โดยรวม Link เว็บไซต์จากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บไซต์ห้องสมุดแห่งนี้ เช่น หอสมุดแห่งชาติ TK Park หอสมุดดำรงราชานุภาพ ห้องสมุดมารวย ฯลฯ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคลังปัญญาได้อย่างง่ายดาย

ห้องสมุดมือถือ ใช้งานง่าย สะดวก สบาย
ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยม กศน.อำเภอโพธาราม

ภายในห้องสมุดฯ มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านและการเรียนรู้ มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือสัญญาณ Wi-Fi ที่เสถียร ทำให้นักศึกษาและประชาชนเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย เอื้อต่อการเรียนรู้ Good Place – Best Check in ทำให้จังหวัดราชบุรี กลายเป็นสังคมอุดมปัญญาได้อย่างยั่งยืน

ร่วมอนุรักษ์งานศิลป์ อยู่คู่ชาติไทย

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายให้ กศน. ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามแก่นักศึกษา กศน. เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสานศิลปะและวัฒนธรรมไทยให้อยู่คู่กับประเทศไทยตราบนานเท่านาน ตามแนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยม กศน.อำเภอโพธาราม

ที่ผ่านมา ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ดร. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. นายวราวุธ พยัคฆพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบัน กศน.ภาคกลาง มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจชาว กศน.อำเภอโพธาราม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย : Good Partnerships เพื่อจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การจัดการเรียนรู้ชุมชน สร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

การเล่นหนังใหญ่ ที่โรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอม

“จังหวัดราชบุรี” มีความหลากหลายทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี อันเป็นลักษณะเด่นของท้องถิ่นสืบทอดมาแต่สมัยอดีต ยกตัวอย่างเช่น “หนังใหญ่” มรดกทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของอำเภอโพธาราม ที่ผสมผสานจากศิลปะ ถึง 5 แขนง ได้แก่ 1. หัตถศิลป์ หมายถึง งานหัตถกรรมของช่างฝีมือชั้นครูที่ทำตัวหนังใหญ่ 2. นาฏศิลป์ เป็นศิลปะการเชิดหนังใหญ่ นอกจากดูตัวหนังใหญ่แล้ว ท่าทางการเชิดก็เป็นเสน่ห์ที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าชมด้วยเช่นกัน 3. คีตศิลป์ คือ เครื่องดนตรีประกอบการแสดง 4. วาทศิลป์ คือ เสียงคนพากย์และเจรจาระหว่างการเชิดหนังใหญ่ 5. วรรณศิลป์ คือ บทประพันธ์ “รามเกียรติ์”

วัดขนอน นับว่ามีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และเผยแพร่หนังใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้หนังใหญ่ มรดกไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก ทำให้เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 วัดขนอน ได้รับรางวัลจากยูเนสโก (UNESCO) และได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอม ผู้นำชุมชนสืบสานอนุรักษ์ “หนังใหญ่
ช่างฝีมือชั้นครู โชว์วิธีการทำหนังใหญ่

กศน.อำเภอโพธาราม สำนักงาน กศน.จังหวัดราชบุรี มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและร่วมอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหนังใหญ่วัดขนอม เปรียบเสมือนมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย ที่สืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี นอกจากนี้ ทาง กศน. ได้จัดกิจกรรมตามรอยศิลปวัฒนธรรมไทย โดยอบรมความรู้เรื่องการพิมพ์ลวดลายตัวละครรามเกียรติ์บนเสื้อผ้า เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้นำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพอีกทางหนึ่ง