ที่ปรึกษา รมว.อว./คณะกรรมการบอร์ดบริหาร วว. เยี่ยมชม ติดตามการดำเนินงาน ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วว.

รศ.ดร. จักษ์ พันธุ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร. พสุ โลหารชุน ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมคณะกรรมการบริหาร วว. เยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงาน ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ วว. โอกาสนี้ ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมผู้บริหารและบุคลากรร่วมให้การต้อนรับ โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้รับใบรับรองมาตรฐาน GMP จากบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ในขอบข่ายกระบวนการคัดบรรจุสับปะรดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (Good Manufacturing Practices for Packing House of Fresh  Fruits and Vegetables) มกษ. 9035-2553 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ตามวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อช่วยยกระดับศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสับปะรดให้มีประสิทธิผล โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีเงินทุนและความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำ และเพิ่มโอกาสทางการตลาดส่งออกสำหรับสับปะรดผลสด ช่วยปิดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรดส่งออกของไทย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดไทยให้ก้าวไกลสู่การค้าในเวทีโลก

เนื่องจากศูนย์ฯ แห่งนี้มีศักยภาพในการผลิตสับปะรดผลสดส่งจำหน่ายต่างประเทศ ขนาดกำลังการผลิต 3 ตัน ต่อชั่วโมง เป็นโรงคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร ที่สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่และเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงานของผู้ผลิตผู้ประกอบการสับปะรดจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังสามารถประยุกต์ต่อยอดการใช้ประโยชน์กับการผลิตผลไม้อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และใกล้เคียง (ในวันที่ 13 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

อนึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นหน่วยงานวิจัยแห่งแรกๆ ของประเทศที่ได้ดำเนินงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้สดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสด ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการคัดบรรจุผลสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก ผลของอุณหภูมิต่ำในการเก็บรักษาที่มีผลต่อลักษณะอาการไส้ดำของผลสับปะรดสดสายพันธุ์ต่างๆ การลดปัญหาการเกิดอาการไส้ดำด้วยสารเคลือบผิวผลไม้และการเก็บรักษาโดยการควบคุมสภาพบรรยากาศ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพโดยการใช้พันธุวิศวกรรมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์เพื่อแก้ไขปัญหาไส้ดำในผลสับปะรด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสับปะรดเพื่อการขยายพันธุ์และเพื่อการส่งถ่ายพันธุกรรม และล่าสุดได้ทำการศึกษาความทนทานของสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ที่มีต่ออาการไส้ดำและการจัดทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอสายพันธุ์สับปะรดในประเทศไทยเพื่อการขึ้นทะเบียนพันธุ์ ดังนั้น วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์จึงมีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก ให้แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ ตลอดจนมีความพร้อมที่จะดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลสับปะรดสดของในอนาคต