สวทช. ผนึกจังหวัดอุดรฯ หนุนแหล่งท่องเที่ยวไม้ดอกแห่งใหม่ ชู “ปทุมาห้วยสำราญ” สายพันธุ์ใหม่จากงานวิจัย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี และเครือข่ายพันธมิตร พัฒนาพื้นที่ชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ ชมความงามไม้ดอกได้ตลอดปี สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน ประเดิมจัดงาน “ปทุมาเบ่งบาน เที่ยวห้วยสำราญสุขใจ” ชมความงามปทุมาหลากสายพันธุ์ถึง 31 ตุลาคมนี้ พร้อมเปิดตัว “ปทุมาห้วยสำราญ” ไม้ดอกหน้าฝนสายพันธุ์ใหม่

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง สวทช. และจังหวัดอุดรธานี ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดอุดรธานี สอดคล้องกับแผน นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาของจังหวัดที่จะยกระดับความเป็นเมืองท่องเที่ยวของจังหวัดนั้น สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จึงได้ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ ตำบลหนองไฮ อำเภอเมืองอุดรธานี พัฒนาพื้นที่ของชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของจังหวัดอุดรธานี โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับกลุ่มใหญ่ของจังหวัดอุดรธานี และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในช่วงฤดูไม้ดอกผลิบาน เว้นแต่ในช่วงฤดูฝนที่ยังขาดพันธุ์ไม้ดอกที่หลากหลาย ดังนั้น เพื่อให้การท่องเที่ยวมีความต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี สท. จึงได้ร่วมกับนักวิจัย สวทช. และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปทุมาให้กับกลุ่มฯ ทำให้สมาชิกกลุ่มฯ รู้จักไม้ดอกชนิดนี้มากขึ้น ทั้งสายพันธุ์ วิธีการปลูก การเก็บหัวพันธุ์จำหน่าย ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากดอกปทุมา ซึ่งปทุมาเป็นไม้ดอกที่ผลิบานในช่วงฤดูฝน มีความเหมาะสมที่จะใช้ปลูกในพื้นที่ท่องเที่ยวได้ อีกทั้งยังเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สามารถปลูกเป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอกขายหรือจำหน่ายหัวพันธุ์ได้ ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกหัวพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านหัว ต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท ต่อปี (ข้อมูลเฉลี่ยปี 2559-2561) นอกจากนี้ นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และห้างหุ้นส่วนจำกัด ลัคกี้ซีดส์ อโกร ยังได้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปทุมาหลายสายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้ “โครงการพัฒนาไม้ดอกสกุลขมิ้นเพื่อการค้าพันธุ์ใหม่” โดยหนึ่งในสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ได้มอบให้กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ และตั้งชื่อว่า พันธุ์ห้วยสำราญ ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่นี้ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการออกแบบพื้นที่ (landscape) ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมต่อการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สมบูรณ์แบบอีกด้วย”

รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า จากการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตปทุมาให้กับกลุ่มเกษตรกร นอกจากความรู้และความเข้าใจการผลิตไม้ดอกชนิดนี้ที่สามารถปลูกจำหน่ายทั้งในรูปแบบตัดดอก ไม้กระถาง หรือจำหน่ายหัวพันธุ์แล้ว หากยังเกิดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ในช่วงฤดูฝน สร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งการจัดงาน “ปทุมาเบ่งบาน เที่ยวห้วยสำราญสุขใจ” ระหว่างวันที่ 11 กันยายน-31 ตุลาคม 2563 จะเป็นมิติใหม่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผู้เข้าชมงานจะได้รับทั้งความรู้และชมความสวยงามของไม้ดอกปทุมา

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับกลุ่มใหญ่ของจังหวัดอุดรธานี มีสมาชิก 104 ราย ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายพันธุ์ เช่น มะลิร้อยมาลัย เบญจมาศ ดาวเรือง ดอกพุด คัตเตอร์ กุหลาบร้อยมาลัย เป็นต้น เกษตรกรมีทักษะการผลิตไม้ตัดดอกและต้องการไม้ดอกพันธุ์ใหม่ๆ ที่ปลูกในหน้าฝนได้และสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าไม้ดอกไม้ประดับในรูปแบบอื่น

“ความร่วมมือกับ สท./สวทช. ทำให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปทุมา ซึ่งเป็นไม้ดอกหน้าฝนที่คุ้นเคย แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจทั้งเรื่องสายพันธุ์ การปลูก การใช้ประโยชน์ ที่สำคัญช่วยเพิ่มชนิดไม้ดอกที่จะสร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มฯ ได้เปิดให้ท่องเที่ยวชมแปลงไม้ดอกไม้ประดับฤดูหนาวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ สร้างรายได้ให้ชุมชนได้กว่า 2 แสนบาท การพัฒนาพื้นที่บ้านห้วยสำราญให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ตลอดทั้งปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกรมชลประทานในการปรับปรุงและใช้พื้นที่โดยรอบ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรนอกเหนือจากปลูกไม้ดอกส่งขายอย่างเดียว หากยังยกระดับการผลิตสินค้าทางการเกษตรและความเป็นเมืองท่องเที่ยวของจังหวัดอีกด้วย”

ดร. ธราธร ทีรฆฐิติ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ปทุมาสายพันธุ์ห้วยสำราญ ที่พัฒนานี้ มีลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือ สีสดใส แตกกอดี เหมาะสำหรับเป็นทั้งไม้ตัดดอกไม้กระถางและไม้ประดับแปลง

“ตลาดไม้ดอกไม้ประดับแหล่งใหญ่ของโลกอยู่ที่ยุโรป โดยมีเนเธอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางตลาดที่สำคัญ ปทุมาของไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ปทุมาให้มีสีสัน รูปทรง และการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกับไม้ดอกปทุมามีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มตลาดยุโรปต้องการปทุมาพันธุ์ใหม่ที่มีขนาดต้นเล็กลง เป็นทรงพุ่ม/กอ และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่ทำให้ได้ต้นพันธุ์สะอาด ตรงตามสายพันธุ์ และเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว”