“ท็อปส์” หนุน “CSV” ชุมชน ดันสินค้า GI นำร่อง “ข้าวสังข์หยด”

ไม่เพียงแต่การสร้างพื้นที่จัดจำหน่ายสำหรับสินค้าเอสเอ็มอี หรือโอท็อป ในท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์

แต่ท็อปส์ยังมีการลงพื้นที่เพื่อร่วมกับชุมชนในการสร้างคุณค่าเพิ่มของสินค้าอีกด้วย เช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมกับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่มีการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2552 ผ่าน มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์

“เมทินี พิศุทธิ์สินธพ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสด และบริหารจัดซื้อ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้าน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ซูเปอร์คุ้ม, ท็อปส์ เดลี่ และอีทไทย กล่าวว่า ปี 2552 บริษัทเริ่มเข้าไปรับซื้อสินค้าตรงจากสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในต่างจังหวัด ทำให้มองเห็นปัญหาหลักของเกษตรกรว่า ยังขาดองค์ความรู้ในด้านการผลิตสินค้า เช่น การเลือกพันธุ์ผักที่ตลาดต้องการ วางแผนการปลูก การคัดเกรดผลไม้ การตัดแต่งผักและผลไม้ เพื่อขนส่งและวางจำหน่าย การกระจายสินค้า การแปรรูปสินค้า การออกแบบตราสินค้า รวมถึงปัญหาการขาดแหล่งเงินทุน จนทำให้บริษัทกำหนดให้มีภารกิจช่วยเหลือเกษตรกร อันเป็นนโยบายหลักในการทำงานของท็อปส์

กระทั่งปี 2559 ได้นำมาต่อยอดสู่โครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ซึ่งจัดเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มร่วมกันระหว่างธุรกิจและชุมชน หรือ Creating Shared Value : CSV จนทำให้เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายแรกและรายเดียวที่ใช้ CSV ในการดำเนินธุรกิจ

ผลจากการเปิดตัวโครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนไปรวม 517 ราย แบ่งออกเป็น 89 ชุมชน 261 โอท็อป และ 167 เอสเอ็มอี ที่ไม่เพียงช่วยให้เกษตรกร และชุมชนมีโอกาสนำสินค้ามาจำหน่ายที่เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ทุกสาขา หากยังก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน จนทำให้เกษตรกรและชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน และในปี 2560 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มเป็น 645 ราย แบ่งออกเป็น 135 ชุมชน 320 โอท็อป และ 190 เอสเอ็มอี

“เรามีหลายมิติในการเข้าไปร่วมกับชุมชน เพราะเชื่อว่าสามารถทำได้มากกว่าด้านเดียว การเข้าไปพูดคุยกับผู้นำชุมชน ทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวสินค้า พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภค จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลาน

Advertisement

เพราะท็อปส์เองต้องยอมรับว่า ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ทุกที่ ทุกวัน เราอาจเริ่มต้นให้ และแนะนำในส่วนที่เขาขาด โดยให้คนในพื้นที่ไปสานต่อ น่าจะเป็นการขับเคลื่อนกันที่ยั่งยืนกว่า”

“ขณะเดียวกันสินค้า GI (Geographical Indication-GI) เป็นสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้สินค้า เป็นสินค้าที่ปลูกหรือผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศให้การยอมรับ มีจุดแข็งจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่ง เพิ่มโอกาสในการส่งออก บริษัทจึงได้สร้าง “GI Corner” มุมจำหน่ายสินค้า GI เช่น ส้มโอทับทิมสยาม ปากพนัง สับปะรดศรีราชา ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง นำร่องใน 2 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์

Advertisement

สาขาเซ็นทรัล ชิดลม และท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ จะเปิดให้บริการในวันที่ 20 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา วางแผนเปิด “GI Corner” ให้ได้ทั้งหมดในเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ท็อปส์ มาร์เก็ต ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 100 สาขา ทั้งยังสั่งซื้อทางออนไลน์ได้อีกด้วย

ล่าสุดมีการลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ผู้ผลิตข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากทั้งในประเทศและสหภาพยุโรป (EU) เป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็ง สามารถเติบโตและพึ่งพาตนเองได้ จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบ เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ชุมชนใหม่ ๆ ได้เข้าไปศึกษาดูงาน

“นัด อ่อนแก้ว” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า เดิมทีวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง มีการรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังเป็นการทำนาแบบไม่มีระบบ ทำให้ประสบปัญหาข้าวกลายพันธุ์ เนื่องจากมีการปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ ถูกนายทุนกดราคาข้าว และมีต้นทุนสูง เนื่องจากต้องจ้างโรงสีข้าวของเอกชน และยังเป็นการทำนาแบบใช้สารเคมี และขาดแคลนแหล่งน้ำ เนื่องจากมีการทำนากันแบบกระจาย ไม่สามารถบริหารน้ำได้

“จนกระทั่งมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างพลังการต่อรอง โดยนำจุดเด่นของสายพันธุ์ข้าว คือ ข้าวสังข์หยด มาเป็นตัวชูโรง เพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพ ทางด้านการตลาดก็ได้วางจำหน่ายยังท็อปส์ ซึ่งได้มีการมอบเงินทุนในการสร้างโรงสีข้าว เงินทุนสำหรับซื้อพันธุ์ข้าว ซื้อเครื่องแยกหิน และเครื่องบรรจุสุญญากาศ เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท พร้อมรับซื้อผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายในท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์”

“จากการรวมกลุ่มทำให้วิสาหกิจแห่งนี้เกิดการเชื่อมโยงของกลุ่ม 1.เชื่อมโยงความคิด คือเชื่อมโยงความคิดของเกษตรกรในกลุ่มมีการลงมติ 2.เชื่อมโยงวัตถุดิบ พื้นที่ ใน จ.พัทลุงมีปัญหาน้ำท่วม เช่น ในปี 2559 ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ผลผลิตเสียหายไปกว่า 50% จนต้องมีการนำข้าวจากกลุ่มอื่นเพื่อส่งจำหน่ายให้แก่ลูกค้าแทน และ 3.เชื่อมโยงทุน เมื่อกลุ่มมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น”

ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังมีการประกันราคาข้าวที่ซื้ออยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน ราคาขายข้าวสารอยู่ที่ 70 บาท/กก. และราคาจำหน่ายในท็อปส์ อยู่ที่ 140 บาท/กก. ทำให้ราคาข้าวสังข์หยดมีราคามาตรฐาน สร้างรายได้แก่สมาชิก เกษตรกรมีการขยายผลโดยดึงญาติ พี่น้อง รวมถึงลูกหลานมาทำนาที่ได้มาตรฐาน คนรุ่นใหม่เมื่อเรียนจบก็ไม่ต้องไปทำงานยังต่างจังหวัด และในปี 2561 จะดำเนินการทำเป็นข้าวออร์แกนิกแบบเต็มรูปแบบ เพื่อให้ข้าวสังข์หยดมีมูลค่า และคุณค่าสูงยิ่งขึ้นจากสินค้าท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสืบทอดและหวงแหนต่อไป

การพัฒนาที่ยั่งยืนอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่หากมีธงที่ตั้งมั่นจะทำให้เกิดการพัฒนาไปจนชั่วลูกชั่วหลาน แนวคิดเหล่านี้จึงต้องค่อย ๆ ปลูกฝังจนเข้าไปในเนื้อ เสมือนเป็นการสร้างความรับรู้ในคุณค่าของสายพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว เพื่ออยากให้ทุกคนรู้จัก และเห็นคุณค่า เช่นเดียวกับคนใน จ.พัทลุง จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ แม้จะเป็นการพัฒนาในระดับชุมชนก็ตาม