“อ้อยดำ” ยาไทยโบราณ คนไม่นิยม แต่หมอยาไทยใช้เป็นวัสดุหลักในการทำยา

เมื่อสมัยก่อน การใช้สมุนไพรเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตประจำวัน พืชสมุนไพรหลายชนิดที่หมอยาเก่าเขาใช้ประโยชน์ บำบัดรักษา บำรุงร่างกาย โดยนำมาปรุงแต่งแปลงเปลี่ยน ต้ม หมักแช่ เผา ผสมเครื่องยา ใช้เป็นพืชประกอบอาหาร และอีกหลายประโยชน์ จากป่าสู่ชุมชน เพื่อง่ายต่อการใช้ประโยชน์ สมุนไพรบางอย่างหายากมาก ต้องเดินป่าเป็นวันเป็นคืน ถึงจะหาพบเจอ แต่หมอยาชาวบ้านเขารู้จักและรู้แหล่งที่มีสมุนไพรหลายอย่างมีอยู่ใกล้ตัว เคยมีคนเก่าเล่าให้ฟังว่า พืชต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรทั้งนั้น เด็ดถอนมาเคี้ยวกินได้หมด เพียงแต่ยังไม่มีการตรวจสอบทางเคมี ว่ามีฤทธิ์ทางยาอย่างไรบ้าง

อ้อยดำ เป็นอ้อยชนิดหนึ่ง เชื่อว่ามีกำเนิดในป่าของไทยเรานี่แหละ ก็เหมือนกับต้นอ้อ ต้นแขมที่มีอยู่แถวริมห้วยหนองในป่าในเขา ลำต้นเหมือนกับอ้อยทั่วไป แต่เล็กและแข็ง เอามากัดเคี้ยวกินลำบากมาก เปลือกแข็งและรสขม มีน้ำน้อย ไม่ค่อยหวาน จึงเป็นที่มาของการนำเอามาเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคหลายอย่าง

กล่าวถึงเรื่องอ้อย เรารู้จักกันมานาน มีปลูกกันอยู่ทั่วไป อ้อยเป็นพืชตระกูลหญ้า อ้อยแต่ละสายพันธุ์ ล้วนแต่มีลักษณะเดียวกัน อ้อยโรงงานเกษตรกรปลูกกันเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ทำเงินให้ชาวไร่มากมาย ส่งเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ก็น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง ที่คนเรานำมาประกอบอาหาร ทำขนม เครื่องดื่ม อ้อยเคี้ยวก็เป็นอ้อยอีกชนิด ที่ชาวบ้านปลูกกัน มีทั้งต้นสีเขียว สีแดงดำ เมื่อก่อนขายเป็นอ้อยควั่นที่ตลาด ในงานวัดเทศกาลต่างๆ มีวางแคร่ขายเป็นอ้อยเสียบไม้ เป็นช่อพวงให้จับถือเหมาะมือ ซื้อแล้วเอามานั่งแบ่งกันกิน เคี้ยวกินน้ำหวานที่ชื่นใจ หวาน ปากหอม และได้ซังกากอ้อยขัดถูฟันด้วย บางแห่งเมื่อก่อนเรียกว่า อ้อยวง หรืออ้อยพั้วะ (พวง) เดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้จักกันแล้ว

อ้อยดำ หรือ อ้อยแดง ก็เป็นอ้อยอีกชนิดหนึ่ง คนไม่นิยม แต่หมอยาไทยใช้เป็นวัสดุหลักในการทำยา โดยเฉพาะยาหม้อ ใช้ทั้งราก หน่อ ข้อ ต้น ใบ

อ้อย มีสารที่น่าสนใจคือ แอลกอฮอล์ กรดอะมิโน แอสพาราจีน ฟีโนลิก เอสเตอร์ อีเทอร์อัลคาลอยด์ รากอ้อยมีธาตุหลายชนิด แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียม กำมะถัน เพราะมีสารและธาตุต่างๆ อยู่ จึงทำให้อ้อยโดยเฉพาะอ้อยดำมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร เป็นยาบำรุงต่างๆ มากมาย ตั้งแต่รากยันยอด ใช้เป็นยาได้ทั้งนั้น

เมื่อมีอาการไอ เป็นหวัด ใช้อ้อยดำที่ตัดต้นมาทั้งเปลือก เผาลนไฟจนร้อนเกิดฟองออกปลายทั้ง 2 ข้าง ปอกเปลือก เคี้ยวกินขณะที่ยังร้อน หรือจิ้มเกลือเคี้ยวกิน ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ แก้เสียงแหบแห้ง หรือใช้ราก 10 กรัม ต้มกับเหล้ากินวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น

ถ้ามีอาการร้อนใน เสมหะเหนียว เจ็บคอ ตัดอ้อยดำเป็นปล้อง ผ่า ทาเกลือ ลนไฟ เคี้ยวกินแก้ได้ แม้เวลาที่สะอึก ลมในท้อง กำเดาไหล คลื่นไส้อาเจียน เป็นโรคกระเพาะ ใช้น้ำอ้อยครึ่งแก้ว ผสมน้ำขิง 1 ช้อนชา ตั้งไฟอุ่นๆ ดื่มครั้งเดียวหมดแก้ว วันละ 2 เวลา เช้าเย็น ปากเปื่อย ร้อนใน ใช้อ้อยดำ ยาวเท่านิ้วชี้ 3 ท่อน ผ่า 4 เอา 3 ส่วน แช่น้ำ 3 แก้ว เติมข้าวสาร 1 หยิบมือ แช่ทิ้งไว้ 30 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว

อ้อยดำรักษาได้ เช่น โรคทางเดินปัสสาวะ ขัดเบา ปวดประจำเดือน ขับน้ำเหลือง รักษาแผลเปื่อย แผลอักเสบ แผลเรื้อรัง ฝีหนอง ช้ำใน อีกสารพัดโรค

การใช้อ้อยเป็นสมุนไพรมีข้อควรระวังคือ ใช้ปริมาณมากเกินไป บางทีหาอ้อยดำทำยาไม่ได้ ไปใช้อ้อยดำชนิดที่เป็นอ้อยเคี้ยวมาแทน ซึ่งมีสารมีธาตุบางอย่างเหมือนกัน ใช้มากไประวังแสลงโรคลม เกิดเสมหะมาก เหนียวคอ เจ็บคอ เจ็บลิ้น ร้อนใน

ในส่วนประกอบของอ้อย มีธาตุอาหารและสารหลายอย่าง คาร์โบไฮเดรต 27.51 กรัม น้ำตาล 26.98 กรัม โปรตีน 0.27 กรัม แคลเซียม 11.23 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.37 มิลลิกรัม โซเดียม 17.07 มิลลิกรัม นับได้ว่าอ้อยเป็นพืชเกษตรที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก แม้แต่เศษซากต่างๆ ของอ้อยยังเป็นประโยชน์