เร่งปลดล็อกคอขวด-แก้กฎหมาย กระตุ้นงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์

สว.ให้กำลังใจนักวิจัยผู้ปิดทองหลังพระ พร้อมสนับสนุนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และเตรียมช่วยปลดล็อกเรื่องกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการรับรองมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เปิดเผยว่า จากผลงานวิจัยต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการที่อาคารรัฐสภา แสดงให้เห็นว่ามีงานวิจัยหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เช่น การออกกฎหมายต้องมีงานวิจัยสนับสนุนเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้นักวิจัยผู้ปิดทองหลังพระให้อดทนทำวิจัยต่อไป และอยากให้มีงบวิจัยสำหรับสภานิติบัญญัติดังเช่นในต่างประเทศด้วย ขณะที่ พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ยินดีช่วยเผยแพร่ผลงานวิจัยเพราะเป็นหัวใจสำคัญต่อการมีบทบาทในการพัฒนา จึงต้องทำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน เกษตร ภัยพิบัติต่างๆ

ด้าน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ระบุว่า งานวิจัยนั้นอยู่ในทุกสายงานของคณะกรรมาธิการทั้ง 26 คณะ ที่จำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยช่วยขับเคลื่อน โดยเฉพาะ กมธ.วิทยาศาสตร์ ที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่และปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อนำความรู้จากงานวิจัยไปช่วยแก้ปัญหาในลักษณะเครือข่าย หากจำเป็นต้องมีผู้รู้จากส่วนกลางก็ต้องนำไปเสริมความรู้สู่ชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการจำหน่ายในตลาด โดยฝากให้ สกสว.ช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือ ชี้เป้ากับผู้ประกอบการและภาคส่วนต่างๆ สิ่งที่เป็นห่วงคือ ที่ผ่านมามีงานวิจัยขึ้นหิ้งจำนวนมาก ไม่มีคนซื้อโดยอ้างเรื่องมาตรฐาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ต้นทุนสูง ทำให้แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ดังนั้น ฝ่ายบริหารจะต้องร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาและ กมธ. ในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่ยังเป็นคอขวดและเป็นอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการ

“เราต้องช่วยกันและได้เตรียมรองรับการจัดทำกฎหมายลูกเพื่อเร่งรัดกระบวนการจดสิทธิบัตรและการรับรองมาตรฐาน โดยจะต้องกำหนดโจทย์ให้ผู้ใช้ประโยชน์และนักวิจัยรู้ว่าเป้าหมายในอนาคตคืออะไร เพื่อให้ตอบโจทย์และนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ความรู้เรียนที่ไหนก็ได้ แต่การจะก่อให้เกิดปัญญาต้องมีการวิจัยและนวัตกรรม นักวิจัยจึงเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนา เสริมสร้างความรู้และปัญญาแก่ประชาชน”

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เผยว่า หน้าที่หลักของอนุ กมธ. คือ ติดตามและเสนอแนะ ใช้ระบบกลไกของการวิจัยและพัฒนาในมิติต่างๆ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจึงมีความสำคัญต่อทุกแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ หัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมฐานราก เกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ งานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น ดาวเทียม แม้เราจะยังทำไม่ได้ 100% ก็ต้องมีเครือข่ายนานาชาติ เพื่อพึ่งพาตนเองเพื่อการแข่งขันและการค้า ซึ่งพยายามเสนอให้สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามามีส่วนใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมากขึ้น แต่ต้องปรับปรุงเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จะได้มีการลงทุนจากผู้ประกอบการเหล่านี้เพิ่มขึ้น

“เราต้องวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง มีการจัดระบบวิจัยให้อยู่ในท่อต่อไป สิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษคือ เกษตรและอาหาร ในฐานะที่ตนเองเคยเป็นประธานองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO อยากให้ทำวิจัยตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะสม ทนโรค ทนแล้ง โภชนาการและธาตุอาหาร การควบคุมโรคและป้องกันโรค ไปจนถึงการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวว่ามีปัจจัยใดเกี่ยวข้องบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้เปลือกบางอย่างมะม่วงและกล้วยหอม ทำอย่างไรจึงจะยืดอายุได้นานขึ้น เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตลาดและสังคม โดยตนเองยินดีไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุมสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในมุมมองด้านอาหารที่เชื่อมโยงกันทั้งด้านเกษตร อาหาร สุขภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของการผลิต”