กรมการข้าวติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2563

นายทรรศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ตำบลหนองบัวแก้ว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในครั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเผยแพร่องค์ความรู้ในการผลิตข้าวหอมมะลิในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ไปสู่ชาวนาและผู้สนใจในข้าวหอมมะลิ ซึ่งข้าวหอมมะลิเป็นข้าวหอมของไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ถือได้ว่าเป็นข้าวคุณภาพพรีเมี่ยมระดับโลก มีคุณสมบัติที่มีกลิ่นหอม ข้าวสุกมีความนุ่มและมีรสชาติแตกต่างจากข้าวชนิดอื่น

กรมการข้าวจึงเล็งเห็นความสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งมีความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ตำบลหนองบัวแก้ว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งศูนย์ที่สามารถผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน เกษตรกรในพื้นที่มีการปฏิบัติและดูแลรักษาข้าวหอมมะลิให้ได้คุณภาพตลอดฤดูกาลเพาะปลูกอีกด้วย

ด้าน นางจรัญจิต เพ็งรัตน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กล่าวต่อว่า…กรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ได้ส่งเสริมเกษตรกรในการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ เพื่อให้ได้คุณภาพเมล็ดพันธุ์ของข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด คือระยะพลับพลึง พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรกรในการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถจัดการการปลูกข้าวได้อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิต่อไป ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองบัวแก้ว มีการปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อผลิตข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพ ทางกายภาพ ทางเคมี และความหอมได้เป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกลสำหรับทำการเกษตร การฝึกอบรมให้กับเกษตรกร

ซึ่งกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ตำบลหนองบัวแก้ว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกข 6 และข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้กว่า 250 ตันต่อปี เป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สูงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เพื่อให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสมในการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพให้มีคุณภาพสูงตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้เกษตรกรยังมีการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสมในการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัดได้แก่จังหวัด ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ และศรีสะเกษ พื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่

 

นาย บุญทอม บุญยรัตน์ ประธานกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ตำบลหนองบัวแก้ว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า มีสมาชิกกลุ่มจำนวน 200 ราย พื้นที่การปลูกข้าว 2,164 ไร่ ผลิตเมล็ดพันธุ์กข 6 และข้าวขาวดอกมะลิ 105 จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชนเครือข่าย และเกษตรกรทั่วไป โดยกลุ่มจัดตั้งขึ้นโดยการร่วมมือของสมาชิกเพื่อผลิตข้าวปลอดภัย โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่ม เพื่อทำเกษตรผสมผสานโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีในท้องถิ่น เช่น การเลี้ยงโคและนำมูลมาใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าว การทำน้ำหมักหรือปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษพืชหรือหอยเชอรี่การป้องกันแมลงศัตรูข้าวโดยปลูกพืชสมุนไพรบนคันนา การเลี้ยงปลาในนาข้าวเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย เน้นกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP เป็นการเพิ่มโอกาสในการจำหน่าย นอกจากนี้ในกระบวนการสีข้าวหอมมะลิและข้าวกล้อง เพื่อแพ็คบรรจุถุง และแปรรูปเป็นผลิตเป็นไอศครีม ข้าวหมากและน้ำส้มสายชูหมักผสมน้ำลูกหม่อนเป็นการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรและคนในชุมชนให้มีการผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดีในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพชาวนาต่อไป