บงหวาน..ไผ่สร้างเงินของ ศพก. ในเขตปฏิรูปที่ดิน หนองบัวลำภู

เดิมนั้นผมทำงานเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง แต่เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง จึงตัดสินใจลาออกมา แล้วก็มาทำเกษตรในพื้นที่ของพ่อแม่ ปลูกข้าวและอ้อย แต่ประสบปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และเกิดโรคระบาด การปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นพอมีปัญหาเกิดขึ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เลยครับ เพราะเราไม่มีรายได้ทางอื่นมาจุนเจือ ส่งผลให้ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุน ขาดทุนตลอด แต่โชคดีว่า ต่อมาผมได้รับคัดเลือกให้มีสิทธิ์เข้าเช่าที่ดินทำกินจาก ส.ป.ก. ทำให้ชีวิตเปลี่ยนเลย”

นายนวนศรี บุตรโคตร หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบผู้ประสบความสำเร็จ ที่วันนี้ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหนองบัวลำภู ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งอยู่เลขที่ 114 หมู่ที่ 5 บ้านโนนสง่า ตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู  ได้ย้อนอดีตเมื่อครั้งเริ่มต้น แม้ลำบาก แต่ไม่ย่อท้อ

“สำนักงาน ส.ป.ก. จังหวัดหนองบัวลำภู ถือว่ามีส่วนร่วมอย่างมากในการช่วยเหลือผม ให้สามารถยกระดับความรู้ ยกระดับความคิด เปิดโลกทัศน์ผมให้กว้างขึ้น ทั้งจากการพาไปศึกษาดูงานตามศูนย์เรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ การส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ ติดตามสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดแนวคิดในการดำเนินชีวิตตามแนวทางพระราชดำริ และนำความรู้ต่างๆ มาปรับใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมของตนเองในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน” พี่นวนศรี กล่าว และว่า

“ผมได้องค์ความรู้มากมาย โดยเฉพาะแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่วันนี้ คือหลักนำชีวิตผมที่จะเน้นความพออยู่พอกิน สมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด แต่ไม่อดอยากและเลี้ยงตนเอง รู้จักดัดแปลงสิ่งรอบตัวให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและอาชีพ อย่างในหน้าแล้งมีน้ำน้อยเราก็เอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผักต่างๆ ที่ใช้น้ำน้อยได้ รวมถึงเลือกพืชที่ปลูกที่ตลาดมีความยั่งยืน และที่สำคัญรูปแบบการเกษตรไม่ควรทำแบบพืชเชิงเดี่ยว ต้องทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายๆ อย่าง อย่างผมทุกวันนี้ปลูกมากมายเลย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ไผ่บงหวาน  ผัก  เลี้ยงสัตว์ ปลา ปีหนึ่งรวมรายได้ทั้งหมดแล้ว อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทครับ”

 

แต่สำหรับพืชที่เป็นหลัก และสามารถสร้างรายได้ให้ดีในช่วงเวลานี้ คือ ไผ่บงหวาน ด้วยเป็นสายพันธุ์ไผ่ที่มีความโดดเด่นหลายอย่าง เช่น ลำมีขนาดเล็ก ใช้เป็นเชื้อเพลิงและไม้ค้างผัก หน่อสามารถนำมาเป็นอาหารรสไม่ขื่น รับประทานสดได้ ถือเป็นสายพันธุ์ที่ให้ประโยชน์ครบถ้วนและที่สำคัญตลาดมีความต้องการ”

แม้ก้าวแรกที่เริ่มต้นจะยากลำบาก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีหัวใจนักสู้ พร้อมที่จะพลิกแพลงในการสร้างรายได้

“ไผ่ เป็นพืชระยะยาว ดังนั้น ในช่วงแรกยังไม่มีรายได้ครับ ต้องหาพืชเสริมรายได้มาปลูกก่อน อย่างผมนั้น ตอนเริ่ม ผมปลูกพริก มะเขือ มัน หลายๆ อย่าง เรียกว่า ปลูกทุกอย่างที่เรากิน เหลือก็นำไปขายได้อีก”

 

“พอเราปลูกไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีคนมาถามซื้อ พอมีคนมาถามซื้อเราก็ขาย ซึ่งรายได้ก็จะเริ่มมีมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำหรับคนที่สนใจและอยากทำการเกษตร โดยเฉพาะช่วงนี้ที่หลายคนต้องกลับบ้าน เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 โรงงานต้องปิด ดังนั้น หากมาเริ่มต้น ผมขอแนะนำว่า ต้องดูใจเราก่อน ใจรักไหม อยากจะทำไหม ดูภูมิอากาศของเราด้วยว่า พื้นที่ของเราปลูกอะไรได้ ทำอะไรได้ เริ่มต้นจากตรงนี้ก่อน ปรุงดินให้มันดี ดูพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืช เวลาทำเราปลูกเห็นไม้งอกงามเราจะมีความสุข”

ดังนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงถูกบอกเล่าไปสู่เพื่อนเกษตรกรผู้สนใจที่เดินทางมาศึกษาเรียนรู้ที่ศพก. ในเขตปฏิรูปที่ดินแห่งนี้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่แนวคิดการตัดสินใจ ไปจนถึงการบริหารจัดการแปลง และที่สำคัญคือ การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตที่ปลูก

“ผมมีความตั้งใจอย่างมากกับการสอน การแนะนำให้คนที่สนใจสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จ ผมรู้สึกยินดีมากๆ ครับ เพราะเราให้ความรู้เขาไป เท่ากับว่าเราให้อะไรดีๆ หลายๆ อย่าง ไปช่วยให้เขามีความสำเร็จ พอเขามีความสำเร็จเขาก็มีแรงบันดาลใจเหมือนม้าศึก คือมีความฮึกเฮิมอยากจะทำอยากจะก้าวต่อ นี่คือ ความสุขที่ผมได้รับ”

สำหรับองค์ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปลูกไผ่บงหวาน ที่ ศพก. ในเขตปฏิรูปที่ดิน ของพี่นวนศรีที่ทุกคนสามารถมาเรียนรู้ได้นั้น มีมากมาย อาทิ วิธีการขยายพันธุ์ โดยเกษตรกรเจ้าของสวนไผ่บงหวานบอกว่า การขยายพันธุ์ไผ่นั้น ไม่เพียงจะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกช่องทางการสร้างรายได้ที่ให้ผลตอบแทนดีมาก เพราะปัจจุบันมีผู้สนใจปลูกไผ่บงหวานกันมากขึ้น ทำให้มีความต้องการต้นพันธุ์เพื่อนำไปปลูก

“วิธีการเพาะขยายพันธุ์ไผ่บงหวาน ที่ผมแนะนำให้ทำนั้น จะใช้วิธีการแยกเหง้า และการชำลำไผ่ ซึ่งวิธีการนั้นไม่ยาก ขอยกตัวอย่างของการชำลำไผ่บงหวาน ซึ่งวิธีนี้เป็นผลพลอยได้จากการแยกเหง้า โดยใช้ลำไผ่ที่เหลือจากการแยกเหง้า ซึ่งมีอายุ 1-2 ปี นำมาเตรียมท่อนพันธุ์ โดยการตัดลำไผ่ออกเป็นท่อนๆ ให้มี 1 หรือ 2 ข้อ แล้วนำไปชำ”

พี่นวนศรี ได้ขยายความเกี่ยวกับการชำว่า ในการชำลำ 1 ข้อ ตัดลำไผ่ออกเป็นท่อน ให้แต่ละท่อนมีข้ออยู่ตรงกลางปล้อง ส่วนที่เหนือข้อ ยาวประมาณ 1 คืบ หรือ 20 ซม. เพื่อไว้ใส่น้ำ และปล้องส่วนที่อยู่ใต้ข้อยาวประมาณ 5-7 ซม. ลิดกิ่งที่บริเวณข้อออกให้หมด แต่ระวังอย่าให้โดนตา นำท่อนพันธุ์ไปชำในแปลงเพาะชำ วางเอียงประมาณ 45 องศา โดยให้ข้ออยู่ระดับดิน และให้ตาหงายขึ้น ใส่น้ำในปล้องที่อยู่เหนือดินอย่างสม่ำเสมอ หรือจะปักชำลำลงในถุงเพาะขนาดกลางถึงใหญ่เลยก็ได้ หลังจากที่ติดรากแล้ว จะปล่อยให้ผลิใบใหม่ อนุบาลกล้าไผ่อีกประมาณ 2-3 เดือน เพื่อให้ระบบรากแข็งแรงพร้อมกับการแตกหน่อและกิ่งก้าน จากนั้นจะนำไปปลูกเองหรือจำหน่ายต่อก็ได้

“ดังนั้น หากวันนี้ ทุกคนที่สนใจและคิดอยากทำการเกษตร ที่ ศพก. ของผมคือที่หนึ่งที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ แต่ขอเพียงใส่ใจและตั้งใจที่จะทำจริง พร้อมน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ รับรองว่า ความสำเร็จต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” พี่นวนศรี กล่าวในที่สุด