ประดิษฐ์ นันท์ตา เกษตรกรต้นแบบในเขตปฏิรูปที่ดิน เมืองลำปาง ปลูกพืชที่ตลาดต้องการ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป

ชีวิตเริ่มต้นมาจากคำว่า “ศูนย์” นั่นคือ ข้อสรุปสั้นๆ บนเส้นทางชีวิตต้องสู้ของเกษตรกรต้นแบบในเขตปฏิรูปที่ดิน เจ้าของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาลุ่มน้ำยมในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ชื่อ ประดิษฐ์ นันท์ตา ซึ่งอยู่บ้านเลขที่ 44/1 หมู่ 5 บ้านแม่พร้าว ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง

“ผมเป็นคนจังหวัดแพร่ ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำปางเพราะพี่ชายชวนมา ในปี 2545 ผมกับครอบครัวมาแบบไม่มีอะไรเลย ที่ดินทำกินของตนเองก็ไม่มี เริ่มต้นผมมาเช่าที่ดินของคนรู้จักทำกินก่อน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ครับ ปีแรกที่ลงทุน เจ๊งครับ กู้เงินมาลงทุน 30,000 บาท ขายข้าวโพดได้ 15,000 บาท”

“ไม่ท้อครับ สู้ต่อ สู้มาอีกหลายปี จนชีวิตเริ่มดีขึ้น เพราะได้รับคัดเลือกจาก ส.ป.ก. ให้ได้รับสิทธิ์ในที่ดินของ ส.ป.ก. จำนวน 30 ไร่”

หลังจากมีที่ดินเป็นของตนเอง เขาได้เริ่มต้นเดินตามแนวทางที่วาดฝันไว้

“เพราะได้ความรู้ได้เปิดโลกให้กว้างขึ้นด้วยการสนับสนุนของ ส.ป.ก. ทั้งการเข้ามาให้ความรู้ที่สวน และการพาไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเกษตร โดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมยึดมั่นในการวางแผนการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

“ผมได้มาคิดแล้วว่า ถ้าทำแบบท่านในหลวง เราก็จะพอมี พอกิน พออยู่ เหมือนในหลวงท่านได้แนะนำ ผมจึงมุ่งทำตามปรัชญาของในหลวงนะครับ”

ลุงประดิษฐ์ บอกว่า จากแนวทางตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ได้ไปเรียนรู้ไปศึกษามา ได้ถูกนำมาใช้เป็นธงนำในการปรับสภาพพื้นที่ ไม่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่นในอดีต ปรับมาสู่การปลูกผสมผสาน ที่มีพืชพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เพื่อให้เกิดการเกื้อกูล ลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะตลาดรองรับผลผลิต

“อย่างการปลูกพืช ผมยึดตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้เรามีทั้งไม้ใช้สอย ไม้ผลเพื่อขายและกินในครัวเรือน” ลุงประดิษฐ์ กล่าว

สำหรับการเลือกชนิดของพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูก เกษตรกรต้นแบบในเขตปฏิรูปที่ดินจะเน้นใช้หลักของตลาดนำการผลิต ตามองค์ความรู้ที่ได้รับคำแนะนำจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง

“ผมจะดูก่อนว่า ปลูกแล้วจะเป็นรายได้แบบไหน แบบรายวัน รายเดือน หรือ รายปี ปลูกแล้วตลาดต้องการไหม ปลูกแล้วจะขายใครที่ไหน ซึ่งไม้ที่ผมเลือกตอนนี้ ประกอบด้วย ไม้สร้างบ้าน คือไม้สัก ไม้ผล จะเน้นผลไม้ อย่าง มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ มะม่วง ลำไย เงาะ เป็นหลัก และไม้ใช้สอยคือ ไผ่ซางหม่น ซึ่งเป็นไผ่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีไผ่ ให้เนื้อไม้ที่ดีในระดับเกรดเอ เป็นพันธุ์ไผ่ที่ตลาดต้องการมากที่สุดเลย นอกจากนี้ยังปลูกสมุนไพรชนิดต่างๆ ด้วย”

แต่ความน่าสนใจและถือเป็นภูมิปัญญาของเกษตรกรผู้นี้คือ การเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตที่ปลูก

“แต่ก่อนนี้เน้นขายให้พ่อค้าคนกลางครับ เขามารับซื้อถึงสวนก็จริง แต่เราก็โดนกดราคามาก คิดแล้วเรียกว่า ขายแบบขาดทุน ดังนั้น จึงมาปรึกษากันในครอบครัว คุยกับแม่บ้าน คุยกับลูกสาวและลูกชาย เราจึงได้ข้อสรุปว่า ควรที่จะนำผลผลิตมาแปรรูปและขายเอง ซึ่งช่วยทำให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตและทำให้มีรายได้มากขึ้น ตอนนี้ลูกสาวผมจึงทำหน้าที่เป็นฝ่ายแปรรูป พอมะม่วงออก มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ออก ก็จะนำมาแปรรูปก่อน และขายเอง ทั้งตลาดในหมู่บ้าน และการออกร้านตามงานต่างๆ”

ลุงประดิษฐ์ บอกอีกว่า วันนี้การทำการเกษตรนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และความเพียร พยายามสร้างช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะด้านการตลาดเพื่อสร้างรายได้

“ผมไม่ได้ปลูกไม้ผลเพื่อขายผลผลิตที่เก็บได้อย่างเดียว แต่ยังเพิ่มรายได้ด้วยการขยายพันธุ์ไม้ที่ปลูกในสวน จำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง”

ดังนั้น ในการเลือกสายพันธุ์ต้นไม้ที่นำมาปลูก จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้นี้เน้นย้ำว่า ต้องเลือกสายพันธุ์ที่ดี และเป็นของแท้

“ผมให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการขยายพันธุ์พืชมาตั้งแต่เริ่มต้น พยายามฝึกพยายามทำบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ จนสามารถขยายพันธุ์ได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การตอนกิ่ง เสียบยอด ติดตา ทำได้หมด และที่สำคัญ กิ่งพันธุ์นั้น ยังเป็นของที่ตลาดต้องการ หากทำดีมีคุณภาพ รับรองมีคนมาซื้อตลอด”

อีกประการที่ลุงประดิษฐ์ได้ให้ความสำคัญและถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้การปลูกพืชผลต่างๆ ประสบความสำเร็จ นั้นคือ ต้องมีน้ำ

“เรื่องน้ำนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ทำเกษตรไม่มีน้ำไม่ได้ ดังนั้น เมื่อ ส.ป.ก. จังหวัดลำปาง ได้เปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาลุ่มน้ำยมในเขตปฏิรูปที่ดิน ผมเลยรีบสมัคร ด้วยเป็นโครงการที่เน้นทำในลักษณะบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะการจัดการน้ำ”

ลุงประดิษฐ์ ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง จำนวน 18 ไร่ เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีการบริหารจัดการพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างมีระบบ อาทิ ปลูกไม้ผล พืชสวนครัว เลี้ยงปลา ขุดบ่อน้ำประจำไร่นาเพื่อใช้ในการเกษตร และวันนี้หลายกิจกรรมที่ทำ เริ่มสามารถเก็บเกี่ยวจำหน่ายสร้างรายได้ให้แล้ว และประสบความสำเร็จจนมีผลงานดีเด่น ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชาลุ่มน้ำยมในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกคนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้

“ดังนั้น ถ้าวันนี้ใครจะทำอย่างผม ต้องมีความอดทนและมีความพยายาม มีความมุ่งมั่น อย่าไปคิดเรื่องว่า ต้องมีเงินทุนมากๆ แล้วถึงจะทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องนี้ขอให้อยู่ที่ใจรักครับ ลงมือทำด้วยความเพียรตามหลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 รับรองว่า ต้องประสบความสำเร็จแน่นอน” ลุงประดิษฐ์ กล่าวในท้ายที่สุด