วว. ผนึกกำลังพันธมิตรจังหวัดแพร่ ดำเนินงานบูรณาการ วทน. แบบ Quadruple helix นำร่องเพิ่มมูลค่า “ห้อม” พืชประจำถิ่น สู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรม Color cosmetic

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ศุกรี อยู่สุข คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ นายปัญจพล ประสิทธิโศภิน ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดแพร่และภาคเหนือตอนบน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกัน” โดยได้รับเกียรติจาก นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดแพร่ และผลักดันการทำงานแบบบูรณาการแบบจตุภาคี Quadruple helix ระหว่างหน่วยงานวิจัย หน่วยงานการศึกษา ชุมชน รวมทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการลงนาม วว. มุ่งเน้นการทำงานขับเคลื่อน “ต้นห้อม” ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นของจังหวัดแพร่ เพื่อการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การนำจุดเด่นของห้อมที่ให้สีน้ำเงิน (Indigo) มาพัฒนาเป็นนวัตกรรม Color cosmetic ซึ่งจะก่อให้เกิดการเพิ่มปริมาณการปลูกมากขึ้น เป็นการตอบโจทย์ด้านพืชเศรษฐกิจใหม่ในจังหวัดแพร่ เป็น rooftop ของจังหวัด สร้างจุดเด่น ทำให้ใช้ประโยชน์ของห้อมได้มากกว่าด้านสิ่งทอ beyond textile (ห้อม…เป็นมากกว่าสีย้อมผ้า) เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่

นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. กล่าวถึงมีวัตถุประสงค์ ในการลงนามว่า เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่าง “วว.” “มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ” และ “หอการค้าจังหวัดแพร่” ในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคมสู่ความยั่งยืนโดยมุ่งเน้นในการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดแพร่ และภาคเหนือตอนบน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่าง “วว.” “มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ” และ “หอการค้าจังหวัดแพร่” ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดแพร่ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า รวมทั้งการสร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติของจังหวัดแพร่และภาคเหนือตอนบน เพื่อร่วมกันเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และบูรณาการส่งเสริมการตลาด จากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากทรัพยากรท้องถิ่นของจังหวัดแพร่และภาคเหนือตอนบน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำรายได้ คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง ชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากรนั้นไว้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง (Inclusive growth) ต่อไป

เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง “วว.” “มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ” และ “หอการค้าจังหวัดแพร่” ในการเสริมสร้างด้านศักยภาพ องค์ความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และส่งเสริมนิสิต/นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในการใช้ประโยชน์ห้องปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐานของทั้งสามหน่วยงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานวิจัย รวมทั้งการฝึกงานระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิตศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผลงานด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งงานบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นที่ยอมรับในผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยเพื่อก้าวสู่สากล

ห้อม (Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze) เป็นพืชที่มักเติบโตได้ในพื้นที่สูง ชอบอากาศเย็น และชุ่มชื้นตลอดทั้งปี จากการสืบทอดภูมิปัญญาในท้องถิ่นมีการใช้ต้นห้อมเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้า ซึ่งผ้าที่ได้จากการย้อมจากต้นห้อม เรียกว่า ผ้าหม้อห้อม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดแพร่ ที่สร้างรายได้และแสดงถึงวัฒนธรรมของจังหวัด โดยสารสีน้ำเงินที่ได้จากต้นห้อม เป็นสีจากธรรมชาติ ที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีความสวยงามตามแบบธรรมชาติ

จากคุณสมบัติดังกล่าว วว. ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ ภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น” หรือ “โครงการ Thai Cosmetopoeia” โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ได้เปลี่ยนกรรมวิธีการย้อมหม้อห้อมที่มีขั้นตอนยุ่งยากให้เป็นห้อมผงสำหรับใช้ย้อมผ้า และ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร นำห้อมผงมาทดสอบคุณสมบัติทางเคมี-กายภาพ ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ ทดสอบความปลอดภัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้สำหรับตกแต่งและใช้ในชีวิตประจำวัน

แม้ว่าผงห้อมที่ได้มีสีสวยงามจากธรรมชาติ และมีความปลอดภัยต่อมนุษย์ แต่จากคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่ละลายน้ำ และสีจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อโดนกรดหรือด่าง จึงต้องใช้นวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคนิคเฉพาะ เพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ จากการวิจัย วว. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเป็นทู-อิน-วัน มาสคารา (2 in 1 mascara) ซึ่งสามารถใช้สำหรับตกแต่งขนตาและขนคิ้ว โดยพัฒนาจากสีห้อมธรรมชาติ 100% มีความคงตัวและมีความปลอดภัยต่อดวงตา นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเป็นสบู่ก้อน (Body Soap) และบาทบอมท์ (Bath Bomb) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดผิวกาย