ธ.ก.ส. ลงนามร่วมกับเป๊ปซี่โค สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 300 ล้านบาท ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งระบบเทคโนโลยีน้ำหยด ยกระดับก้าวสู่ความเป็น Smart Farmer และทำเกษตรยุค 4.0

โรงงานลำพูน, บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” ได้จัดให้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด โดยมี ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกมันฝรั่งจากการเพาะปลูกด้วยระบบชลประทานเป็นระบบเทคโนโลยีน้ำหยด

ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร สามารถจัดการควบคุมน้ำและธาตุอาหารแก่พืชที่เหมาะสม ตลอดจนลดความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยแล้งเป็นอย่างดี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตช่วยให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายพื้นที่การดำเนินการ 22,000 ไร่ ผลผลิต 80,000 ตัน เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 3,500 ครัวเรือน

นายชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเกษตร ภูมิเอเชีย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เป๊ปซี่โคสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและได้ดำเนินโครงการระบบน้ำหยดมาสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งที่จะช่วยให้เกษตรกรประหยัดน้ำที่ต้องใช้ ลดต้นทุนในการทำการเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการต้นทุนช่วยเพิ่มผลผลิตส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้กล่าวเสริมว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2562 ในรูปแบบของฟาร์มต้นแบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการทำการเกษตร ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 50% ผลผลิตเพิ่มขึ้น พัฒนาการบริหารจัดการฟาร์มให้เป็นเกษตรแม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย และระบบนี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงอย่างเห็นได้ชัด

นายเสกสรร จันทร์ขวาง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยืนยันว่าในปี 2563 ธ.ก.ส. พร้อมที่จะสนับสนุนเกษตรกรด้วยสินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถปรับโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาดเกษตรสมัยใหม่ โดยทาง ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 300 ล้านบาท ในการพัฒนาการผลิตด้วยการเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากระบบชลประทานเป็นระบบเทคโนโลยีน้ำหยด เกษตรกรผู้สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาใกล้บ้าน