“สาคูปัตตานี” ต้นไม้แสนอร่อย กศน. ส่งเสริมเปลี่ยนต้นไม้ เป็น…อาชีพ

อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพารา ลองกอง เงาะ ทุเรียน ทำนา ทำไร่ ประมงน้ำจืด (อาชีพตามฤดูกาล) ฯลฯ รายได้เฉลี่ยของประชากร 41,515 บาท/คน/ปี ภายในชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านพิเทน อยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

ที่ผ่านมา สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี เข้าไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา/พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพตามบริบทของพื้นที่และวิถีชุมชน เผยแพร่ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต อำเภอทุ่งยางแดง มีสินค้าจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สำคัญหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มปักผ้าคลุมผม กลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระทบ การแสดงปัญจสีลัต คณะลิเกฮูลู มีดกรีดยางพารา และ “สาคูรสอร่อย” จากป่าสาคูตามธรรมชาติ

ต้นสาคูในผืนป่าชุมชน

ป่าสาคู มีความสำคัญกับวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างมาก เพราะใช้เป็นพืชอาหาร เปลี่ยนต้นไม้เป็นที่อยู่อาศัย และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่พอสมควร ซึ่ง กศน.อำเภอทุ่งยางแดง มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ “ต้นสาคู” พรรณไม้ประจำท้องถิ่นแห่งนี้ เพื่อรักษาสมดุลเชิงนิเวศมาอย่างต่อเนื่อง

ส่งเสริมอาชีพปลูก-แปรรูปต้นสาคู

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมการปลูกและแปรรูปต้นสาคู ในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี โดย ดร. กนกวรรณ ฝากขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และทุกภาคีเครือข่าย ร่วมแรงร่วมใจไปกับ กศน. เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นสาคูและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ดร. กนกวรรณ ถ่ายรูปกับครู กศน.ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี

ขณะเดียวกัน ดร. กนกวรรณ มอบหมายให้ กศน.ส่งเสริมนวัตกรรมการแปรรูปต้นสาคูเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตัวสินค้า รวมทั้งยกระดับพัฒนาคุณภาพสาคูปัตตานีให้เป็นผลิตภัณฑ์อาชีพ Premium และพัฒนาสู่มาตรฐานสินค้าฮาลาลในอนาคต เพื่อนำไปสู่การสร้าง เพิ่มรายได้ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป

รวมทั้งให้ กศน.ช่วยสนับสนุนการขาย “ผลิตภัณฑ์สาคู” แบบอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce )เพื่อขยายช่องทางการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างมิติของการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ดร. กนกวรรณ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุยษ์ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกช่วงวัยของ กศน. ตามแนวนโยบาย กศน. WOW ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูและบุคลากร เพื่อไปพัฒนาผู้เรียนและประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการจัดการศึกษานอกระบบ การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีเป้าหมายให้ “กินอิ่ม นอนอุ่น” มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยฐานทรัพยากรและบริบทที่โดดเด่นหลากหลายในแต่ละพื้นที่

ด้าน นายอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า กศน.ปัตตานี มีมาตรฐาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนาประชาชนในพื้นที่ สามารถยกระดับการศึกษา นำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีอย่างแท้จริง

นายอุดร สิทธิพาที ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์สาคู เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ในหลักสูตรเส้นทางอาชีพ สู่การมีงานทำ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายที่สอดคล้องกับบริบทของประชาชนในพื้นที่

กิจกรรมในครั้งนี้ สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี ดำเนินงานในลักษณะเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงาน กศน.จังหวัดพัทลุง และศูนย์วิจัยและพัฒนาพรุโต๊ะแดง ในการแปรรูปและใช้ประโยชน์จากต้นสาคู เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มองเห็นช่องทางการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

“ต้นสาคู” พืชชุ่มน้ำ ประจำถิ่นแดนใต้

ต้นสาคูเป็นพืชตระกูลปาล์ม เกิดในที่ชุ่มน้ำจืด สามารถพบทั่วไปบริเวณริม ห้วย หนอง คลอง บึง หรือตามสายคลองต่างๆ เกือบทั่วภาคใต้ ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปาล์มสาคูมาช้านานแล้ว ชาวบ้านต่างมองเห็นคุณค่าของปาล์มสาคูอย่างลึกซึ้ง ชุมชนที่มีป่าสาคูจะรู้จักวิธีการนำส่วนต่างๆ ของปาล์มสาคูมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในวิถีชีวิตเกือบทุกด้าน จนกล่าวได้ว่า ปาล์มสาคู คือพืชวัฒนธรรม เป็นต้นไม้กัลปพฤกษ์ที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ เป็นที่พึ่งของคนยากจนในหมู่บ้าน ไม่ต้องลงทุน มีพร้าด้ามเดียวกับป่าสาคูก็หากินได้แล้ว (กอเซ็ง อาบูซิ, 2554)

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ เยี่ยมชมกระบวนการแปรรูปต้นสาคู

สาคู จะมีลำต้นคล้ายปาล์มขวด หรือมะพร้าว ลำต้นเปลาตรง ไม่มีหนามตามลำต้น เมื่อโตเต็มที่มีความสูง ประมาณ 10-12 เมตร และเป็นพืชที่มีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน เมื่อต้นสาคูแก่เต็มที่จะมีจั่นดอกแตกออกตรงส่วนยอด ชาวบ้านเรียกว่า “แตกเขากวาง” เพราะแต่ละจั่นมีแง่งคล้ายเขากวาง

เมื่อมีดอก และมีผล สาคูต้นนั้นก็จะสิ้นสุดความเจริญและยืนต้นตายเช่นเดียวกับต้นลาน ต้นอื่นในกอเดียวกันก็จะค่อยโตเด่นขึ้นมาแทน ผลของสาคูมีลักษณะเป็นทะลาย ลักษณะของผลคล้ายผลกะลุมพี มีรสฝาด สาคูต้นใดมีผลแล้วลำต้นจะมีแป้ง นำไส้ในมาทำแป้งทำขนม หรือใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น

ต้นสาคู นับเป็นพืชอเนกประสงค์ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ปลายยอดสุดโคนรากเลยทีเดียว คุณประโยชน์สำคัญอีกอย่างของต้นสาคู ในฐานะพืชชุ่มน้ำ จึงเปรียบเสมือน “ฝายเก็บกักน้ำ” ตามธรรมชาติ เรียกว่า หากพื้นที่ไหนปลูกต้นสาคูไว้ น้ำไม่เคยแห้งเลยทีเดียว

ลำต้นใช้ทำแป้งสาคู

ต้นสาคู เป็นอาหาร – ใช้ยอดอ่อนทำเป็นอาหาร ยอดอ่อนที่มีอายุ 4-5 ปี นำมารับประทานโดยใช้ประกอบอาหาร ลำต้นใช้ทำแป้งสาคู เมื่อต้นปาล์มสาคูตายก็พบมีแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งมาเจาะกินแกนในของลำต้น พร้อมวางไข่ เรียกว่า ด้วงสาคู ชาวบ้านนิยมเก็บตัวอ่อนมารับประทาน เพราะมีโปรตีนสูง

ต้นสาคู เป็นยาสมุนไพร – ใช้รากทำยาพื้นบ้าน โดยเฉพาะรากแขนงที่เชื่อว่ารักษาอาการปวดศีรษะได้ ส่วนผลต้นสาคู มีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อย สามารถลดความดันโลหิตสูงและบรรเทาอาการเป็นโรคเบาหวานได้

ต้นสาคู เป็นที่อยู่อาศัย – เปลือกนอกมาทำไม้ปูพื้น ก้านต้นสาคูใช้ทำไม้กวาด เปลือกนอกของก้านใบ มาทำเป็นตอกใช้สานเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนใบทำจากมุงหลังคา และกั้นฝา เป็นจากที่มีความทนทานกว่าจากที่ทำจากใบปาล์มชนิดอื่นๆ ซึ่งปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 6-10 ปี และถ้านำไปแช่น้ำเสียก่อนประมาณ 15 วัน ถึง 1 เดือน อาจใช้งานได้นาน 9-10 ปี ผู้สนใจสามารถหาซื้อจากปาล์มสาคูได้ทั่วไปตามบริเวณสองข้างถนนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ราคาจำหน่ายประมาณ 12-16 บาท/ตับ

เม็ดสาคู

เปลี่ยนต้นสาคู เป็นอาชีพ

กว่าจะได้ขนมรสอร่อยจากต้นสาคู บอกได้เลยว่าไม่ง่าย ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการแปรรูปมากมาย โดยทั่วไป ชาวบ้านจะนิยมใช้ประโยชน์จากต้นสาคูที่มี 15 ปีขึ้นไป เพราะต้นสาคู ยิ่งอายุมาก ไส้ในลำต้นก็จะยิ่งมีแป้งเพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อโค่นต้นสาคูแล้วจะนำมาตัดเป็นท่อน หลังจากนั้นนำไปแปรรูปด้วยเครื่องขูดมะพร้าวด้วยไฟฟ้า เพื่อฝนเอาเนื้อไม้ออกจากเปลือกสาคูจนหมด ก็นำมาตำสากและครกไม้จนเนื้อไม้ละเอียด จากนั้นนำเนื้อไม้ไปคั้นเอาแป้งผ่านผ้าขาวบาง จนได้เนื้อแป้งสาคูสด สีขาวปนน้ำตาล เนื้อนวลเนียนตามที่ต้องการ

แต่ละชุมชนนิยมใช้แป้งสาคูที่แตกต่างกัน ชาวปักษ์ใต้แถบจังหวัดนครศรีธรรมราช นิยมใช้แป้งสาคูสด โดยนำไปแช่น้ำและเปลี่ยนน้ำทุกวัน วิธีนี้สามารถเก็บรักษาคุณภาพแป้งสาคูสดได้นานหลายเดือน ส่วนชาวบ้านในจังหวัดตรัง นิยมใช้แป้งสาคูแห้งเป็นหลัก โดยนำแป้งสาคูสดห่อผ้าขาวบาง ใช้ไม้ทุบพอละเอียดแล้วนำไปตากแดดจัดๆ สัก 2 แดด ก็จะได้แป้งสาคูเนื้อละเอียดพร้อมใช้งานแล้ว

นอกจากนี้ ชาวบ้านนิยมแปรรูปเป็นแป้งสาคูเม็ดกลม โดยนำแป้งสาคูสดไปร่อนด้วยถาดเพื่อให้ได้แป้งสาคูเม็ดกลม นำไปตากแดดจนแห้ง เก็บไว้ใช้งานได้นาน ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เม็ดสาคูของแท้ ขายดิบขายดีจนผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของตลาดกันเลยทีเดียว

สาคูเปียกผสมลูกชิด ขนมไทยแสนอร่อย

ชาวบ้านนิยมนำสาคูมาทำอาหารหวานได้หลากหลายเมนู เช่น ขนมขี้มัน ซึ่งเป็นขนมดั้งเดิมของปักษ์ใต้ หรือ นำแป้งสาคูผสมแป้งถั่วเขียวปั้นเป็นเส้นลอดช่อง ชาไข่มุก ทำจากแป้งสาคู นิยมกินอย่างแพร่หลายในจังหวัดตรัง

ทุกวันนี้ คนไทยจำนวนมากนิยมปลูกต้นสาคูเป็นไม้ประดับสวน เพราะเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก ก้านใบมีสีแดงสดคล้ายกับต้นหมากแดง หากใครยังมีพื้นที่ว่างเปล่า ขอแนะนำให้ปลูกต้นสาคู เพราะเป็นพืชที่ดูแลง่าย ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา สร้างอาชีพและรายได้ตลอดทั้งปี