สสก.3 จังหวัดระยอง เดินหน้าแปลงใหญ่แบบบูรณาการ

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ด้านสินค้าพืช ปศุสัตว์และสินค้าประมง โดยให้ความสำคัญในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ที่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมาย 5 ด้าน การลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด มีการรวมกันเป็นกลุ่ม มีการเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อบริหารจัดการให้เกิดสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้า แก้ปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาด และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

คุณชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ได้รับนโยบายจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล ได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องของงานนโยบายทั้งหมดโดยเฉพาะในเรื่องของแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)

คุณชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง

ส่วนในเรื่องของแปลงใหญ่นั้น จะเกี่ยวข้องกับ ศพก. โดยเกษตรกรข้างเคียงจะได้เข้ามาเรียนรู้ แล้วนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองต่อไป โดยศูนย์จะมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงไปสู่แปลงใหญ่ โดยแปลงใหญ่จะรวบรวมสมาชิกที่มาเรียนรู้ ที่ ศพก. แล้วมาเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่วนนโยบายหลักของแปลงใหญ่นั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้รับผิดชอบ Single Command หรือ SC แปลงใหญ่กับ ศพก. จึงได้รับมาดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายแปลงใหญ่ออกไปจำนวนมากขึ้น ตามแนวทางที่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ไว้ใน 5 ด้านด้วยกัน คือ

  1. 1. ต้องให้การรวมกลุ่มมีความเข้มแข็ง แล้วการลดต้นทุนการผลิตต้องลดลง เป้าหมายในภาพรวมก็คือ 20%
  2. 2. เน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิต อีก 20% จากเดิมที่เกษตรกรทำได้ โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี เข้าไปเติมเต็มให้กับเกษตรกร
  3. 3. ให้มีการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในแปลงใหญ่นั้น ในปี 2560 นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการในเรื่องการจัดทำ GAP ทุกรายที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการประเมิน เมื่อได้ GAP แล้วรายใดที่สามารถทำเป็นอินทรีย์ได้ ก็ให้พัฒนาไปสู่มาตรฐานของเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพต่อไป
  4. 4. ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการ ให้มีความเข้มแข็งในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องแปลงใหญ่ ในการบริหารจัดการให้เกิดความเข้มแข็ง และ
  5. 5. เรื่องของตลาดต้องเป็นตลาดนำการผลิต โดยให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่มาประชุมร่วมกัน แล้วดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ตอบสนองตลาด ภายใต้แนวนโยบายของประชารัฐ คือทั้งภาคเกษตรกร ภาคประชาชน และองค์กรเอกชน และภาคราชการ เข้ามาดำเนินการร่วมกัน

“คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้แนวทางในการดำเนินการแปลงใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมว่า การดำเนินงานในแปลงใหญ่นั้น เกษตรกรมีความเข้มแข็งแล้วหรือยัง แล้วรายใดที่สามารถมาเป็นผู้จัดการแทนเกษตรอำเภอได้ ก็ขอให้ดำเนินการ โดยที่ทางเกษตรอำเภอไม่ได้ทอดทิ้งยังคงมาเป็นพี่เลี้ยงและเป็นที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าหากเกษตรกรยังไม่เข้มแข็งก็ให้เกษตรอำเภอเป็นผู้จัดการแปลงอยู่ แต่ต้องฝึกเกษตรกรขึ้นมาเป็นผู้จัดการแปลงให้ได้” คุณชาตรี กล่าว

สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 9 จังหวัด ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี มี 18 แปลง ฉะเชิงเทรา 14 แปลง ชลบุรี 15 แปลง ตราด 13 แปลง นครนายก 6 แปลง ปราจีนบุรี 14 แปลง ระยอง 11 แปลง สระแก้ว 18 แปลง และสมุทรปราการ 10 แปลง รวม 119 แปลง