กยท. ร่วมกับ ม.เกษตรฯ ลงนาม MOU “งานวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมเปิดตัวโครงการแข่งขัน “หุ่นยนต์กรีดยาง”

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “งานวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมเปิดตัวโครงการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับเกษตรอัจฉริยะ “AI For All” ในหัวข้อ “หุ่นยนต์กรีดยาง” Smart Agriculteral Robot Contest 2020 ณ ห้องประชุมกำพล อุดลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือว่า กยท. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันบูรณาการงานวิจัย พัฒนา และจัดการศึกษา อบรม สัมมนา เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการภารกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา และประสานงานเพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ และทักษะจากทรัพยากรบุคคลทั้งสองฝ่าย ได้แก่ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ เช่น ฐานข้อมูลสารสนเทศ เครื่องมือและอุปกรณ์ สถานที่ ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้งานในโครงการต่างๆ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านยางพาราผ่านเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการยางแห่งประเทศไทยในทุกช่องทาง

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ สถาบันวิจัยยาง กยท. ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีโครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านยางพารา
ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งสถาบันวิจัยยาง จะจัดการอบรมด้านยางพาราและจัดสถานที่สำหรับการแข่งขันทดสอบให้กับนิสิต-นักศึกษา ที่เข้าแข่งขันหุ่นยนต์กรีดยางและเก็บน้ำยาง ณ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา
ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และศาสตร์ทางด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำยางพารา โดยจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับเกษตรอัจฉริยะ “AI For All” ภายใต้โครงการ Smart Agriculteral Robot Contest 2020 โดยในหัวข้อ “หุ่นยนต์กรีดยาง” รับสมัคร 5 ทีม ทีมที่ลงแข่งขันจะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ100,000 บาท เพื่อเข้าชิงรางวัลรวมมูลค่า 2,000,000 บาท สามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/SmartAgriculturalRobotContest2020/

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในเรื่องการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจยาง พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานและองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านยางพาราของไทยอย่างยั่งยืน ผู้ว่าการ กล่าวทิ้งท้าย