อัคคีทวาร อัคนีทรงฤทธิ์ สะกิดทวารไฟ พิชิต… “ริดสีดวง”

อัคคีทวาร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum   serratum (L.) Rotheca    serrate (L.)

ชื่อวงศ์ LAMIACEAE ; VERBENACEAE

ชื่อภาษาสันสกฤติ “ภรางคิ” (Bharangi)

ชื่ออื่นๆ หมากดูกแฮ้ง (สกลนคร) หลัวสามเกียน (เชียงใหม่) ตรีชะวา (ภาคกลาง) อัคคี (สุราษฎร์ธานี) พายสะเมา (หมอยาวาริชภูมิ) อ้าช่วย (ไทยใหญ่) แข้งม้า (เชียงราย) พรายสะเลียง (นครราชสีมา)

 ฉันรู้สึกไม่สบายใจกับชื่อแปลกๆ ของฉัน ที่ฟังดูแล้วร้อนแรงน่าสะพรึงกลัว เป็นเหมือนผู้ทรงฤทธิ์ที่เปิดประตูเผาผลาญ   รวมทั้งชื่ออื่นๆ ที่มีเรียกกันทั่วทุกภูมิภาค ก็ยังมีความหมายที่ไม่น่าเข้าใกล้ แต่ยังดีมีกำลังใจที่ชาวไทยใหญ่ เขาเรียกฉันว่า “อ้าช่วย” ซึ่งหมายถึง กินแล้วสวย และดีใจมากที่เขานำไปใช้เป็นสมุนไพร เป็นยาสำหรับบำรุงผู้หญิง

ต้นอัคคีทวาร

เรื่องราวของฉันมีคนจำนวนน้อยที่รู้จักและกล่าวถึง เพราะเมื่อเอ่ยคำ “อัคคี” ขึ้นต้นแล้วไม่มีใครคิดว่าเป็นต้นไม้ กลายเป็นชื่อเรียกทั้งเทวดาและอสูร อยู่ที่ว่าจะใช้นำหน้า หรือต่อท้ายในบริบทไหนตามจินตนาการ แต่สิ่งที่แปลกที่สุดสำหรับการเรียกชื่อเมื่อเป็นต้นไม้ได้เห็นต้น ดอก ใบ จริงๆ แล้วมีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ ต้น ดอก ใบ ของฉันมีสีสัน ช่อดอกชูชันสวยงามมาก ฉันจึงได้สติว่า มีกำลังใจเพราะรูปงาม แม้ว่านามอาจจะไม่ไพเราะหวานแหวว

ฉันสืบประวัติตัวเองแล้วพบบันทึกที่มาว่า ฉันเป็นไม้พุ่ม ที่มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาใต้ แต่กระจายพันธุ์กว้างถึงแถบเอเชีย เช่น ประเทศปากีสถาน อินเดีย พม่า จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยพบได้ตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ที่ค่อนข้างชื้นและสูงกว่าระดับน้ำทะเล ฉันเองโด่งดังทางภาคเหนือของไทยกับกลุ่มชนเผ่า เกือบทุกชนเผ่า เพราะรู้จักฉันดีว่าเป็นสมุนไพรโบราณพื้นบ้าน และใช้ทุกส่วนของฉัน ทั้ง สด แห้ง จะต้ม ตาก หรือบดทำลูกกลอน จะพอก หรือทา แม้จะต้มน้ำอาบแก้ปวดเมื่อย รวมทั้งการนำไปโขลกเอาน้ำคั้นให้ “คุณแม่มือใหม่” ดื่มหลังคลอดลูก เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ดีขึ้น และแก้อักเสบได้เยี่ยมนัก

ผลอัคคีทวาร

ฉันถูกจัดเป็นสมุนไพรโบราณ ที่ชอบขึ้นตามโคกทั่วๆไป แต่เป็นไม้พุ่มยืนต้น ขนาดเล็ก สูง 2-3 เมตร ตั้งตรง เปลือกลำต้นบางสีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยว ปลายมีติ่งหนาม โคนใบเรียวแหลม ใบกว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร หลังใบเรียบสีเข้มเป็นมัน ออกดอกสีขาวแกมม่วง หรือฟ้าหม่น เป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อยาวได้เป็นฟุต มีดอกย่อยขนาดปลายนิ้วหัวแม่มือ มี 5 กลีบ ทั้งกลีบขาวและกลีบฟ้าคราม ดูแล้วเหมือนผีเสื้อตัวน้อยๆ รวมทั้งใบประดับดอกรูปหัวใจสีขาวลายเขียว 3ใบ มีผลกลมเล็กสีดำเป็นมัน เมื่อแก่แตกออกมีเมล็ดสีดำ 2-3 เมล็ด ขยายพันธุ์ได้ แต่นิยมตอนกิ่ง หรือปักชำ

ฉันบอกแล้วว่าเรื่องราวของฉันมีคนเผยแพร่น้อย แต่คนที่รู้จักและเคยใช้ฉันเป็นยาได้เขียนเรื่องราวสรรพคุณของฉันไว้มากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณด้านสมุนไพรเก่าแก่ที่หมอยาทุกภาครู้จักดี เพราะนำไปใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร ส่วนการนำไปบริโภคก็ใช้ได้ทั้งต้น ใบ ราก หรือช่อดอก ที่เขานำไปหมกไฟ ย่างกินกับซุบ หรือแกงหน่อไม้ เช่น ชาวเขาทั้ง 3 เผ่า รวมทั้งจีนฮ่อ ชาวลั้วะไทยใหญ่ นิยมใช้ยอดอ่อน ดอกปรุงแทนผัก ชาวชนเผ่าใช้รากต้มน้ำดื่มแก้ไข้มาเลเรีย ผู้ชายต้มดื่มกระตุ้นฮอร์โมนผสมติดในการมีลูก สำหรับสตรีหลังคลอดบุตร เคี้ยวผลกลืนน้ำ แก้ไอ ต้มน้ำหยอดตาแก้เยื่อตาอักเสบ ในอินโดนีเซีย กินใบเพื่อเพิ่มแรงโดยใช้ยอดอ่อนแทนเครื่องเทศ คนมาเลเซียใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง คนอินเดียกินแก้ไข้ ด้านวิชาการมีข้อมูลทางเภสัชวิทยา พบสารหลายชนิดต้านการแพ้ ต้านฮีสตามีนและมีคุณสมบัติในด้านการบีบตัวของลำไส้ จึงมีการนำไปใช้แก้โรคระบบการย่อยหรือระบบทางเดินอาหาร โดยใช้กรอกให้สัตว์กินแก้โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร

รูปอัคคีทวาร

ในภาพรวมของต้นอัคคีทวารที่ใช้เป็นยาสมุนไพร ทั้งต้น ราก ดอก ใบนั้นจะมีรสขื่นร้อน ขับปัสสาวะ แก้อาการเสียดท้อง ราก มีรสขมร้อน สรรพคุณแก้เสมหะ ช่วยระบบทางเดินหายใจ หอบหืด รวมถึงแก้อาการอักเสบโพรงจมูกและกำจัดโรคริดสีดวงจมูก

สำหรับโรค “ริดสีดวงทวาร” ฉันขอบอกความลับในการพิชิต “ติ่งส่วนเกิน” ถ้าหาก “เสนอหน้า” มา ซึ่งเราไม่อยากจะบอกให้ใครรู้ แต่ฉันถนัดที่จะกำจัดเหมือนกัน ให้ใช้ราก หรือต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ทาริดสีดวงเกลื่อนหัวริดสีดวงทวารให้ยุบฝ่อ หรือใช้ใบ 10-20 ใบ ตากแห้ง บดแล้วคลุกกับน้ำผึ้งรวงปั้นเป็นเม็ดกิน 3-4 เม็ด ต่อเนื่อง 10 วัน หรือทั้งกิน ทั้งทา หัวริดสีดวงก็จะยุบแห้ง บางคนใช้ใบแห้งทำเป็นผงแล้วเผานั่งรมควันที่หัวริดสีดวงก็ฝ่อแห้งไปเอง  หรือสำหรับคนที่ “ใจถึงมือถึง” ซักหน่อย รวมต้น ราก ใบ ฝนกับน้ำปูนใสทำก้อน “โปะ” ที่หัวริดสีดวง พร้อมนั่งรมควัน

ส่วนที่งอกออกมาก็เหี่ยวยุบหลุดหายแน่นอน

นานมาแล้วเคยมีโฆษณายาแก้ริดสีดวงทวาร คือมีผู้ได้รับเชิญให้นั่ง แต่รีบปฏิเสธ โดยให้คำตอบว่า “ก็ลมมันเย็น” คงไม่ต้องบรรยายถึงความเจ็บปวดว่าเป็นอย่างไรที่ไม่อยากนั่ง แต่เจ็บยิ่งกว่านั้นคือไม่สามารถโชว์แผลเจ็บให้ใครเห็นก้อนเนื้อหยดย้อย หรือเส้นเลือดปูดโปน ดังนั้น จึงขอภาวนาอย่าให้ใครท้องผูกบ่อยๆ อันเป็นเหตุเริ่มต้น เสียดายจริงๆ ที่เพิ่งรู้จักไวรัสโคโรนาเพราะฉันเกิดก่อนมี “โควิด” จึงได้แต่ “พิชิตริดสีดวง” ไม่งั้นฉันจะซัดให้ “โควอด” ไปเล้ย..!

……….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2563