บานาน่า โซไซตี้ ยกระดับ กล้วยตากบ้านๆ สู่ แบรนด์เวิลด์คลาส ด้วย พาราโบล่าโดม

หลายขวบปีมาแล้วที่ กล้วยตากบางกระทุ่ม ได้รับการการันตีว่าเป็นกล้วยตากที่รสชาติดีที่สุด

เพราะ “กล้วย” เป็นผลผลิตที่พบได้ง่ายในละแวกบ้านทุกแห่ง ไม่เฉพาะอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก แต่เพราะกล้วยตากที่ผลิตในพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับการยอมรับมาเนิ่นนาน

จากกลุ่มแม่บ้านที่ผลิตสินค้าหลังบ้าน ตากกล้วยด้วยแสงอาทิตย์บ้านๆ มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาระบบการตากกล้วยให้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากขึ้น

บานาน่า โซไซตี้ (Banana Society) แปลตรงตัวคือ สังคมกล้วย ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่เกี่ยวกับกล้วยแบบครบวงจร และนี่คือชื่อของบริษัท ซึ่ง คุณวุฒิชัย ชะนะมา ผู้จัดการกล้วยตาก “Banana Society” ก่อตั้งขึ้น

จากเดิมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา ที่เริ่มจากกิจการกล้วยตากภายในครัวเรือน โดยคุณแม่เป็นหัวเรือใหญ่ ทั้งผลิตเอง ส่งกล้วยสุกให้ลูกบ้านผลิต แต่คัดคุณภาพ เพื่อนำไปส่งขายตามร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก กระทั่งจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และเมื่อตกทอดมาถึงมือของคุณวุฒิชัย ที่คุณแม่ยื่นคำขาดให้เลือกระหว่างสืบทอดกิจการ กับเรียนหนังสือ โดยให้ทุนก้อนเดียว คุณวุฒิชัยจึงเลือกสืบทอดกิจการ แม้ว่าตลอดมาหยิบจับช่วยงานในครัวเรือนไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไรนัก

“ตอนนั้นผมอายุ 15 ปีเอง ต้องเลือกว่าจะช่วยแม่ หรือเรียนต่อ ถ้าเรียนต่อได้เงินเพียงก้อนเดียว ผมคิดว่า ถ้าหมดคือหมดเลย ผมจึงเลือกที่จะช่วยแม่ทำ ก็เริ่มหยิบจับงานกล้วยตากตั้งแต่นั้นมา”

วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา เดิมก่อตั้งและจดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2548 ภายใต้แนวคิด ต้องการเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตกล้วยตากแบบดั้งเดิมให้ได้มาตรฐานระบบการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับสินค้าสู่สากล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรออกแบบสร้างเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์กรีนเฮ้าส์ หรือพาราโบล่าโดม เพื่อลดการปนเปื้อนของกล้วยน้ำว้า อันเกิดจากการตากแดดในที่โล่งแจ้ง อีกทั้งช่วยให้กล้วยมีสีผิวสม่ำเสมอ คงไว้ซึ่งรสชาติที่ดีกว่ากรรมวิธีดั้งเดิม

คุณวุฒิชัย บอกว่า ในอดีตกล้วยตาก ก็คือกล้วยตาก ตากสมชื่อ คือต้องตากกับแดดให้ได้ระยะเวลาที่ต้องการ เพื่อให้ได้กล้วยตากรสชาติที่เหมาะสม แต่สำหรับตนเองไม่ต้องการย่ำอยู่กับที่ จึงมีแนวคิดแก้ปัญหาสิ่งบกพร่องที่เกิดจากกระบวนการตากกล้วย เช่น ระยะเวลาการตาก การตากในที่โล่งเกิดปัญหาสภาพอากาศตามฤดูกาล ความสะอาด และระยะเวลาที่สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ไว้บริโภค มูลค่าของพาราโบล่าโดม สูงถึง 800,000 บาท และเมื่อนำมาติดตั้งเพื่อใช้งานจริง คุณวุฒิชัย ยอมรับว่า ยังพบปัญหาอีกหลายประการกว่าจะพัฒนามาให้พาราโบล่าโดมได้ผลดี ใช้เวลาต่อเนื่องมาอีกเกือบ 2 ปี

คุณวุฒิชัย เล่าว่า ก่อนหน้าการจดทะเบียนเป็นบริษัท Banana Society กลุ่มอยู่ในรูปของวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา และใช้แบรนด์กล้วยตากบุปผามาโดยตลอด เมื่อเริ่มนำพาราโบล่าโดมเข้ามาใช้ จึงมองถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ได้กล้วยตากที่มีมาตรฐาน ต้องการการยอมรับในแบบสากล จึงปรับเปลี่ยนระบบการผลิต จากเดิมตากบนลานตากหรือแคร่ ให้เป็นการตากกล้วยในพาราโบล่าโดม เพื่อให้มีความเป็นสากลและได้มาตรฐาน

พาราโบล่าโดม จะช่วยให้กล้วยตากที่ได้ปลอดจากแมลง ฝุ่น มีความสะอาด ทั้งยังช่วยย่นระยะเวลาจากเดิมที่ต้องตากกล้วยนานถึง 7 วัน ลดลงเหลือเพียง 4-5 วัน ต่อการตากกล้วย 1 ครั้ง ซึ่งช่วยได้ดีในช่วงฤดูฝน ที่การตากกล้วยประสบปัญหามาก ที่นอกจากจะตากกล้วยไม่แห้งตามระยะเวลาแล้ว อาจเกิดเชื้อแบคทีเรียสะสมในกล้วย ก่อให้เกิดปัญหาเน่าเสีย ระยะเวลาจัดเก็บเพื่อบริโภคค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ การตากกล้วยในช่วงระยะเวลาที่แดดน้อย จะทำให้กล้วยสีดำเข้ม และสีไม่สม่ำเสมอ สีออกมาไม่สวย ไม่น่ารับประทาน

“พาราโบล่าโดม ทำให้ปัญหาที่ผมต้องการแก้หมดไป โอกาสเกิดความสูญเสียน้อยมาก ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์”

บานาน่า โซไซตี้ นับเป็นกล้วยตากบางกระทุ่มแห่งแรก ที่นำพาราโบล่าโดมมาใช้ในการตากกล้วยให้ได้มาตรฐาน

“อย่างที่ผมบอก หลังติดตั้งพาราโบล่าโดมแล้ว ยังประสบปัญหา ซึ่งต้องเรียกว่าอยู่ในขั้นทดลองนานต่อเนื่องมาอีก 2 ปี กว่าจะได้มาตรฐานการผลิต โดยการลงทุนโรงเรือนพาราโบล่าโดมต่อแห่งอยู่ที่ 800,000 บาท ถือว่าไม่สูง เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่ทำให้สามารถผลิตกล้วยตากได้มากถึง 1,400 กิโลกรัม ต่อวัน ภายในพื้นที่ 160 ตารางเมตร”

แม้ว่าเดิมครอบครัวคุณวุฒิชัยจะแปรรูปกล้วยให้เป็นกล้วยตากเพียงอย่างเดียว และไม่ได้มีพื้นที่สำหรับปลูกกล้วยเองแต่อย่างใด เมื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจและปรับรูปแบบในรูปของบริษัทแล้ว คุณวุฒิชัยจึงปันที่ดินส่วนหนึ่งสำหรับปลูกกล้วย และยอมรับว่า ในอดีตการทำกล้วยตากของอำเภอบางกระทุ่มเกือบทั้งหมด ผลิตกล้วยตากจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป สภาพอากาศเปลี่ยน ผลผลิตกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องมีไม่เพียงพอ จึงต้องใช้กล้วยสายพันธุ์อื่นร่วมด้วย และถึงแม้จะอยู่ในรูปแบบของบริษัท แต่ด้วยการเติบโตของบริษัทมาจากการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จึงมองเรื่องของการกระจายรายได้สู่ชุมชน จึงคงดำเนินการทำงานไม่ต่างจากรูปแบบเดิมมาก ยังคงหาวัตถุดิบส่งให้กับหลายครัวเรือนในชุมชนผลิตในขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานคน เช่น การปอกกล้วย

วัตถุดิบสำหรับทำกล้วยตาก

  1. กล้วยน้ำว้าสุก 3 หวี
  2. เกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะ
  3. น้ำ 10 ถ้วย

วิธีทำกล้วยตาก

  1. ตัดกล้วยออกจากหวีเป็นลูก ตัดหัวตัดท้าย ปอกเปลือกล้วย ดึงเส้นใยที่ลูกออก วางเรียงบนตะแกรง ตากแดดประมาณ 6-7 วัน
  2. เมื่อตากกล้วยจนครบ 5 วันแล้ว ทำน้ำเกลือ โดยใส่เกลือกับน้ำลงในหม้อเคลือบ ตั้งไฟกลางให้เดือด และเกลือละลาย ยกลง ทิ้งไว้ให้อุ่น
  3. นำกล้วยที่ตากมาคลึงให้แบน โดยวางกล้วยบนใบตองแล้ววางใบตองทับข้างบน ใช้มีดกดเบาๆ คลึงด้วยขวด จนกล้วยแบน ทำจนหมด แล้วล้างกล้วยด้วยน้ำเกลือที่ต้ม เรียงบนตะแกรง นำไปตากแดดอีกครั้งจนครบ 7 วัน หมั่นคอยกลับให้กล้วยแห้งทั้ง 2 ด้าน
  4. เรียงกล้วยที่ตากลงในภาชนะที่มีฝาปิด ค้างไว้ 1 คืน กล้วยจะมีน้ำตาลซึมออกมา ทำให้กล้วยเป็นเงางามไม่แห้ง

ไอเดียมากมายผุดขึ้นในความคิดของคุณวุฒิชัย ที่มองเห็นช่องทางการตลาด เขาเห็นว่า การขายกล้วยตากแบบเดิม ไม่ว่าจะที่ไหนก็สามารถผลิตได้ แม้ว่ากล้วยตากที่ผลิตได้จากบริษัทของเราจะมีคุณภาพก็ตาม ไม่นานก็จะมีแหล่งผลิตอื่นสามารถทำได้เช่นเดียวกัน จึงมองตลาดให้ไกลกว่านั้น โดยคิดค้นกล้วยตากรสชาติใหม่ๆ เช่น กล้วยตากเคลือบช็อกโกแลต อัลมอนด์ ชาเขียว สตรอเบอรี่ และอีกหลายรสชาติ เพื่อตีตลาดในกลุ่มที่ไม่ได้ชอบรสชาติกล้วยตากธรรมชาติแต่อย่างเดียว

ความสำเร็จของ Banana Society ได้รับการยอมรับและคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป ซึ่งนอกเหนือจากครองตลาดในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปต่างประเทศ สัดส่วนการส่งออกก่อนประสบภาวะโควิด-19 มีมากถึงร้อยละ 35 ของยอดการผลิตทั้งหมด

“ผลสำเร็จของการก่อตั้งบริษัท Banana Society ผมไม่ได้มองแค่ ผมเติบโตจากวิสาหกิจชุมชนมาเป็นบริษัท แต่ผมมองว่าผมพัฒนากล้วยตากบ้านๆ ให้มีคุณภาพ ยกระดับผลิตภัณฑ์ขึ้นมาในระดับสากล ทำให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้รับการยอมรับ ถือว่าเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับนวัตกรรมใหม่อย่างลงตัว” คุณวุฒิชัย กล่าว

ไอเดียที่ก่อเกิดจากตัวคุณวุฒิชัยในวันนั้น จนถึงความสำเร็จในวันนี้ จะลงลึกในรายละเอียดให้ท่านที่สนใจได้ฟังจากปากคุณวุฒิชัยเอง ภายในงาน 33 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรไทยยุค 5G Innovation for new normal ในรูปแบบของการสัมมนาเชิงวิชาการ โดย คุณวุฒิชัย ชะนะมา จะมาให้ข้อมูลในหัวข้อ กล้วยตากผึ่งแดดแบบพื้น สู่แบรนด์เวิลด์คลาส ทั้งยังมีหัวข้อสัมมนาเชิงวิชาการอีกหลายหัวข้อน่าสนใจในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ งานมีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยผ่านการลงทะเบียน 2 ช่องทาง คือ เฟซบุ๊ก Technologychaoban หรือโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอพันธุ์ส้มตำ จาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี