กรมน้ำบาดาล พร้อมประกาศสู้ภัยแล้งปี 60 เข้าถึงพื้นที่ภายใน 24 ชม.

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า สถานการณ์ปริมาณน้ำ ในเขื่อนหลักของประเทศไทยมีปริมาณน้ำในระดับน้อย และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การรวม 17,458 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในภาวะน้ำน้อยเช่นเดียวกัน ปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้ว 1 จังหวัด 3 อำเภอ 85 หมู่บ้าน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้เตรียมมาตรการความพร้อมรับมือภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2560 อย่างเข้มแข็ง ในภาพรวมของทั้งประเทศ ประกอบด้วย ภารกิจการจัดหาน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 1,500 แห่ง โดยการเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 1 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเชื่อมต่อกับระบบประปาเดิมของหมู่บ้าน คาดว่าประชาชนในพื้นที่เป้าหมายจะมีน้ำบาดาลใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 225,000 ครัวเรือน ปัจจุบันผลการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ จำนวน 413 แห่ง

นายสุพจน์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 688 แห่ง แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 จำนวนนักเรียนและบุคลากร 300 รายขึ้นไป และ แบบ 100 รายขึ้นไป โดยการเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 1 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและก่อสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คาดว่านักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน รวมถึงประชาชนใกล้เคียงจะมีน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 61,600 ครัวเรือน ปัจจุบันผลการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ จำนวน 438 แห่ง ภารกิจการจัดหาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จำนวน 1,700 แห่ง สำหรับพื้นที่ 100 ไร่ เจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ก่อสร้างระบบกระจายน้ำ พร้อมติดตั้งหอถังสูงขนาด 30 ลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ 30 – 50 ไร่ เจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 1 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ เดินเครื่องด้วยเครื่องยนต์ต้นกำลังพร้อมวางท่อส่งน้ำพลาสติก และ สำหรับพื้นที่ 80 ไร่ เจาะบ่อน้ำบาดาล 1 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าโดยใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อสร้างระบบกระจายน้ำ พร้อมติดตั้งหอถังสูงขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร คาดว่าเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายจะมีน้ำบาดาลเพื่อการเพาะปลูก จำนวน 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่ได้รับประโยชน์ 57,500 ไร่ ปัจจุบันผลการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ จำนวน 469 บ่อ

นายสุพจน์ กล่าวว่า โครงการระบบกระจายน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 572 แห่ง ระบบดังกล่าวประกอบด้วย พัฒนาบ่อน้ำบาดาลที่มีอยู่พร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ซึ่งใช้เครื่องยนต์กำลังต้นในการสูบน้ำ เปลี่ยนเป็นเครื่องสูบไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งหอถังสูงขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร เพื่ออุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม และก่อสร้างระบบกระจายน้ำไปยังบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตร โดยโครงการระบบกระจายน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในพื้นที่ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

“โครงการราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง จะร่วมกันให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค จนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย ได้จัดเตรียมชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 94 ชุด ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล 43 ชุด ชุดซ่อมแซมระบบประปาและเครื่องสูบน้ำ 43 ชุด ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลเคลื่อนที่ 17 ชุด รถบรรทุกน้ำ 84 คัน จุดจ่ายน้ำถาวร 103 จุดทั่วประเทศ”นายสุพจน์ กล่าว