กรมส่งเสริมการเกษตรรับมอบต้นแม่พันธุ์เบญจมาศ 5 สายพันธุ์ใหม่ เพื่อทดสอบพันธุ์สู่การส่งเสริมในแต่ละพื้นที่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบต้นแม่พันธุ์เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ในลักษณะต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในขวดจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ 1.พันธุ์ Tistr Pink Pastel 2.พันธุ์ Tistr Pink Loop 3.พันธุ์ Tistr Yellow Resist 4.พันธุ์ Tistr Brick และ 5.พันธุ์ Tistr Pink Center โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเบญจมาศทั้ง 5 สายพันธุ์ดังกล่าว ไปปลูกทดสอบและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตเบญจมาศที่สำคัญของประเทศ ก่อนขยายผลสู่งานส่งเสริมเกษตรกร โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชจะรับผิดชอบอนุบาลต้นพันธุ์จนพร้อมปลูก รวมทั้งเก็บรักษาต้นแม่พันธุ์ ส่วนศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับผิดชอบทำแปลงทดสอบพันธุ์

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลายของพันธุ์เบญจมาศภายในประเทศ จากพันธุ์เดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างทางเลือกและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกร

สำหรับประเทศไทยเบญจมาศได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยใช้เป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ปลูกประดับสวน รวมทั้งปลูกเพื่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากการใช้ประโยชน์เพื่อความสวยงามแล้วยังมีประโยชน์ในด้านช่วยลดมลพิษในอากาศ นอกจากนี้ คุณสมบัติที่ดีของเบญจมาศ คือ มีอายุการปักแจกันนาน รูปทรงและสีสันมีความหลากหลาย ตลอดจนเป็นไม้ดอกที่สามารถกำหนดช่วงเวลาการบานของดอกได้ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ช่วงฤดูกาลที่สามารถผลิตได้ดีทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต คือ ช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ บางช่วงผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ปริมาณไม่ต่อเนื่อง คุณภาพดอกไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งมีผลให้อายุการปักแจกันสั้นลง จึงทำให้มีการนำเข้าเบญจมาศมาจากต่างประเทศ ซึ่งเกือบทั้งหมดนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ส่วนที่เหลือมาจากประเทศเวียดนาม ลาว และจีน รวมเป็นมูลค่านำเข้ามากกว่า 300 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกเบญจมาศไม่มากนัก สำหรับแหล่งปลูกเบญจมาศที่สำคัญของไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ที่เริ่มมีความสนใจปลูก เช่น จังหวัดเลย หนองคาย เป็นต้น จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกร พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 1,138.38 ไร่

โดยเกษตรกรนิยมปลูกแบบดอกช่อมากกว่าแบบดอกเดี่ยว เนื่องจากดูแลรักษาง่ายกว่า เป็นที่ต้องการของตลาด และสีดอกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือ สีขาว เหลือง และม่วง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกเบญจมาศของไทยยังมีมูลค่าน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดิมที่มีการเพาะปลูกมามากกว่า 10 ปี และการพัฒนาพันธุ์เบญจมาศในประเทศยังไม่กว้างขวางมากนัก ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ส่วนพันธุ์ใหม่อื่น ๆ เป็นพันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งมีลิขสิทธิ์พันธุ์พืชไม่สามารถนำมาขยายพันธุ์ต่อได้หากไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ความหลากหลายของพันธุ์เบญจมาศในประเทศมีไม่มาก รวมถึงบางพันธุ์ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน