เขื่อนลำปาวประกาศปิดส่งน้ำในฤดูแล้ง 90 วัน หลังพ้นสงกรานต์

วันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เป็นประธานประชุมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในเขื่อนลำปาว เพื่อชี้แจงการประกาศปิดน้ำฤดูแล้งประจำปี 2560 โดยมีนายอำพล จินดาวงศ์ ประมง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์น้ำ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามและผู้เลี้ยงปลากระชัง ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายฤาชัย กล่าวว่า เขื่อนลำปาวมีความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 614.40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 31.03 % ขณะที่ห้วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วมีปริมาณ 444.35 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22.44 % อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของโครงการฯ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ใช้น้ำ ทั้งในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ที่กุ้งก้ามกราม และปลากระชัง รวมทั้งการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง โดยเขื่อนลำปาวมีพื้นที่บริการในเขตชลประทานทั้งหมด 306,963 ไร่ ข้าว 263,378 ไร่ บ่อกุ้ง 2,922 ไร่ บ่อปลา 1,577 ไร่ พืชผัก 1,096 ไร่ และที่เหลือเป็นพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้กำหนดปิดน้ำในฤดูแล้งตามปฏิทินปฏิบัติ ประมาณ 90 วัน ระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 30 กรกฎาคม 2560 เพื่อทำการซ่อมบำรุงคูคลองที่ชำรุด และรักษาระบบนิเวศ ขอให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่าและแบ่งปัน เพื่อให้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอและทั่วถึง

ด้านนายอำพล กล่าวว่า ในฤดูแล้งโดยเฉพาะช่วงโครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาวปิดการส่งน้ำ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อบ่อกุ้งก้ามกรามและกระชังเลี้ยงปลา เพื่อลดความสูญเสียได้กำชับให้เกษตรกรจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ลดพื้นที่และลดจำนวนในการเลี้ยงลง ทั้งนี้ เพื่อลดความแออัดและป้องกันการเกิดน้ำเสีย ที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดการน็อคตายได้

“สำหรับเกษตรกรที่ใช้เครื่องตีน้ำในบ่อเพื่อสร้างออกซิเจนให้กุ้งนั้น ระดับบ่อควรมีความลึกประมาณ 1.5 – 2.0 เมตร หากความลึกบ่อไม่ได้ขนาด เมื่อเปิดเครื่องตีน้ำจะทำให้เกิดตะกอนหรือสารแขวนลอย ที่อาจเป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้กุ้งน็อคได้ เพื่อความปลอดภัย เกษตรกรควรเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ ด้วยการขุดบ่อให้มีความลึก และสำรองน้ำไว้ใช้ ก็จะสามารถพ้นผ่านวิกฤตแล้งไปได้อย่างปลอดภัย” นายอำพล กล่าว

ทั้งนี้ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม กระจายในพื้นที่ ต.บัวบาน ต.เขาพระนอน ต.นาเชือก อ.ยางตลาด ประมาณ 1,000 ราย เลี้ยงปลากระชังเหนือเขื่อนลำปาว ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ต.เสาเล้า อ.หนองกุงศรี อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ประมาณ 600 ราย ในฤดูแล้งของทุกปีประสบปัญหาอากาศวิปริต เกิดการน็อคตาย ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการเลี้ยงที่ต้นทุนสูง ทั้งค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ลูกปลา และอาหาร จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้วย เพื่อเกษตรกรจะได้มีอาชีพที่ยั่งยืน เพราะเกษตรกรเลิกกิจการไปมาก เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน