เผยแพร่ |
---|
เกิดเป็นประเด็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากความคึกคะนอง และความไม่รู้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปเที่ยวบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วมีอันต้องเจอกับ บรรดา “ขาใหญ่” หรือช้างป่า ระหว่างทาง ความอยากรู้ อยากเห็น อยากลองของ และความคึกคะนองของคนบางกลุ่ม ที่อยากเข้าไปใกล้ชิด หรือพยายามมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงได้แต่งตั้งชุดอารักขาช้างป่าขึ้นมา ทำหน้าที่อารักขาคุ้มครองช้างเขาใหญ่ ที่มักจะเดินออกมาจากป่า เดินเล่น ข้ามถนนไปมาบริเวณทางขึ้นลงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อารักขา คุ้มครองช้าง ในที่นี้หมายรวมไปถึงดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวไม่ให้มีทั้งกิริยา และการกระทำที่ก่อให้เกิดความรำคาญใจแก่บรรดาช้างป่าที่ออกมาใช้เส้นทางร่วมกับนักท่องเที่ยวในบางช่วงเวลา ระหว่างเดินทางขึ้น-ลง หรือพักแรมในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อันหมายถึงอาจจะทำให้ถูกช้างทำร้ายเอาก็ได้
เจ้าหน้าที่ชุดอารักขาช้างป่าเขาใหญ่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษในการทำความรู้จักกับช้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รู้จักตั้งแต่รูปร่างหน้าตาและนิสัยใจคอ รวมทั้งทำให้ช้างไว้วางใจมากที่สุดด้วย
นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล๊อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หนึ่งในทีมปฏิบัติการอารักขาช้างเขาใหญ่ บอกว่า ช้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ที่อยู่รวมกันเป็นโขลง กับช้างตัวผู้ที่แยกออกมาหากินตัวเดียว ซึ่งประเภทที่หากินตัวเดียวนี้ เป็นภารกิจหนึ่งที่ทีมอารักขาช้างจะต้องทำความรู้จัก จดจำเอกลักษณ์ประจำตัวให้ได้ทุกตัว หรือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“เราจึงตั้งชื่อเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ว่าตัวนี้ชื่อนี้ นิสัยเป็นอย่างนี้ เพื่อจะหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการเข้าไปจัดการเมื่อเกิดเหตุใดๆ ขึ้นมา เราไม่ได้ตั้งชื่อเพื่อเรียกให้ช้างรู้จัก หรือให้พวกมันจำชื่อตัวเอง แต่ตั้งชื่อในฐานะบุคคลที่ 3 เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ แบ่งแยกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน” หมอล๊อตบอก
วันนี้ หมอล๊อตจะพาไปทำความรู้จักกับบรรดาช้างพลายขาใหญ่ที่ชอบปรากฏตัวให้นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยลโฉมบ่อยๆ
“พี่โยโย่ เป็นพระเอกตัวล่าสุด ที่ปรากฏเป็นข่าวกับรถคัมรี เมื่อเร็วๆ นี้ พี่โยโย่อายุ 30 ปี เดิมนิสัยไม่กลัวอะไรเลย ทั้งรถและคน รวมทั้งช้างตัวอื่นๆ เราตั้งชื่อว่า โรนันดินโย่ เพราะเขาชอบเตะกรวยที่เจ้าหน้าที่เอาไปวางไว้กลางถนน เรียกไปเรียกมา รู้สึกว่ามันเรียกยาก เลยหดลงมาเป็นโยโย่ ประกอบกับเวลาเดินเขาชอบเดินโยกหัวไปมา ชื่อโยโย่ น่าจะเหมาะสมกับเขาที่สุด”
หมอล๊อตบอกว่า ในความเห็นของตนนั้น ถือว่า เวลานี้โยโย่เป็นช้างที่น่าเห็นใจมากที่สุด เพราะอยู่ในภาวะเจ็บทั้งกายและใจ เจ็บกายคือ ไปต่อสู้กับช้างพลายตัวอื่นเพื่อแย่งตัวเมีย ก็โดนงาแทงมาได้รับบาดเจ็บ เพิ่งจะเอาเลือดมาเช็ดกับรถผมยังไม่ได้ล้างออกเลย พลาดท่าอกหักแล้วมาเจ็บตัวอีก เป็นสาเหตุที่ทำให้โยโย่หงุดหงิดง่ายเวลานี้ เจอรถคัมรียั่วอารมณ์ ก็พาลโมโห ต้องไล่ตามคลายเครียด
ขาใหญ่อีกตัวที่เจ้าหน้าที่เขาใหญ่และนักท่องเที่ยวจะเจอบ่อยมากคือ “พี่ด้วน” ลักษณะเด่นของพี่ด้วนก็คือ หางกุดเหมือนหางด้วน เป็นลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของช้างพลายตัวนี้
“พี่ด้วนจะชอบไปปรากฏตัวอยู่หน้าร้านอาหารวนาลี ภายในที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มากที่สุด พี่ด้วนจะเดินหากินเป็นวงรอบ รอบๆ ที่ทำการอุทยานฯ แต่ไม่เป็นที่น่ากังวลใจอะไร เพราะเขาเป็นช้างที่สุภาพจะไม่ทำร้ายใคร ใครที่มาเที่ยวเขาใหญ่ ถ้าพบพี่ด้วนเดินอยู่แถวนี้ ไม่ต้องกลัวอะไร เพียงให้ความร่วมมือทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เท่านั้น เราตั้งข้อสังเกตกันว่าลูกช้างหลายตัวที่อยู่ในโขลงเวลานี้ มีหางกุดเหมือนพี่ด้วน คาดกันว่าลูกช้างเหล่านั้นเป็นผลงานของพี่ด้วนทั้งหมด”
นสพ.ภัทรพล บอกด้วยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทุกคนจะใช้คำสุภาพเวลาเรียกช้างที่นี่ ไม่ใช้คำเกรี้ยวกราด หรือเรียกด้วยเสียงโทนสูง เพราะเสียงสูงจะยิ่งทำให้ช้างตกใจ ส่วนการเรียกโดยมีคำนำหน้าว่าพี่นั้น ถือเป็นการให้เกียรติ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่คู่บ้านคู่เมือง
“เวลาเราเรียกชื่อ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเขาชื่อนี้ แต่จากโทนเสียง หรือกิริยาที่เจ้าหน้าที่แสดงด้วย เขาจะรู้ว่าเราไม่ต้องการเข้าไปทำร้าย ยกเว้นว่าเขากำลังตกใจ”
นอกจากพี่โยโย่ กับ พี่ด้วนแล้ว ช้างพลายขาใหญ่ที่หมอล๊อตบอกว่าเป็น “ออลสตาร์” นั้น ยังมีอีกหลายตัว
“พี่งาทอง” ช้างตัวใหญ่ งาสีเหลืองอ่อนๆ คล้ายๆ สีทอง นิสัยสุภาพ ใจดี ไม่กลัวรถ เวลาไปหาดินโป่งกิน ปกติช้างเด็กๆ ที่ยังไม่มีงา หรือมีงาเล็กๆ จะแทงดินโป่งกินไม่ค่อยได้ พี่งาทองก็มักจะไปช่วยช้างเด็กๆ ขุดดินโป่งเสมอ ทั้งๆ ที่เวลาปกตินั้น พี่งาทองจะไม่เข้าไปยุ่งกับช้างในโขลงเลย
“พี่งาทองเล็ก” ขี้เล่น ชอบไล่รถ
“พี่งาเบี่ยงเล็ก” กับ “พี่งาเบี่ยงใหญ่” เรียบร้อยทั้งคู่ ชอบออกมาตอนกลางวัน เราสงสัยว่าเป็นพี่น้องกันหรือเปล่า เพราะเขาค่อนข้างสนิทกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน ชอบหยอกล้อกัน บางทีก็เอางางัดกันข้างทาง เหมือนโชว์การต่อสู้ แต่ไม่จริงจัง แค่หยอกๆ กันแล้วผละไป
“พี่งาอ้วนเล็ก” ขี้อาย กลัวรถ
“พี่ผาตะแบกน้อย” เป็นช้างวัยรุ่น ไม่กลัวรถ ชอบออกมาอยู่กลางถนนตอนกลางวัน
ฯลฯ
หมอล๊อต กล่าวทิ้งท้ายว่า ความจริงแล้วทุกพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น เดิมทีคือบ้านของช้าง พวกพี่เหล่านี้จึงสามารถเดินไปได้ทุกหนทุกแห่งที่เขาอยากไป แต่พวกเขาก็ค่อยๆ เรียนรู้เช่นเดียวกันว่า ที่ไหนควรไปบ้าง แต่ถนนเส้นทางขึ้น-ลงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้นอยู่ติดกับป่าจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเจอพวกเขาออกมายืนเล่น เดินเล่นกันเป็นประจำ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเข้าไปในสถานที่ของพวกเขา ผู้ไปเยือนต้องให้ความเคารพ ให้ความเกรงใจ
อย่าสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของบ้าน