33 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน – นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรไทย ยุค 5G INNOVATION FOR NEW NORMAL

เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนที่เปรียบเสมือนการเริ่มต้นก้าวเดินในปีต่อมา ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 33 ของการก่อตั้ง

ด้วยนวัตกรรมในภาคเกษตรที่ก้าวกระโดด และด้วยความปรารถนาดีส่งต่อองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมให้กับผู้อ่าน เป็นการคืนกำไร ในโอกาสนี้จึงจัดการสัมมนาขึ้นในหัวข้อ “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทย ยุค 5G INNOVATION FOR NEW NORMAL” ในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยมีผู้นำด้านนวัตกรรมที่หลากหลายมาผ่อนถ่ายความรู้

โดย คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อนวัตกรรมนำเกษตรไทยรุ่งเรือง จากนั้นนำเข้าสู่การสัมมนานวัตกรรมสร้างอนาคต โดย คุณอรนุช ทัพพสารดำรง รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารศูนย์วิจัย-พัฒนา ซีพีเอฟ บริษัท เจริญ โภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) คุณวุฒิชัย ชะนะมา เจ้าของผลิตภัณฑ์ “บานาน่า โซไซตี้” เมืองสองแคว และ คุณวีรพงศ์ สุโอสถ จากฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัด จังหวัดปทุมธานี ต่อด้วยการสัมมนาในหัวข้อฝ่าวิกฤตเกษตรจากห้องปฏิบัติการ โดย ดร.เกรียงไกร โมสาลียานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ BIOTEC และ คุณสุภัทร เมฆิยานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักวิจัยและพัฒนา บริษัท เจียไต๋ จำกัด

จึงขอหยิบยกตัวอย่างผู้นำด้านนวัตกรรมการเกษตร มาไว้ให้อ่านเบื้องต้น

บานาน่า โซไซตี้ ยกระดับ กล้วยตากบ้านๆ

สู่ แบรนด์เวิลด์คลาส ด้วย พาราโบล่าโดม

Advertisement
คุณวุฒิชัย ชะนะมา

บานาน่า โซไซตี้ (Banana Society) แปลตรงตัว คือ สังคมกล้วย ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่เกี่ยวกับกล้วยแบบครบวงจร และนี่คือชื่อของบริษัท ซึ่ง คุณวุฒิชัย ชะนะมา ผู้จัดการกล้วยตาก “Banana Society” ก่อตั้งขึ้น

จากเดิมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา ที่เริ่มจากกิจการกล้วยตากภายในครัวเรือน โดยคุณแม่เป็นหัวเรือใหญ่ ทั้งผลิตเอง ส่งกล้วยสุกให้ลูกบ้านผลิต แต่คัดคุณภาพ เพื่อนำไปส่งขายตามร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลก กระทั่งจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน

Advertisement

วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา เดิมก่อตั้งและจดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2548 ภายใต้แนวคิด ต้องการเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตกล้วยตากแบบดั้งเดิมให้ได้มาตรฐานระบบการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับสินค้าสู่สากล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรออกแบบสร้างเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์กรีนเฮ้าส์ หรือพาราโบล่าโดม เพื่อลดการปนเปื้อนของกล้วยน้ำว้า อันเกิดจากการตากแดดในที่โล่งแจ้ง อีกทั้งช่วยให้กล้วยมีสีผิวสม่ำเสมอ คงไว้ซึ่งรสชาติที่ดีกว่ากรรมวิธีดั้งเดิม

คุณวุฒิชัย ยอมรับว่า พบปัญหาอีกหลายประการกว่าจะพัฒนามาให้พาราโบล่าโดมได้ผลดี ใช้เวลาต่อเนื่องมาอีกเกือบ 2 ปี

คุณวุฒิชัย เล่าว่า ก่อนหน้าการจดทะเบียนเป็นบริษัท Banana Society กลุ่มอยู่ในรูปของวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา และใช้แบรนด์กล้วยตากบุปผามาโดยตลอด เมื่อเริ่มนำพาราโบล่าโดมเข้ามาใช้ จึงมองถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ได้กล้วยตากที่มีมาตรฐาน ต้องการการยอมรับในแบบสากล จึงปรับเปลี่ยนระบบการผลิต จากเดิมตากบนลานตากหรือแคร่ ให้เป็นการตากกล้วยในพาราโบล่าโดม เพื่อให้มีความเป็นสากลและได้มาตรฐาน

พาราโบล่าโดม จะช่วยให้กล้วยตากที่ได้ปลอดจากแมลง ฝุ่น มีความสะอาด ทั้งยังช่วยย่นระยะเวลาจากเดิมที่ต้องตากกล้วยนานถึง 7 วัน ลดลง เหลือเพียง 4-5 วัน ต่อการตากกล้วย 1 ครั้ง ซึ่งช่วยได้ดีในช่วงฤดูฝน ที่การตากกล้วยประสบปัญหามาก ที่นอกจากจะตากกล้วยไม่แห้งตามระยะเวลาแล้ว อาจเกิดเชื้อแบคทีเรียสะสมในกล้วย ก่อให้เกิดปัญหาเน่าเสีย ระยะเวลาจัดเก็บเพื่อบริโภคค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ การตากกล้วยในช่วงระยะเวลาที่แดดน้อย จะทำให้กล้วยสีดำเข้ม และสีไม่สม่ำเสมอ สีออกมาไม่สวย ไม่น่ารับประทาน

“พาราโบล่าโดม ทำให้ปัญหาที่ผมต้องการแก้หมดไป โอกาสเกิดความสูญเสียน้อยมาก ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์”

บานานา โซไซตี้ นับเป็นกล้วยตากบางกระทุ่มแห่งแรก ที่นำพาราโบล่าโดมมาใช้ในการตากกล้วยให้ได้มาตรฐาน

“อย่างที่ผมบอก หลังติดตั้งพาราโบล่าโดมแล้ว ยังประสบปัญหา ซึ่งต้องเรียกว่าอยู่ในขั้นทดลองนานต่อเนื่องมาอีก 2 ปี กว่าจะได้มาตรฐานการผลิต โดยการลงทุนโรงเรือนพาราโบล่าโดมต่อแห่งอยู่ที่ 800,000 บาท ถือว่าไม่สูง เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่ทำให้สามารถผลิตกล้วยตากได้มากถึง 1,400 กิโลกรัม ต่อวัน ภายในพื้นที่ 160 ตารางเมตร”

ไอเดียมากมายผุดขึ้นในความคิดของคุณวุฒิชัย ที่มองเห็นช่องทางการตลาด เขาเห็นว่า การขายกล้วยตากแบบเดิมไม่ว่าจะที่ไหนก็สามารถผลิตได้ แม้ว่ากล้วยตากที่ผลิตได้จากบริษัทของเราจะมีคุณภาพก็ตาม ไม่นานก็จะมีแหล่งผลิตอื่นสามารถทำได้เช่นเดียวกัน จึงมองตลาดให้ไกลกว่านั้น โดยคิดค้นกล้วยตากรสชาติใหม่ๆ เช่น กล้วยตากเคลือบช็อกโกแลต อัลมอนด์ ชาเขียว สตรอเบอรี่ และอีกหลายรสชาติ เพื่อตีตลาดในกลุ่มที่ไม่ได้ชอบรสชาติกล้วยตากธรรมชาติแต่อย่างเดียว

ความสำเร็จของ Banana Society ได้รับการยอมรับและคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป ซึ่งนอกเหนือจากครองตลาดในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปต่างประเทศ สัดส่วนการส่งออกก่อนประสบภาวะโควิด-19 มีมากถึงร้อยละ 35 ของยอดการผลิตทั้งหมด

…………….

แพลนต์ แฟกตอรี่ (Plant Factory)

โรงงานผลิตพืชแห่งอนาคต

ควบคุมสภาพแวดล้อมตามต้องการ

ดร.เกรียงไกร โมสาลียานนท์

Plant Factory หรือ Vertical Farming System-Plant Factory with Artificial Lighting (PFAL) นวัตกรรมในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ มีความแข็งแรงปราศจากโรค แมลง สารเคมีปนเปื้อน และมีเสถียรภาพในการผลิต โดยไม่ขึ้นกับฤดูกาลแห่งผลผลิต และปัจจัยของธรรมชาติ

Plant Factory คืออะไร

Plant Factory คือ โรงงานผลิตพืช เป็นระบบการปลูกพืชที่ควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารละลายธาตุ ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ Plant Factory มีการใช้เทคนิค Soilless Culture ในการปลูกพืช เช่น ระบบไฮโดรโปนิกส์ คือการปลูกพืชโดยให้รากแช่อยู่ในสารละลายโดยตรง สารละลายธาตุอาหารจะไหลผ่านในรางปลูกพืช โดยใช้ปั๊มดูดสารละลายให้ไหลผ่านรางมาที่รากพืช และไหลเวียนกลับมายังถังเก็บสารละลาย ข้อแตกต่างระหว่าง Plant Factory กับ ระบบไฮโดรโปนิกส์ คือ ระบบ Plant Factory สามารถปลูกพืชในแนวตั้งได้หลายชั้น อาจมากถึง 10 ชั้น ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมาะกับสถานที่ที่มีพื้นจำกัด โดยชนิดพืชที่เหมาะสมในการปลูกด้วยระบบ Plant Factory ได้แก่ กลุ่มพืชอาหารหลัก เช่น ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง และอ้อย กลุ่มพืชเพื่อสุขภาพ เช่น พืชผัก และพืชสมุนไพร รวมถึงไม้ดอก เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับสกัด “สารสำคัญมูลค่าสูง” ป้อนตลาดยา-อาหารเสริม-เวชสำอาง เสริมจุดแข็งทรัพยากร มุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ

รูปแบบ Plant Factory แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติ (Plant Factory with Sunlight)
  2. โรงปลูกพืชระบบเปิด ชนิดใช้แสงธรรมชาติร่วมกับแสงเทียม (Plant Factory with Sunlight and Supplemental Light)
  3. โรงปลูกพืชระบบปิด ชนิดใช้แสงเทียมทั้งระบบ (Plant Factory with Fully Artificial Light) ซึ่งรูปแบบ Plant Factory ทั้ง 3 ประเภทนี้ เกษตรกรสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับเป้าหมายและทุนทรัพย์ของตัวเองได้ แต่ละประเภทมีจุดมุ่งหมาย และตลาดที่แตกต่างกัน จะมีผลรับที่เหมือนกันคือ สามารถให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ ลดต้นทุนค่าแรงงาน และสามารถปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกไปได้เรื่อยๆ

…………

“ฟาร์มลุงแดง” กับการบริหารจัดการน้ำ

แบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่คลองเจ็ด

คุณวีรพงศ์ สุโอสถ

“ฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัด” ต้นแบบความสำเร็จของ ศพก.ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งอยู่เลขที่ 26/4 หมู่ที่ 7 ซอยเฉลิมพระเกียรติ 2 ตำบลคลองเจ็ด อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 ฟาร์มแห่งนี้ เป็นกิจการครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่และลูก 2 คน พวกเขามีจุดเริ่มต้นเหมือนกับเกษตรกรทั่วไปที่ปลูกพืชทั้งจากการทำนา ทำสวน เพื่อสร้างผลผลิตจำหน่าย

ที่ผ่านมา ทางฟาร์มประสบปัญหาหลายประการ ทั้งด้านการตลาด ด้านโรคแมลงและภัยธรรมชาติต่างๆ จนได้รับความเสียหาย แต่คำว่าท้อ ไม่มี พวกเขามุ่งมั่นกับการแก้ไขเพื่อสร้างโอกาสใหม่ จนกระทั่งหันมาปลูกเมล่อนและผักสลัด จนประสบความสำเร็จ วันนี้ ฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัด กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปทุมธานี

คุณวีรพงศ์ สุโอสถ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ รุ่นที่ 2 ของ ฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัด เล่าว่า เดิมทีคุณพ่อได้เริ่มจากการทำนา ทำสวนส้ม ตะไคร้ ฝรั่ง จนกระทั่งเรียนจบ หลังจากเรียนจบก็ลองปลูกเมล่อน ซึ่งการที่มาปลูกเมล่อนเป็นเพราะพี่สาวชอบ จึงเริ่มต้นปลูกเมล่อนกลางแจ้ง 3 แปลง แปลงแรก เก็บได้หมด แปลงสอง เก็บได้ครึ่งหนึ่ง แปลงสาม เก็บไม่ได้เลย เลยทำให้รู้ว่าเราปลูกได้ แต่เราไม่มีโรงเรือน เลยสู้แมลงไม่ไหว จึงเริ่มคิดทำโรงเรือนปลูกเมล่อน

การทำโรงเรือนเมล่อนหลังแรกใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 65,000 บาท โดยว่าจ้างให้ช่างรับเหมาเข้ามาก่อสร้างโรงเรือนและให้เขาสอนงานด้วย ตอนนี้ฟาร์มลุงแดงสามารถทำโรงเรือนได้เองและรับจ้างทำโรงเรือนให้แก่ผู้สนใจไปพร้อมกัน ปัจจุบันทางฟาร์มมีโรงเรือนปลูกเมล่อน 10 หลัง ปลูกผักสลัด 2 หลัง ปลูกมะเขือเทศ 1 หลัง และเริ่มปลูกแตงโมเป็นพืชเสริมรายได้ พื้นที่ที่เหลือปลูกต้นมัลเบอร์รี่ (Mulberry) หรือลูกหม่อน ซึ่งเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ หนึ่งในตระกูลเบอร์รีที่นับวันยิ่งได้รับความนิยมในการกินเพื่อสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น

ทางฟาร์มมีพื้นที่ทำกินทั้งหมด 8 ไร่ แบ่งเป็นบ่อน้ำ 4 ไร่ พื้นดินสำหรับเพาะปลูก 4 ไร่ ใช้น้ำจากบ่อตัวเองมา 3 ปีกว่า ไม่เคยใช้น้ำข้างนอกและไม่เคยขาดแคลนน้ำเลยเพราะน้ำฝนมาเพิ่มเติมทุกปี ตัวบ่อมีความลึก 2-3 เมตร กว้าง 10-12 เมตร

ต่อมาทางฟาร์มได้ติดตั้งระบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์เข้ามาช่วย ทำให้ประหยัดต้นทุน ค่าแรง และเวลา โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เข้ามาสนับสนุนระบบควบคุมฟาร์มอัตโนมัติ ใช้ตัวควบคุมการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถควบคุมอุณหภูมิ อากาศ ความชื้นทั้งในอากาศและดิน รวมถึงพ่นน้ำ พ่นหมอก พ่นยา และระบายอากาศได้อย่างอัตโนมัติแล้ว ยังสามารถเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์ไร้สาย เพื่อนำมาเป็นสถิติอ้างอิงสำหรับเพาะปลูกพืชในรุ่นต่อไป

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทั้งการปลูกในโรงเรือนที่เน้นการปลูกเมล่อน แตงโม ผักสลัด มัลเบอร์รี่ และอื่นๆ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยจากสารพิษตามนโยบายอาหารปลอดภัย ในวันนี้ได้มีการถ่ายทอดไปยังผู้สนใจที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ

เนื่องจากเมล่อนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคกันมากในปัจจุบัน เพราะมีรสชาติที่อร่อย มีกลิ่นหอมและรสหวาน ส่วนใหญ่นิยมนำมาบริโภคสด หรือนำมาแปรรูปเป็นของหวาน เครื่องดื่ม ไอศกรีม ฟรุตสลัด ด้วยกระแสความดังของเมล่อน ส่งผลให้เกษตรกรหน้าใหม่สนใจก้าวเข้าสู่การทำฟาร์มเมล่อนเป็นหลัก ทั้งนี้ การปลูกเมล่อนต้องอาศัยการดูแลเป็นอย่างมาก แต่ให้ผลตอบแทนที่ดี คุ้มค่ากับการลงทุน ทุกวันนี้มีคนไทยจำนวนมากสนใจเข้ามาเรียนรู้ในขั้นตอนต่างๆ ของการปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการสร้างตลาดรองรับ กับฟาร์มลุงแดง ซึ่งทางฟาร์มเปิดกว้างให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้อย่างเต็มที่

งาน “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทย ยุค 5G INNOVATION FOR NEW NORMAL” จัดขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยสามารถโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 หรือลงทะเบียนผ่านเฟซบุ๊ก Technologychaoban หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเทคโนโลยีชาวบ้าน ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอพันธุ์ส้มตำ จาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี

……………………………………………………………………………………………………………………………………….