9 เครื่องดื่มสมุนไพรใกล้ตัว ดื่มง่าย สรรพคุณเพียบ

คนโบราณสมัยก่อน ท่านมักจะนำสมุนไพรประเภทต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบสดๆ โดยตรง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ จากสมุนไพรให้ได้มากที่สุด และเครื่องดื่มรูปแบบชาสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ชาขิง ชามะตูม ชาเก๊กฮวย ชารางจืด ชาคำฝอย และชาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก่อนที่จะแปรรูปมาเป็นชาเพื่อสุขภาพต่างๆ นั้น จำเป็นต้องนำเอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาทำความสะอาด แล้วค่อยผ่านกระบวนการอบฆ่าเชื้อโรค จากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องตัด สับ บด และต้มสกัด จนได้ตามรูปแบบที่ต้องการ เช่น แบบผงละเอียด หรือของเหลวข้นๆ แล้วนำมาผสมน้ำตาลก่อนเข้าเครื่องอบแล้วพาสเจอร์ไรซ์ บรรจุซองเพื่อใช้และจำหน่ายต่อไป

เครื่องดื่มสมุนไพรชนิดบรรจุซองพร้อมชง ส่วนมากมักจะมีราคาสูง ค่อนข้างสูงกว่าการซื้อสมุนไพรสดมาต้มกินเอง ซึ่งสมุนไพรชนิดพร้อมชงนั้นย่อมมีความสะดวก และให้คุณค่าทางยาที่คงที่กว่าสมุนไพรสดต้มอย่างแน่นอน

ชาสมุนไพรของไทย ยังมีการนำส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศบ้าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น แต่ปัญหาจากการผลิตสมุนไพรก็คือ ปริมาณวัตถุดิบที่ได้มาแต่ละปีมักมีจำนวนไม่แน่นอน เพราะเกษตรกรส่วนมากมักจะเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่านั่นเอง!

นอกจากนั้นแล้ว ความนิยมในการดื่มชาสมุนไพร ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้รักสุขภาพเท่านั้น จึงส่งผลทำให้ธุรกิจการทำชาสมุนไพรเหล่านี้ขยายตัวได้ช้าลงมาก

การพัฒนาและส่งเสริมให้มีการปลูกพืชสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการประกันราคาผลผลิตให้แก่เกษตรกร เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ พร้อมทั้งพยายามลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าในการดื่มชาสมุนไพร แทนการดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลม และเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์กันมากขึ้น

เครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งที่เป็นวัตถุดิบสดๆ ชนิดบรรจุซองสำเร็จรูป และชนิดบรรจุกระป๋องพร้อมดื่ม

การที่สมุนไพรบางชนิดถูกนำมาดัดแปลงเป็น ชาสมุนไพร (หมายถึง สามารถชงกินกับน้ำร้อนได้คล้ายๆ ชา) ก็เนื่องด้วยสรรพคุณทางยาของสมุนไพรแต่ละชนิดที่นำมาดัดแปลง เพื่อให้เกิดความสะดวก เช่น

1. กระเจี๊ยบ เป็นพืชประเภทล้มลุก ซึ่งกระเจี๊ยบที่ใช้คือ กระเจี๊ยบแดง (ส่วนกระเจี๊ยบขาว หรือกระเจี๊ยบมอญ ส่วนมากใช้ปรุงประกอบอาหารประเภทแกง ผัด หรือต้มจิ้มน้ำพริก เป็นต้น)

กระเจี๊ยบแดง มีสรรพคุณในการช่วยลดไขมันในเส้นเลือด แก้ไอ ขับเสมหะ ป้องกันนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

วิธีการนำไปใช้ ให้ใช้ผงกระเจี๊ยบแดง (ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลแล้ว) ละลายน้ำดื่ม หรือบางทีใช้กรรมวิธีการแปรรูปเป็นน้ำกระเจี๊ยบแดงสำเร็จรูปที่มีรสหวานบรรจุขวด (เช่น กระเจี๊ยบแดงที่ผลิตจากโครงการหลวง หรือจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เป็นต้น)

2. เกสรบัวหลวง มีสรรพคุณในการช่วยบำรุงหัวใจ แก้อาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ใจหวิว อารมณ์เสียบ่อยๆ หงุดหงิดง่าย จิตใจเซื่องซึม หงอยเหงา หายใจอึดอัด บำรุงปอด บำรุงกำลัง แก้ลม แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ แก้ปากเปื่อย ซึ่งคนในสมัยก่อนมีการใช้เกสรบัวหลวงมามวนผสมกับยาเส้น ทำเป็นยาสูบ (บุหรี่ตราบัวหวาน) และในปัจจุบันมีการใช้วิธีตากเกสรบัวให้แห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม

รูปแบบ และขนาดยาที่ใช้

เกสรปรุงเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนทำให้ชื่นใจ เป็นยาสงบประสาท ขับเสมหะ

1. เกสรบัวหลวงสด หรือแห้ง ประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้นาน 10-15 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง

2. เกสรบัวหลวงแห้ง บดเป็นผง 0.5-1 ข้อนชา ชงน้ำร้อนดื่ม หรือใช้ในขนาด 3-5 กรัม

ขิง เป็นพืชประเภทล้มลุกที่มีคุณค่าทางสมุนไพรมากอีกชนิดหนึ่ง เพราะสามารถนำมาทำเป็นยาและอาหารได้ ด้วยสรรพคุณสำคัญที่ช่วยในการขับลม ปัจจุบันได้มีการดัดแปลงเป็น ขิงผง บรรจุซองใช้ชงน้ำร้อนดื่ม (ส่วนมากจะมีน้ำตาลผสมอยู่) ส่วนขิงอ่อนนั้นส่วนมากมักถูกนำไปใช้ในการปรุงประกอบอาหาร ซึ่งได้ทั้งประเภทผัด และประเภทต้ม

ขิง มีสรรพคุณทำให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันโรคหวัด สมุนไพรรสจัดชนิดนี้ถูกใช้ในแพทย์แผนจีนเพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและฟื้นฟูการทำงานของลำไส้ นอกจากนี้ เมื่ออุ่นให้ร้อนจะมีรสชาติที่เผ็ดมากขึ้น ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยป้องกันโรคหวัดและไข้ทับระดูได้อีกด้วย

3. มะตูม จัดเป็นประเภทไม้ยืนต้น ส่วนของผลมีลักษณะเปลือกแข็ง ส่วนมากมักจะใช้กินเป็นอาหารเมื่อผลมะตูมสุกแล้ว สำหรับมะตูมที่ยังมีขนาดอ่อนสามารถนำมาหั่นเป็นแว่นๆ แล้วนำไปตากแห้ง ชงแบบชาดื่มได้ และในปัจจุบันมีการผลิตออกมาแบบผงบรรจุซอง และประเภทน้ำบรรจุขวด (มีน้ำตาลผสม)

มะตูม มีสรรพคุณในการเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องเสีย แก้ร้อนใน ช่วยในการระบายท้อง และผลมะตูมอ่อนยังสามารถนำไปผลิตเป็นของหวานที่เรียกว่า มะตูมเชื่อม (หรือมะตูมแบบเกล็ดแห้ง เป็นการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินได้นานๆ ได้)

4. เก๊กฮวย เป็นดอกไม้ที่ได้จากต้นเก๊กฮวย (ในประเทศจีน) ส่วนมากจะใช้ดอกแห้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม

สรรพคุณ แก้อาการร้อนใน ซึ่งในปัจจุบันมีการแปรูปเป็นเป็นเก๊กฮวยผงบรรจุซอง และเก๊กฮวยน้ำบรรจุขวด (ผสมน้ำตาลสำเร็จรูป) และสามารถนำมาทำเครื่องดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น (ใส่น้ำแข็ง หรือแช่ตู้เย็น)

4. ว่านรางจืด จัดเป็นพืชประเภทล้มลุก เป็นพืชมีสรรพคุณเฉพาะทางยาเท่านั้น ใช้ขจัดพิษในร่างกายจากสารเคมี ถอนพิษ แก้อาการแพ้พิษต่างๆ ขับพิษทางปัสสาวะ ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้พิษจากแอลกอฮอล์ หรืออาการเมาค้าง แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ (สำหรับผู้ที่ได้รับพิษ ซึ่งทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และอยู่ใกล้แหล่งที่มีมลภาวะสูง หรือสูดอากาศเสียเข้าไปเป็นประจำ ควรจะดื่มชารางจืด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยขับพิษออกจากร่างกาย)

6. ว่านหางจระเข้ จัดเป็นพืชล้มลุก (ต้นสีเขียว) ที่สามารถใช้ทำเป็นเครื่องสำอางได้หลายๆ ประเภท เช่น โลชั่น สบู่ แชมพูสระผม เป็นต้น อีกทั้งยังนำมาทำเป็นอาหาร (แบบอาหารหวาน) ได้โดยนำมาดัดแปลงบรรจุใส่ในขวด ทำเป็นน้ำว่านหางจระเข้ ที่ผสมเนื้อว่านหั่นเป็นชิ้นๆ

สรรพคุณของว่านหางจระเข้ ช่วยในการบรรเทาโรคกระเพาะอาหาร โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจอักเสบ โรคปอด เป็นต้น

7. ชาตะไคร้ ทำจากต้นและใบตะไคร้ อบให้แห้งแล้วบด ตะไคร้จะมีกลิ่นหอม ขับลม ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดเกร็งในท้อง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และมีรายงานการทดลองพบว่า ตะไคร้นั้นมีคุณสมบัติต้านมะเร็งได้อีกด้วย

8. ชาใบเตย ทำจากใบเตยหอมอบแห้ง บดเป็นผง มีสีเขียวใบเตย มีกลิ่นหอมชื่นใจ ใบเตยมีคุณสมบัติบำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ชาใบเตยจึงเหมาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และคนธรรมดาทั่วไปก็ดื่มได้ โดยกลิ่นหอมของใบเตยชื่นใจ คลายเครียดได้ดี

9. ดอกคำฝอย จัดเป็นพืชประเภทล้มลุก ส่วนมากจะนำส่วนของดอกมาทำยา โดยการนำดอกมาตากแห้งแล้วบรรจุซอง หรือขวด (โครงการหลวง)

สรรพคุณของดอกคำฝอย สามารถช่วยลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงเลือด บำรุงประสาท เป็นต้น

ตัวอย่างชาสมุนไพรที่ได้กล่าวมานั้นเป็นชาสมุนไพรไทยที่มีขายอยู่มากในท้องตลาด ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถดื่มได้ทุกวัน สมุนไพรบ้านเรายังมีอีกมากที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์แถมยังหาได้ง่ายอีกด้วย และสามารถพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของชาสมุนไพรที่มีคุณภาพต่อไปได้อีก

การดื่มชาสมุนไพรหลังอาหาร หรือดื่มไปพร้อมๆ กับการกินอาหารนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายแล้ว ยังสามารถช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายในหลายๆ ส่วน เช่น ระบบการย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบปัสสาวะ หัวใจทำงานได้ดี และยังเป็นตัวช่วยสะสาง ขับล้าง    ไขมันที่เกาะติดอยู่ตามลำไส้อีกด้วย หรือที่เรียกว่า Detox นั่นเอง

การจิบชาสมุนไพรนั้นดีต่อร่างกายของเราแน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะกลิ่นหอมอ่อนๆ ของใบชา จะช่วยให้เราผ่อนคลายความเครียดและความกังวลได้ และประโยชน์จากการจิบชาสมุนไพรเป็นประจำ จะช่วยรักษาร่างกายให้ชุ่มชื้น ทำให้ผิวพรรณมีน้ำมีนวล แลดูอ่อนเยาว์ และยังช่วยป้องกันไวรัสและแบคทีเรีย นอกจากนี้ ชาสมุนไพรยังเต็มไปด้วยสารแอนติออกซิแดนท์ และฟลาโวนอยด์ ซึ่งช่วยในการปกป้องอาการเจ็บป่วยต่างๆ อีกด้วย

และหากคนไทยเราหันมาดื่มชาสมุนไพรเหล่านี้เพื่อสุขภาพกันมากขึ้น แทนการดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังอื่นๆ ที่มีการโฆษณากันมากมายตามท้องตลาด ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้สมุนไพรพื้นบ้านของไทยกลับมามีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ วันที่ 18-22 สิงหาคมนี้ ติดตาม Healthcare 2021 “วัคซีนประเทศ” บนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี
อ่านสกู้ปเต็มๆที่นี่:

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354